เปลี่ยนการแสดงผล
#ฝนหลวงช่วยซีลอนขาดน้ำผลิตกระแสไฟฟ้า
8 มิถุนายน 2563 312 ครั้ง

#ฝนหลวงช่วยซีลอนขาดน้ำผลิตกระแสไฟฟ้า
  ซีลอนเป็นชื่อเรียกประเทศศรีลังกาสมัยเป็นอาณานิคม แต่พวกเรามักจะนึกถึงชา เพราะประเทศศรีลังกามีชื่อเสียงด้านชามาช้านานในนาม"ชาซีลอน" แต่รสชาติก็ดีสมคำเล่าลือ และมีด้วยกันหลายรูปแบบ หลายชนิด แล้วแต่รสนิยมเรียกว่าเวลาเข้าไปร้านชา เลือกแทบไม่ถูกเลยครับจะซื้อชนิดไหนดี การที่ชาของศรีลังกามีคุณภาพดีอาจเป็นเพราะสภาพภูมิประเทศ และภูมิอากาศเหมาะกับการเพาะปลูกชา ขอยืนยันอีกครั้งสำหรับผู้ชื่นชอบดื่มชา ของเขาดีจริงๆครับ ขณะกำลังเขียนเรื่องที่จะเล่าให้เพื่อนๆฟังไปจิบชาซีลอนอุ่นๆหอมๆไปรู้สึกฟินอย่างบอกไม่ถูกครับ
  ตอนนี้เรามาทำความรู้จักกับประเทศศรีลังกากันมากขึ้นอีกสักหน่อยนะครับ ศรีลังกาเป็นประเทศที่เป็นเกาะ อยู่ในมหาสมุทรอินเดีย ทิศตะวันตกเฉียงเหนือติดต่อกับอินเดีย และ ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ ติดต่อกับ มัลดีฟส์ สภาพภูมิประเทศมีความแตกต่างกันมาก กล่าวคือ บริเวณตอนกลางค่อนลงไปทางใต้จะเป็นเทือกเขาสูงสลับที่ราบสูง ในเขตนี้จะปกคลุมด้วยป่าฝนชื้นหนาทึบ ในขณะที่ภาคกลางตอนบนและภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นที่ดอนและแห้งแล้ง ภาคเหนือ เป็นที่ราบกว้างใหญ่ ส่วนรอบเกาะเป็นที่ราบชายฝั่ง การคมนาคมสัญจรส่วนใหญ่ใช้รถยนต์แต่ถนนจะค่อนข้างแคบและคดเคี้ยวคล้ายทางพื้นที่ภาคเหนือของบ้านเรา ประกอบกับสภาพผิวจราจรไม่ค่อยดีมากนักในหลายพื้นที่ การสัญจรไปมาจึงใช้ระยะเวลาค่อนข้างมาก ถ้าคนที่กระดูกไม่ค่อยดี อาจมีเจ็บหลังได้เลยทีเดียวเลยครับ ส่วนสภาพอากาศของศรีลังกา เขตพื้นที่ราบลุ่มจะอยู่ที่ 27 องศาเซลเซียส ในพื้นที่ราบสูงอากาศจะเย็น ช่วงเดือนพฤษภาคม-กรกฎาคม จะมีลมมรสุมทางตะวันออกเฉียงใต้ที่พัดพาฝนมาด้วย นอกจากนี้จะมีฝนตกชุกในช่วงมรสุม ซึ่งมี 2 ช่วง คือมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือในเดือนตุลาคม-มกราคม ทำให้เกิดฝนตกในภาคตะวันตกภาคใต้ และภาคกลางของประเทศ และมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ในเดือนพฤษภาคม-สิงหาคม ปริมาณฝนเฉลี่ยต่อปีตั้งแต่ 1,000 - 2,500 มม. ขึ้นกับสภาพพื้นที่ ถึงแม้ศรีลังกาจะมีปริมาณฝนมากถึง 2,500 มม. ในบางพื้นที่ แต่ศรีลังกาก็ยังประสบปัญหาภัยแล้งอยู่บ่อยครั้ง และที่สำคัญพลังงานไฟฟ้าที่ใช้ภายในประเทศมากกว่า 80 % มาจากพลังน้ำ ปี2523 รัฐบาลศรีลังกาได้มีหนังสือถึงรัฐบาลไทย เชิญคณะผู้เชี่ยวชาญการทำฝนของไทยเดินทางไปให้คำแนะนำและสาธิตการปฏิบัติการทำฝนให้แก่เขื่อน Castlereagh และ Mousekelle ที่ประสบปัญหาฝนทิ้งช่วง ปริมาณน้ำในเขื่อนมีน้อย โดยรัฐบาลศรีลังกาเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งสิ้น รัฐบาลไทยโดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ส่งผู้เชี่ยวชาญไปให้คำแนะนำและสาธิตการทำฝนเป็น 2 คณะ คณะแรก นำโดยอาจารย์เมธา รัชตะปีติ ระหว่างวันที่ 18-25 มิถุนายน 2523 ปฏิบัติการสาธิตจำนวน 2 ครั้ง คณะที่สอง นำโดย ม.