เปลี่ยนการแสดงผล
#ฝนหลวงในแดนตะวันออกกลาง
5 มิถุนายน 2563 849 ครั้ง

#ฝนหลวงในแดนตะวันออกกลาง
  ภูมิภาคตะวันออกกลางประกอบด้วยประเทศต่างๆ ได้เเก่ บาห์เรน อิหร่าน ตุรกี อีรัก อิสราเอล จอร์เเดน คูเวต เลบานอน โอมาน การตาร์ ซาอุดีอาระเบีย ซีเรีย สหรัฐอาหรับอิมิเรตส์ เยเมน เเละดินเเดนปาเลสไตน์ (เวสต์เเบงก์เเละฉนวนกาซา) ภูมิภาคนี้อุดมไปด้วยพลังงานน้ำมัน และก๊าซธรรมชาติ โดยน้ำมันสำรองของโลกอยู่ในตะวันออกกลางเกือบ 50 % คิดเป็นปริมาณ 800 กว่าพันล้านบาร์เรล และ ปริมาณก๊าซธรรมชาติสำรองของโลกอยู่ในภูมิภาคนี้เช่นเดียวกันมากถึง 46% คิดเป็นปริมาณ 80 ล้านล้านลูกบาศก์เมตร ผลิตน้ำมันดิบได้วันละประมาณ 3.16 ล้านบาร์เรล ทำให้ประเทศเหล่านี้ส่วนใหญ่มีฐานะทางเศรษฐกิจดี ยกเว้น จอร์เเดน เลบานอน และซีเรีย เนื่องจากเป็นประเทศที่ไม่มีพลังงานน้ำมัน ถึงแม้ประเทศในตะวันออกกลางจะอุดมไปด้วยแหล่งพลังงานและมีเศรษฐกิจที่ดี แต่สภาพภูมิประเทศส่วนใหญ่แห้งแล้งเป็นลักษณะทะเลทราย ปริมาณฝนแต่ละปีเฉลี่ยไม่เกิน 500 มิลลิเมตร แหล่งน้ำก็เป็นแหล่งน้ำขนาดเล็กๆ ที่เรียกว่าโอเอซิส และบางประเทศมีการก่อสร้างเขื่อนเพื่อเก็บกักน้ำไว้ใช้เพื่อการเกษตร และอุปโภค บริโภค เช่น ประเทศจอร์แดน แต่ปริมาณน้ำก็ยังไม่เพียงพอ ระหว่างปี 2550 - 2551 รัฐสุลต่านโอมาน และราชอาณาจักรฮัชไมต์จอร์แดน ได้ขอความร่วมมือผ่านรัฐบาลไทยเพื่อขอพระราชทานความช่วยเหลือในการทำฝนหลวง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทรงโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ใช้เทคโนโลยีฝนหลวง และสิทธิบัตรฝนหลวงแก่ทั้งสองประเทศในปี 2552 ปี 2554 รัฐบาลไทยได้ส่งผู้เชี่ยวชาญด้านฝนหลวงเดินทางไปจอร์แดนเพื่อสำรวจพื้นที่และพิจารณาความเป็นไปได้ของการทำฝนหลวงในจอร์แดน ซึ่งได้พิจารณาเลือกพื้นที่ Jordan Valley ซึ่งเป็นพื้นที่ลุ่มน้ำของเขื่อน King Talal และเป็นแหล่งผลิตทางการเกษตรที่สำคัญของจอร์แดน เป็นพื้นที่ทดลองทำฝนหลวงเชิงวิจัย ปี2557 และ 2558 ได้มีการประชุมร่วมกันระหว่างไทยและจอร์แดน ในการยกร่างบันทึกความเข้าใจฯ(MOU) และกำหนดแผนงานโครงการภายใต้ MOUนี้ จนกระทั่งเมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2559 ได้มีการลงนามบันทึกความเข้าใจฯ(MOU) ณ กระทรวงคมนาคมจอร์แดน ระหว่างรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ของไทย และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรของจอร์แดน โดยมีระยะเวลาความร่วมมือจำนวน 3 ปี
