เปลี่ยนการแสดงผล
จำนวนผู้เยี่ยมชมเว็บไซด์
วันนี้
9
เดือนนี้
212
เมื่อวาน
31
เดือนที่แล้ว
251
พิธีเปิดโครงการปลูกป่าและไม้ยืนต้นเฉลิมพระเกียรติฯ
23 พฤษภาคม 2562 1,823 ครั้ง
องคมนตรี สืบสานพระราชปณิธานพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ดำเนินงานโครงการปลูกป่า สืบสาน รักษา ต่อยอด ศาสตร์พระราชาและพระราชินี หวังผล 799,910 ต้น เฉลิมพระเกียรติเนื่องในโอกาสมหามงคลพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562 เนื่องในโอกาสมหามงคลพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วมกับหน่วยงานร่วมบูรณาการ 24 หน่วยงาน จัดทำโครงการปลูกป่าและไม้ยืนต้นสร้างความชื้นสัมพัทธ์ในอากาศเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบัติการฝนหลวง สืบสานศาสตร์พระราชาและพระราชินีเฉลิมพระเกียรติเนื่องในโอกาสมหามงคลพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จ- พระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ทรงมีพระราชประสงค์และพระราชปณิธานที่จะสืบสาน รักษา และต่อยอด เกี่ยวกับศาสตร์พระราชาและพระราชินี ของพระบาทสมเด็จ-พระชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่ทรงมีพระราชดำริในการรักษา ฟื้นฟูป่าไม้ ป่าต้นน้ำ รักษาทรัพยากรธรรมชาติ สร้างความสมบูรณ์ให้แก่ทรัพยากรป่าไม้ อันเป็นปัจจัยสำคัญต่อการดำรงชีวิตอยู่ของคนและสัตว์ รวมถึงประโยชน์ต่อพื้นที่ชุมชนอย่างยั่งยืน วันที่ 23 พฤษภาคม 2562 เวลา 09.00 น. พลอากาศเอก ชลิต พุกผาสุข องคมนตรี ประธานกรรมการที่ปรึกษาผู้ทรงคุณวุฒิฝนหลวง เป็นประธานในพิธีเปิด โครงการปลูกป่าและไม้ยืนต้นสร้างความชื้นสัมพัทธ์ในอากาศเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบัติการฝนหลวง สืบสานศาสตร์พระราชาและพระราชินี เฉลิมพระเกียรติเนื่องในโอกาสมหามงคลพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ณ อ่างเก็บน้ำนฤบดินทรจินดา ตำบลแก่งดินสอ อำเภอนาดี จังหวัดปราจีนบุรี โดยนายมีศักดิ์ ภักดีคง รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า สืบเนื่องจากปี 2561 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงกลาโหม กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงการคลัง สำนักงานพระพุทธศาสนา มหาวิทยาลัยแม่โจ้ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ทั้งหมด 11 หน่วยงาน 3 สถาบัน ได้ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการบริหารจัดการทรัพยากรเพื่อการผลิตอย่างยั่งยืน เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2561 โดยมีเป้าหมายเพื่อร่วมกันบริหารจัดการทรัพยากรอันเป็นสมบัติของชาติเพื่อการผลิตอย่างยั่งยืน ดำเนินการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องในการจัดการทรัพยากรให้เกิดประโยชน์ต่อส่วนรวม หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และประเทศชาติ ซึ่งมุ่งหวังให้คนไทยมีคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดี ตลอดจนเป็นการดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาลในการพัฒนาสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนของประเทศ โดยในปี 2561 ที่ผ่านมา กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มอบหมายให้กรมฝนหลวงและการบินเกษตร จัดทำโครงการปลูกป่าและไม้ยืนต้นสร้างความชื้นสัมพัทธ์ในอากาศเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบัติการฝนหลวง