เปลี่ยนการแสดงผล
#เล่าเรื่องผ่านภาพประกวดปี 2562
24 มิถุนายน 2563 131 ครั้ง

#เล่าเรื่องผ่านภาพประกวดปี 2562
  พื้นน้ำในนาสีทองระยิบระยับจากแสงสุดท้ายก่อนที่ตะวันจะลับตา เต็มไปด้วยต้นกล้าในนาดำแบบขั้นบันไดเขียวชะอุ่มที่กำลังตั้งตัวเตรียมเริงระบำไปกับสายลม ภายใต้หล้งคาบ้านหลังใหญ่ชื่อแผ่นดินไทยที่เต็มไปด้วยเมฆฝนก้อนใหญ่ดำทะมึนกำลังจะโปรยปรายลงมาด้วยน้ำพระราชหฤทัยของพระบิดาแห่งฝนหลวง ผืนนาแห่งนี้ตกทอดจากรุ่นสู่รุ่นของบรรพบุรุษชาวเผ่าปกาเกอะญอที่บุกเบิกชายเขาที่มีความลาดชัน ยากต่อการทำการเพาะปลูกและดินโคลนถล่มได้ง่ายจากการชะล้างหน้าดินของพายุที่ไม่เคยมีความเมตตาต่อผู้ใดต่างจากพระบิดาแห่งฝนหลวงที่โปรยปรายฝนในปริมาณที่พอเหมาะ และยังสอนให้รู้จักวิธีการอนุรักษ์ดินและน้ำ บรรพบุรุษชาวปกาเกอะญอจึงร่วมกันขุดถางพื้นที่ให้เป็นขั้นบันไดเพื่อที่จะเก็บน้ำในแต่ละขั้นบันไดให้เป็นผืนนาจากผืนที่สูง และลดหลั่นกันลงมา น้ำของผืนนาที่สูงกว่าจะค่อยๆล้นไหลลงสู่ผืนที่ต่ำกว่าเป็นการช่วยลดการพังทะลายของดิน เพิ่มพื้นที่ปลูกข้าวได้มากขึ้น แทนการปลูกตามที่ลาดชันแบบเดิมๆและสามารถใช้พื้นที่นี้ได้อย่างยั่งยืน นับว่าเป็นวิธีอนุรักษ์ดินและน้ำบริเวณพื้นที่ลาดชันอย่างหนึ่ง ด้วยความร่วมแรงร่วมใจของหนุ่มสาวชาวเผ่าปกาเกอะญอแห่งดินแดนบ้านป่าปงเปียง แม่แจ่ม เชียงใหม่ที่ร่วมกันดำข้าวในผืนนาแห่งนี้ ล้วนตื่นเต้นเฝ้ารอวันเกี่ยวข้าวที่จะได้มีโอกาสออกมาพบเจอกันเพื่อร่วมกันเกี่ยวข้าวเหมือนตอนมาร่วมกันดำนาที่เต็มไปด้วยความสุข สนุกสนาน และได้พบหน้าเกี๊ยวพาราสีกันตามประสาหนุ่มสาว ต้นข้าวก็เหมือนหญิงสาว ในวัยเด็กนั้นบอบบางต้องคอยทะนุถนอมเหมือนต้นกล้าที่กำลังงอก ปริมาณน้ำที่ให้น้อยไปก็ไม่ดี มากไปก็ไม่เหมาะ พอเริ่มเติบใหญ่หากได้อาหาร และน้ำอุดมสมบูรณ์แล้วจะทำให้เติบใหญ่สูงตระหง่านงามสง่า จนเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ก็เริ่มตั้งท้อง ในช่วงนี้ยิ่งต้องการการเอาใจใส่ดูแลมิให้ขาดอาหาร ขาดน้ำโดยเด็ดขาด เพื่อท้องที่ตั้งมาจะได้สมบูรณ์ออกลูก ออกรวงได้สมบูรณ์สวยงามเป็นที่ต้องตาต้องใจของผู้พบเห็น จนอดใจไม่ได้ที่อยากจะเก็บเกี่ยวพร้อมที่จะนำไปบริโภคและขยายพันธุ์ในรุ่นต่อไป
  เมื่อ 2,000 กว่าปีชนเผ่าอีฟูเกาได้อพยพจากไต้หวัน ไปแสวงหาชีวิตใหม่ที่เกาะลูซอน ประเทศฟิลิปปินส์ ซึ่งพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นป่าเขา แต่ข้าวนับว่าเป็นอาหารหลักของชาวเอเชีย พวกเขาจึงร่วมแรงร่วมใจกันสกัดพื้นที่ไหล่เขา และที่ลาดเชิงเขา ตลอดจนสร้างระบบชลประทานด้วยเครื่องมือธรรมดาปราศจากเครื่องจักรกล ปรับภูเขาทั้งลูกให้กลายเป็นแหล่งเพาะปลูกขนาดใหญ่
