เปลี่ยนการแสดงผล
อย่าให้ชกข้ามรุ่น
18 พฤษภาคม 2563 218 ครั้ง
นักมวยจะแบ่งรุ่นในการจับคู่ชกแข่งขันจากน้ำหนักตัว เพื่อการไม่ให้ได้เปรียบหรือเสียเปรียบกันมากนัก โดยการแข่งขันจะต้องไม่เริ่มขึ้นก่อน 3 ชั่วโมงหลังจากเวลาชั่งน้ำหนัก ตามมาตรฐานสากลจะมีทั้งหมด 16 รุ่นได้แก่ รุ่นมินิฟลายเวท จูเนียร์ฟลายเวท ฟลายเวท จูเนียร์แบนตั้มเวท แบนตั้มเวท จูเนียร์เฟเธอร์เวท เฟเธอร์เวท จูเนียร์ไลท์เวท ไลท์เวท จูเนียร์เวลเตอร์เวท เวลเตอร์เวท จูเนียร์มิดเดิลเวท มิดเดิลเวท ไลท์เฮฟวี่เวท ครุยเซอร์เวท และเฮฟวี่เวท
เห็นมั้ยครับนักมวยยังต้องแบ่งรุ่นละเอียดถึง 16 รุ่น เพื่อให้เกิดการต่อสู้ที่เหมาะสมตามศักยภาพของคู่ชก ขณะเดียวกันการปฏิบัติการฝนหลวงในการช่วยเหลือด้านต่างๆไม่ว่าจะเป็น การช่วยเหลือพื้นที่ภัยแล้ง การช่วยดับไฟป่าและหมอกควัน การเติมน้ำให้เขื่อน และการยับยั้งพายุลูกเห็บ ทั้งผู้ปฏิบัติ และผู้ต้องการความช่วยเหลือต้องเข้าใจในศักยภาพในการทำฝนหลวง การบริหารจัดการจะได้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เช่น การทำฝนหลวงเติมน้ำให้เขื่อน
เขื่อนถูกออกแบบมาเพื่อรองรับน้ำจากการเกิดพายุไม่ให้เกิดอุทกภัยด้านท้ายเขื่อน และเก็บกักน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้ง และต้นฤดูฝน โดยต้นฤดูแล้ง ณ วันที่ 1 พฤศจิกายน ของปี ควรมีน้ำในเขื่อนอย่างน้อย 70-80 % ของความจุเก็บกัก เพื่อเพียงพอต่อการอุปโภค บริโภค การรักษาระบบนิเวศน์ การเพาะปลูกพืชในฤดูแล้ง การอุตสาหกรรม และ เพียงพอต่อการเตรียมการเพาะปลูกในต้นฤดูฝนถัดไป
โครงสร้างของเขื่อนต้องแข็งแรงเพียงพอในการรับปริมาณน้ำจำนวนมากๆ ที่เกิดจากพายุ โดยใช้หลักความน่าจะเป็น รอบการเกิดซ้ำ(return period) มาใช้ในการออกแบบ รอบการเกิดซ้ำมากเท่าใด เขื่อนจะยิ่งมีขนาดใหญ่เท่านั้น เขื่อนใหญ่ๆจะใช้รอบการเกิดซ้ำเป็นร้อยหรือพันปีทีเดียวเลยครับ
หลายคนเริ่มสงสัยรอบการเกิดซ้ำคืออะไร และนำมาใช้อย่างไร?