สืบสาน “ศาสตร์พระราชา” ของพระบาทสมเด็จพระชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสวันคล้ายวันพระราชสมภพ เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2561 ซึ่งกิจกรรมปลูกต้นไม้ดังกล่าว เป็นประโยชน์ต่อการปฏิบัติการฝนหลวงในการเพิ่มต้นทุนความชื้นสัมพัทธ์ตามธรรมชาติทำให้กลุ่มเมฆมีการก่อตัวและพัฒนาเป็นกลุ่มฝนตกลงสู่ในพื้นที่ลุ่มรับน้ำตามธรรมชาติและพื้นที่การเกษตร สำหรับในปี 2562 เนื่องในโอกาสมหามงคลพระราชพิธีบรมราชาภิเษก กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และหน่วยงานร่วมบูรณาการ ได้แก่ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงกลาโหม กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงการคลัง สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบังมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด บริษัท ปูนซีเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย จึงได้ร่วมกันจัดทำ“โครงการปลูกป่าและไม้ยืนต้น สร้างความชื้นสัมพัทธ์ในอากาศเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบัติการฝนหลวง สืบสานศาสตร์พระราชาและพระราชินี เฉลิมพระเกียรติเนื่องในโอกาสมหามงคลพระราชพิธีบรมราชาภิเษก” เพื่อเป็นการสืบสานศาสตร์พระราชาและพระราชินี ของพระบาทสมเด็จพระชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถ-บพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาส มหามงคลพระราชพิธีบรมราชาภิเษก โดยการจัดกิจกรรมดังกล่าว เป็นการสร้างความชื้นสัมพัทธ์ในอากาศให้ มากขึ้นในการเพิ่มโอกาสการเกิดฝน และการปฏิบัติการฝนหลวงประสบผลสัมฤทธิ์เพิ่มขึ้นโดยการฟื้นฟูสภาพป่าเสื่อมโทรมให้สามารถกลับมาอยู่ในสภาพสมบูรณ์ และสร้างผืนป่าให้เกิดความชุ่มชื้น เป็นการเพิ่มป่าต้นน้ำ พื้นที่ป่าชุมชน การปลูกป่าไม้ ป่าเศรษฐกิจ ป่าชุมชน และไม้ยืนต้นบริเวณหัวไร่ปลายนา เพื่อเป็นแหล่งอาหารของสัตว์ป่าในการดำรงชีวิต เป็นแหล่งอาหารและการใช้ประโยชน์สำหรับชุมชนต่อไป ด้านนายสุรสีห์ กิตติมณฑล อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับการดำเนินงานโครงการปลูกป่าฯ ในปี 2562 แบ่งออกเป็น 3 กิจกรรมหลัก ได้แก่ 1. กิจกรรมพิธีเปิดโครงการฯ ในวันพฤหัสบดีที่ 23 พฤษภาคม 2562 ซึ่งมีกิจกรรมการปลูกป่าและไม้ยืนต้นพร้อมทั้งปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำ ณ อ่างเก็บน้ำนฤบดินทรจินดา ต.แก่งดินสอ อ.นาดี จ.ปราจีนบุรี โดยได้รับเกียรติจาก พลอากาศเอก ชลิต พุกผาสุข องคมนตรี ในฐานะประธานกรรมการที่ปรึกษาผู้ทรงคุณวุฒิฝนหลวง เป็นประธานในพิธีเปิดและร่วมปลูกต้นไม้ พร้อมทั้งร่วมปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำ 2. กิจกรรมการปลูกป่าและไม้ยืนต้น เป็นกิจกรรมการดำเนินการปลูกป่า ป่าไม้ ป่าเศรษฐกิจ ป่าชุมชน และการปลูกไม้โตเร็วตามหัวไร่ปลายนา ร่วมกันระหว่างภาครัฐ เอกชน ส่วนราชการ ประชาชนทั่วไป โดยเลือกพื้นที่ที่เหมาะสม และได้รับการสนับสนุนพันธุ์ไม้ต่างๆ จากหน่วยงานผู้เข้าร่วมโครงการฯ อาทิ มะค่า ยางนา ประดู่ สัก หวาย ขนุน มะม่วง มะขามป้อม มะค่าโมง เป็นต้น โดยในปี 2562 ตั้งเป้าหมายจำนวนต้นไม้ที่จะปลูก จำนวน 799,910 ต้น จากความร่วมมือกับหน่วยงานร่วมบูรณาการทั้งหมด 24 หน่วยงาน สำหรับกรมฝนหลวงและการบินเกษตร จะดำเนินการในช่วงเดือนพฤษภาคม – กันยายน 2562 ในพื้นที่รับผิดชอบของศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวง ทั้ง 5 ภูมิภาค ได้แก่ ภาคเหนือ บริเวณ อ.