ร.ว. เทพฤทธิ์ เทวกุล และ นายวัตนา สุกาญจนเศรษฐ์ ระหว่างวันที่ 14- 23 กรกฎาคม 2523 ปฏิบัติการสาธิตจำนวน 4 ครั้ง การปฏิบัติการของทั้งสองคณะ ประสบผลสำเร็จอย่างดี มีปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างเพิ่มขึ้นเฉลี่ยวันละ 17 % ได้สร้างความพึงพอใจให้แก่รัฐบาลและประชาชนเป็นอย่างมาก ดังปรากฏบนหน้าหนังสือพิมพ์ของศรีลังกาแทบทุกฉบับ หลังจากนั้นต่อมาเจ้าหน้าที่ทำฝนของศรีลังกา เดินทางมาขอรับการอบรมการทำฝนหลวง โดยได้มีการฝึกปฏิบัติการทำฝน ที่จ.ตรัง ซึ่งมีลักษณะสภาพภูมิประเทศและภูมิอากาศที่คล้ายคลึงกับศรีลังกา
  ด้วยปัญหาทางเศรษฐกิจ และประสบปัญหาภัยแล้งน้อยลง ศรีลังกาจึงไม่ได้ดำเนินการทำฝนเทียมอย่างต่อเนื่อง ต่อมาปี 2560 สถานเอกอัครราชฑูตสาธารณรัฐสังคมนิยมประชาธิปไตยศรีลังกา ประจำประเทศไทย ได้มีหนังสือประสงค์ขอรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีฝนหลวง เพื่อเติมน้ำในเขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้าพลังน้ำ และพื้นที่การเกษตร กรมฝนหลวงฯได้รับเรื่องไว้พิจารณาตามข้อเสนอ
จนกระทั่งเมื่อเดือนมีนาคม 2562 รัฐบาลศรีลังกาได้มีหนังสือเชิญผู้เชี่ยวชาญจากกรมฝนหลวงฯ เดินทางไปให้คำแนะนำระหว่างการทดลองปฏิบัติการทำฝนเพื่อเติมน้ำลงเขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้าของศรีลังกา พบว่าการปฏิบัติการดังกล่าวประสบผลสำเร็จอย่างดีมีฝนตกในพื้นที่ลุ่มรับน้ำเขื่อน Maussakelle โดยรัฐบาลศรีลังกาเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายให้ทีมผู้เขี่ยวชาญจากกรมฝนหลวงฯทั้งสิ้น ต่อมาเมื่อเดือนกรกฎาคม 2562 ศรีลังกาได้ส่งผู้แทนเข้าร่วมการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ ASEN Training on Weather Modification 2019 ที่ประเทศไทย โดยกรมฝนหลวงฯเป็นเจ้าภาพ ฝ่ายศรีลังกาได้เสนอขอจัดทำโครงการความร่วมมือกับกรมฝนหลวงฯในการถ่ายทอดเทคโนโลยีฝนหลวง ภายใต้กรอบความร่วมมือไทย-ศรีลังกา ซึ่งมีกำหนดลงนามร่วมกันในปี 2563 แต่เนื่องจากปัญหาการแพร่ระบาดไวรัสโคโรน่า หรือ โควิด-19 จึงเลื่อนการพิจารณาการลงนามออกไปก่อน
  ถึงแม้ประเทศศรีลังกาจะเศรษฐกิจไม่ดี ไม่ได้ร่ำรวยมากนัก แต่เพราะการเผชิญกับปัญหาภัยแล้ง ก็ยังยอมลงทุนออกค่าใช้จ่ายให้ผู้เขี่ยวชาญของไทยเดินทางไปให้คำแนะนำในการทดลองปฏิบัตืการทำฝนเติมน้ำในเขื่อน เพราะด้วยความเชื่อมั่น และศรัทธาที่มีต่อตำราฝนหลวงพระราชทานพระราชทาน...
#ความเชื่อมั่นความศรัทธาบังคับกันไม่ได้
#SaveThailand
#SaveRainmakingTeam
#Saveบุคลากรทางการแพทย์
#แล้งนี้ต้องรอด
เขียนโดย "ฟ้าโปรย"

 

ภาพและวีดีโอ