รอบการเกิดซ้ำ จะเป็นช่วงเวลาที่มีโอกาสเกิดเหตุการณ์นั้นขึ้นอีก เช่นรอบการเกิดซ้ำ 100 ปีของปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนสูงสุด หมายความว่า จะนำค่าปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนสูงสุดในรอบ 100 ปี มาใช้ในการออกแบบโครงสร้างเขื่อน
ลองนึกดูสิครับว่าปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนสูงสุดในรอบ 100 ปี จะมีค่ามากมายขนาดไหน แสดงว่าต้องเป็นปีที่มีพายุพัดเข้ามาแน่นอน ถ้าเปรียบเทียบกับนักมวยก็คงเป็นระดับรุ่นเฮฟวี่เวท(รุ่นใหญ่สุด)เลยใช่มั้ยครับ ขณะที่ปริมาณน้ำที่เกิดจากการทำฝนหลวงไหลเข้าเขื่อนก็คงได้แค่ระดับมินิฟลายเวท(รุ่นจิ๋วสุด)เองครับ
ต้นฤดูแล้งปี 2562/2563 คือ ณ วันที่ 1 พฤศจิกายน 2562 ปริมาณน้ำในเขื่อนทั้งขนาดใหญ่ และขนาดกลางมีปริมาณน้ำค่อนข้างน้อย โดยเฉพาะเขื่อนอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น ถึงขนาดวิกฤต น้ำเหลือน้อยในรอบ 53 ปีตามแหล่งข่าวต่างๆที่พวกเราได้พบเห็น มีปริมาณน้ำในเขื่อนเหลืออยู่เพียง 588 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็น 24% ของความจุเก็บกัก
รัฐบาลได้สั่งการหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้อง เร่งให้การช่วยเหลือ โดยกรมฝนหลวงเป็นหน่วยงานหนึ่งที่ถูกคาดหวัง แต่กรมฝนหลวงก็ทำเต็มศักยภาพของเราโดยปฏิบัติงานกันแบบไม่มีวันหยุดราชการ ไม่มีวันหยุดนักขัตฤกษ์ ซึ่งกรมฝนหลวงได้ดำเนินการเติมน้ำให้กับเขื่อนอุบลรัตน์อย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2562 พยายามที่จะช่วยเติมน้ำให้เขื่อนอุบลรัตน์ให้มากที่สุดเท่าที่จะมีโอกาสในการทำฝนเพื่อให้ต้นฤดูแล้งมีปริมาณน้ำที่เก็บกักในเขื่อนให้มากที่สุด จากหน่วยปฏิบัติการที่จ.อุดรธานีและขอนแก่น มีการขึ้นบินปฏิบัติการรวมกันทั้งหมด 98 วัน จากจำนวนเที่ยวบิน 175 เที่ยวบิน และมีปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนประมาณ 170 ล้านลูกบาศก์เมตร
ในปี 2563 ดำเนินการมาตั้งแต่วันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2563 จากทั้งสองหน่วยปฏิบัติการได้ขึ้นบินปฏิบัติการไปแล้วรวมกัน 57 วันจากจำนวนเที่ยวบิน 250 เที่ยวบิน และมีปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อน 21.63 ล้านลูกบาศก์เมตร ด้วยฝีมือของทีมนักล่าเมฆภาคอีสานได้แก่ น้องหนูหนู น้องขวัญขวัญ น้องเบญจี้ เดอะโจ เดอะปุ้ย และเดอะโอ๋
จะเห็นว่าการทำฝนหลวงเป็นการเลียนแบบธรรมชาติเพื่อให้เกิดฝน แต่สามารถสร้างเมฆได้แค่เพียงกลุ่มเมฆ หรือก้อนเมฆเท่านั้น ไม่สามารถเลียนแบบให้เกิดเมฆแบบพายุได้ ที่เกิดครอบคลุมพื้นที่กว้างใหญ่ และมีปริมาณฝนที่มากมาย ฝนหลวงจึงเป็นเพียงส่วนหนึ่งในการช่วยบรรเทา หรือคลี่คลายความเดือนร้อนของพี่น้องประชาชนที่ขาดแคลนน้ำ ต่างกับพายุที่นำฝนมาปริมาณมากมาย แต่ก็นำความเดือดร้อนมาสู่พี่น้องประชาชนได้ด้วยเหมือนกัน...

ภาพและวีดีโอ