เปลี่ยนการแสดงผล
จำนวนผู้เยี่ยมชมเว็บไซด์
วันนี้
190924
เดือนนี้
5080707
เมื่อวาน
262138
เดือนที่แล้ว
6919354
ฝนหลวง
หอเฉลิมพระเกียรติพระบิดาแห่งฝนหลวง
หอเฉลิมพระเกียรติพระบิดาแห่งฝนหลวง

"ฝนหลวง" โครงการพระราชดำริที่แสดงถึงพระอัจฉริยภาพของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร อย่างแท้จริง โดยเฉพาะสายฝนจากบนฟากฟ้า ที่จะตกลงมาก็ต่อเมื่อถึงฤดูกาล แต่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้ทรงค้นคว้าวิจัยร่วมกับคณะ จนสามารถที่จะสั่งฟ้าให้โปรยฝนลงสู่ผืนแผ่นดินไทยได้ และกลายเป็นที่มาของฝนหลวง สายฝนแห่งน้ำพระราชหฤทัยที่พระองค์ทรงห่วงใยความเป็นอยู่ของราษฎร อยากให้พ้นจากภัยแล้งและสามารถดำรงชีพได้อย่างมีความสุข เพื่อให้ปวงชนชาวไทยรู้จักกับฝนหลวงมากยิ่งขึ้น จึงอยากเชิญชวนให้ไปเที่ยวชมหอเฉลิมพระเกียรติพระบิดาแห่งฝนหลวง ณ ศูนย์ฝนหลวงหัวหิน ภายในท่าอากาศยานหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์

หอเฉลิมพระเกียรติพระบิดาแห่งฝนหลวงตั้งอยู่ที่ศูนย์ฝนหลวงหัวหิน ภายในท่าอากาศยานหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เป็นอาคารจัดแสดงเรื่องราวความเป็นมาของฝนหลวง ขั้นตอนการทำฝนหลวง รวมทั้งห้องทรงงานของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร

ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร กล่าวว่า เมื่อปี พ.ศ. 2545 รัฐบาลมีมติคณะรัฐมนตรีให้เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในฐานะเป็นพระบิดาแห่งฝนหลวง และมีมติให้ทุกวันที่ 14 พฤศจิกายนของทุกปีเป็น "วันพระบิดาแห่งฝนหลวง" คณะที่ปรึกษาผู้ทรงคุณวุฒิฝนหลวงและปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในขณะนั้น (นายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา) เห็นพ้องและมีมติให้ศูนย์ฝนหลวงหัวหินเป็นศูนย์เฉลิมพระเกียรติและเป็นศูนย์ต้นแบบ

โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ทำการพัฒนาปรับปรุงอาคารศาลาที่ประทับ ซึ่งเป็นอาคารท่าอากาศยานเดิมที่กรมการขนส่งทางอากาศมอบให้เป็นอาคารที่ทำการทั้งหลัง ประกอบด้วยห้องทรงงานและที่ทำการของศูนย์ฝนหลวงทั้งระบบ ประกอบกับมีเอกชนบริจาคคอมพิวเตอร์พร้อมอุปกรณ์ครบชุด ทำให้สามารถพัฒนายกระดับเครือข่ายคอมพิวเตอร์และระบบเทคโนโลยีสารสนเทศให้มีศักยภาพและประสิทธิภาพยิ่งขึ้น สามารถเชื่อมโยงกับเครือข่ายของพระราชวังไกลกังวล ถวายรายงานต่อพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชได้โดยตรง ซึ่ง ฯพณฯ องคมนตรีอำพล เสนาณรงค์ ได้นำคณะเข้าเฝ้า ณ ตำหนักเปี่ยมสุข พระราชวังไกลกังวล ทูลเกล้าฯ ถวายกุญแจห้องทรงงาน ณ ศูนย์ฝนหลวงหัวหิน เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2545

ในระยะเริ่มแรกของโครงการฝนหลวง พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ใช้สนามบินบ่อฝ้าย อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เป็นฐานปฏิบัติการหลักในการวิจัยค้นคว้าทดลอง เพื่อพัฒนาขั้นตอนกรรมวิธีและเทคนิคในการปฏิบัติการฝนหลวงมาตั้งแต่ พ.ศ. 2512 เป็นต้นมา และเสด็จพระราชดำเนินมาทรงประกอบพระราชกรณียกิจดังกล่าวด้วยพระองค์เอง ทั้งระหว่างที่ทรงแปรพระราชฐานมาประทับ ณ พระราชวังไกลกังวล หรือทรงบัญชาการมาจากพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน กรมการบินพาณิชย์ได้จัดอาคารท่าอากาศยานในขณะนั้นให้เป็นสถานที่ทรงงาน จึงเรียกกันว่า "ศาลาที่ประทับ" ตั้งแต่นั้นมา

เมื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้คณะปฏิบัติการฝนหลวงมาปฏิบัติการในพื้นที่นี้ ทั้งปฏิบัติการฝนหลวงของกระทรวงเกษตรฯ ตามปกติ และปฏิบัติการฝนหลวงพิเศษเคลื่อนที่เร็วติดตามพระองค์ เพื่อทรงบรรยายและสาธิตการทำฝนหลวงแก่นักเรียนไกลกังวลในรายการศึกษาทัศน์ของมูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2544 และยังได้รับการบำรุงรักษาให้คงสภาพพร้อมที่จะใช้เป็นศาลาที่ประทับได้ทุกขณะตลอดมาจนถึงปัจจุบัน จึงนับได้ว่าสถานที่นี้มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ของโครงการฝนหลวง

ในห้องทรงงาน ที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงคิดค้นปรากฏเป็นแผนภาพประมวลขั้นตอนกรรมวิธีการทำฝนหลวง 6 ขั้นตอน ภายในยังมีภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ที่พระองค์ทรงฉายขณะพบมวลเมฆจับตัวกันจนเกิดฝนที่ทะเลหัวหิน วังไกลกังวล พระราชทานให้กับศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวง

นอกจากตำราฝนหลวงพระราชทาน และภาพถ่ายฝีพระหัตถ์จากวังไกลกังวลแล้ว ในห้องทรงงานยังมีดินสอ เข็มทิศ สารฝนหลวง ที่เป็นสูตรทรงคิดค้น และมีแผนที่ประเทศไทยขนาด 1 ต่อ 250,000 อยู่ด้านหลังของโต๊ะทรงงานในห้องทรงงานฝนหลวง

สิ่งสำคัญประการหนึ่งที่ต้องกล่าวถึง นั่นคือเครื่องบินที่เกษตรกรชาวไร่อ้อย เขต 7 ได้รวบรวมเงินบริจาคซื้อถวายเพื่อเป็นเครื่องบินที่ใช้ปฏิบัติการฝนหลวง และยังเป็นเครื่องบินที่พระองค์ท่านทรงเจิมด้วยพระองค์เองที่จังหวัดกาญจนบุรี ตั้งตระหง่านเป็นสัญลักษณ์อันสง่างามอยู่หน้าหอเฉลิมพระเกียรติพระบิดาแห่งฝนหลวง