ฮอด อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ ภาคกลาง บริเวณ อ.หนองบัว อ.ตาคลี จ.นครสวรรค์ อ.ปากท่อ จ.ราชบุรี อ.มวกเหล็ก จ.สระบุรี ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ บริเวณ อ.สังขะ จ.สุรินทร์ อ.เลิงนกทา จ.ยโสธร อ.ห้วยผึ้ง จ.กาฬสินธุ์ อ.พิมาย จ.นครราชสีมา ภาคตะวันออก บริเวณ อ.บ่อทอง จ.ชลบุรี และภาคใต้ บริเวณ อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี และ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ 3. กิจกรรมการโปรยเมล็ดพันธุ์พืชทางอากาศ เป็นกิจกรรมโดยความร่วมมือทั้งภาครัฐ เอกชน รวมถึงภาคประชาชนทั่วไป ซึ่งกรมฝนหลวงและการบินเกษตร เป็นเจ้าภาพในการดำเนินการควบคู่ไปกับการปฏิบัติการฝนหลวงในแต่ละวัน โดยเลือกพื้นที่ที่เหมาะสมในการกำหนดการเตรียมเมล็ดพันธุ์พืชเพื่อโปรยทางอากาศ แบ่งการดำเนินการเป็น 3 ระยะ คือ 1) การจัดหาเมล็ดพันธุ์พืชและเตรียมอุปกรณ์ 2) การปฏิบัติการโปรยเมล็ดพันธุ์พืชทางอากาศ 5 ภูมิภาค ภายหลังเสร็จสิ้นจากการปฏิบัติการฝนหลวงประจำวัน โดยในปี 2562 จะใช้เมล็ดพันธุ์ 11 ชนิด จำนวน 1,080 กิโลกรัม ประกอบด้วย สัก (600 กก.) สมอไทย (80 กก.) สาธร (2 กก.) ไผ่ป่า (2 กก.) ประดู่ป่า (150 กก.) สมอพิเภก (150 กก.) สีเสียดแก่น (5 กก.) มะขามป้อม (1 กก.) มะค่าแต้ (5 กก.) มะค่าโมง (80 กก.) ไม้แดง (5 กก.) พื้นที่ดำเนินการบริเวณ อุทยานแห่งชาติศรีลานนา จ.เชียงใหม่ อุทยานแห่งชาติลำคลองงู จ.กาญจนบุรี อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ จ.นครราชสีมา อุทยานแห่งชาติตาพระยา จ.สระแก้ว และอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี และ 3) การติดตามและประเมินผลและติดตามโครงการโปรยเมล็ดพันธุ์พืช โดยรวบรวมข้อมูล ชนิด จำนวน พื้นที่บริเวณโปรยเมล็ดพันธุ์พืช ช่วงเวลาการเจริญเติบโตเมล็ดพันธุ์พืช แนวระยะเส้นทางการโปรย เมล็ดพันธุ์พืช มาทำการประเมินผล รวมถึงการติดตามผลการปฏิบัติการด้วย โอกาสนี้ พลอากาศเอก ชลิต พุกผาสุข องคมนตรี และผู้บริหารร่วมกันปลูกต้นรวงผึ้ง จำนวน 33 ต้น และประชาชน เกษตรกร อาสาสมัครฝนหลวงร่วมกันปลูกต้นราชพฤกษ์ จำนวนกว่า 200 ต้น ทั้งนี้ ยังได้ร่วมกันปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำ จำนวน 1,310,750 ตัว และพ่อแม่พันธุ์สัตว์น้ำจำนวน 400 กิโลกรัม ประกอบด้วย กุ้งก้ามกราม 1,125,000 ตัว ปลาตะเพียน 100,000 ตัว ปลานวลจันทร์ 60,000 ตัว ปลาสวาย 25,000 ตัว และปลาบึก 750 ตัว อย่างไรก็ตาม การดำเนินโครงการปลูกป่าและไม้ยืนต้นฯ คาดว่าจะสามารถช่วยสร้างความชื้นสัมพัทธ์ในอากาศ เพื่อเพิ่มความชุ่มชื้น พื้นที่ป่าต้นน้ำ แหล่งอาหารสัตว์ป่าในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าและพื้นที่ผืนป่าทั่วประเทศอย่างยั่งยืน ช่วยสร้างความสมบูรณ์ในพื้นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่า ตลอดจนส่งเสริมการมีส่วนร่วมและความสามัคคีของทุกภาคส่วนตามนโยบายไทยนิยม ยั่งยืน ทั้งนี้ จึงขอเชิญชวนพี่น้องประชาชนร่วมกิจกรรมโครงการปลูกป่าและไม้ยืนต้นฯ กับหน่วยงานร่วมบูรณาการในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ เพื่อร่วมกันสร้างความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรป่าไม้ของประเทศ ตามแนวทางศาสตร์ของพระราชาและพระราชินีสืบต่อไป
ภาพและวีดีโอ