  ทั้งนี้ก่อนที่จะมีการลงนามบันทึกความเข้าใจฯ ได้มีการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการให้กับเจ้าหน้าที่กรมอุตุนิยมวิทยา และกองทัพอากาศของจอร์แดนจำนวน 2 ครั้งในปี 2557 และ2558 พร้อมทั้งฝ่ายไทยได้มีการสนับสนุนวัสดุอุปกรณ์สำหรับการสาธิตปฏิบัติการฝนหลวง จำนวน 4 รายการ ได้แก่ เครื่องบดสารเคมี 2 เครื่องพร้อมเครื่องยนต์ต้นกำลัง ถุงพลาสติกสำหรับใส่สารฝนหลวง 100 กก. พลั่ว 4 อัน และสายพานร่องบี 4 เส้น โดยมีเงื่อนไข ทางฝ่ายจอร์แดนต้องประยุกต์เครื่องบินของกองทัพอากาศจอร์แดนเพื่อใช้ในการปฏิบัติสาธิต การดำเนินการภายใต้โครงการความร่วมมือในระยะ 3 ปี ฝ่ายไทยโดยกรมฝนหลวงฯได้จัดฝึกอบรมในประเทศไทยให้กับเจ้าหน้าที่กรมอุตุนิยมวิยา และกองทัพอากาศจำนวน 3 ครั้ง และส่งผู้เชี่ยวชาญจากกรมฝนหลวงได้แก่ นายวัฒนา สุกาญจนาเศรษฐ์ นายภักดี จันทร์เกษ นายฉันติ เดชโยธิน นายฐิติกร จรรยาธรรม นายแทนไทร์ พลหาญ นายปริญญา อินทรเจริญ ที่สับเปลี่ยนกันไปฝึกอบรมให้กับเจ้าหน้าที่ของกรมอุตุนิยมวิทยาจอร์แดน ณ ประเทศจอร์แดนในลักษณะ On the Job Training จำนวน 3 ครั้ง โดยมี น.ส.ศุภลักษณ์ ดาโสม เป็นผู้ประสานโครงการ ส่งผลให้ฝ่ายจอร์แดนได้ทำการทดองประยุกต์ใช้เทคโนโลยีการทำฝนตามตำราฝนหลวงพระราชทานในจอร์แดน จำนวน 25 ครั้งและมีการศึกษาวิจัยผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม พบว่าการทำฝนมีการเพิ่มปริมาณน้ำเพื่อการเกษตร และน้ำในเขื่อน King Talal หลังสิ้นสุดโครงการความร่วมมือตามบันทึกความเข้าใจฯได้มีการประชุมเพื่อสรุปผลการดำเนินการ พบว่าการดำเนินการทั้งฝ่ายไทยและจอร์แดนได้ดำเนินการเป็นไปตามแผนที่กำหนดไว้ แต่ฝ่ายจอร์แดนขาดแคลนงบประมาณในการดำเนินการจัดซื้ออากาศยานเพื่อนำมาใช้ในการปฏิบัติการฝนหลวงโดยตรงต่อไป และทางฝ่ายไทยก็ไม่สามารถสนับสนุนความต้องการดังกล่าวให้ได้ จึงไม่ได้มีการขยายโครงการความร่วมมือนี้ต่อไปอีก
  อย่างไรก็ตามทางกรมอุตุนิยมวิทยาจอร์แดนยังคงแสดงเจตนาที่จะนำองค์ความรู้ที่ได้รับจากการอบรม และร่วมปฏิบัติการทดลองฝนหลวงในจอร์แดน ไปประยุกต์ใช้ในการปฏิบัติการฝนหลวงต่อไปในอนาคต และพร้อมที่จะร่วมมือกับกรมฝนหลวงฯ ในการถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีฝนหลวงให้แก่ประเทศในภูมิภาคตะวันออกกลางที่มีความสนใจอย่างเต็มที่ ด้วยพระอัจฉริยภาพและพระเมตตาของพระราชาไทย พระบารมีจึงแผ่ไพศาลไปไกลถึงต่างแดน ทรงโปรดเกล้าฯ พระราชทานให้นำวิชาการ เทคโนโลยีฝนหลวงของไทยไปเผยแพร่ให้ผู้รับสามารถปฏิบัติได้ด้วยตนเอง
#โครงการของพระราชาสอนไม่ให้ยื่นปลา แต่ให้ยื่นเบ็ด
#SaveThailand
#SaveRainmakingTeam
#Saveบุคลากรทางการแพทย์
#แล้งนี้ต้องรอด
#โควิด19พวกเราต้องรอด

ภาพและวีดีโอ