  นาขั้นบันไดแห่งนี้ตั้งอยู่บนความสูงประมาณ 1,500 เมตร เหนือระดับน้ำทะเล และครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 10,500 ตารางกิโลเมตร และได้สืบทอดเป็นมรดกตกทอดกันมาจากรุ่นสู่รุ่น โดยยึดถือความเชื่อและวัฒนธรรมดั้งเดิมเกี่ยวข้องกับฤดูกาลเพาะปลูก การควบคุมศัตรูพืช และการเก็บเกี่ยวที่เชื่อมโยงกับดวงจันทร์และพิธีกรรมทางศาสนา
  จากความพยายามในการเนรมิตภูเขาทั้งลูกให้เป็นนาขั้นบันไดและมีวัฒนธรรมที่สืบทอดกันมาเป็นเวลายาวนาน นาขั้นบันไดที่บานาเว บนเกาะลูซอน ประเทศฟิลิปปินส์จึงได้รับการยอมรับให้เป็น 1 ใน 10 สิ่งมหัศจรรย์ของโลก และได้รับการขึ้นทะเบียนร่วมกับนาขั้นบันไดในพื้นที่ใกล้เคียงเป็นแหล่งมรดกโลกโดยยูเนสโก ในปี พ.ศ.2538  ประเทศฟิลิปปินส์ถึงแม้จะเป็นเกาะในมหาสมุทรแปซิฟิก มีปริมาณฝนเฉลี่ยรายปีจำนวนหลายพันมิลลิเมตร แต่บางพื้นที่ก็ประสบปัญหาภัยแล้งเช่นกัน จนในปี2526 สมาคมชาวไร่อ้อยฟิลิปปินส์ ( Philippines Sugar Commission) ได้ประสานขอความช่วยเหลือจากประเทศไทยในการทำฝนหลวงโดยยินดีสนับสนุนค่าใช้จ่ายให้ทั้งสิ้น รัฐบาลไทยได้มอบหมายให้ ม.ร.ว.เทพฤทธิ์ เทวกุล เป็นหัวหน้าคณะเดินทางไปช่วยทำฝนแก้ปัญหาภัยแล้งให้กับชาวไร่ของสมาคมชาวไร่อ้อยฟิลิปปินส์ในครั้งนั้นจนประสบผลสำเร็จ 
  ต่อมาประเทศฟิลิปินส์ได้ส่งผู้แทนเข้าร่วมประชุม การประชุมเชิงปฏิบัติการด้านการดัดแปรสภาพอากาศระดับภูมิภาคอาเซียน (ASEAN Workshop on Weather Modification 2018) และ การฝึกอบรม ASEAN Training on Weather Modification 2019 ณ ประเทศไทย โดยกรมฝนหลวงและการบินเกษตรเป็นเจ้าภาพ ทำให้ผู้แทนจากประเทศฟิลิปปินส์มีความประสงค์ที่จะทำความร่วมมือกับประเทศไทยในการขอฝึกอบรม และการใช้เทคนิคการทำฝนหลวงตามตำราฝนหลวงพระราชทาน ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาจัดทำร่างความร่วมมือระหว่างทั้งสองประเทศ
  ลองย้อนกลับมามองภาพถ่ายภาพนี้กันอีกครั้ง ความรู้สึกน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้ ทรงพระเมตตาในการโปรยปรายสายฝนอันฉ่ำเย็นไปทั่วหล้าจะผุดขึ้นกลางใจของเรา...
ขอขอบคุณ นายนิพนธ์ เกตุจรัส ผู้ชนะเลิศประกวดภาพถ่ายปี 2562
ชื่อภาพ: ฝนมานาชุ่ม
สถานที่: บ้านป่าปงเปียง จ.เชียงใหม่
#น้ำใจที่บริสุทธิ์เปรียบเสมือนสายฝนที่ไร้พรมแดน
#SaveThailand
#SaveRainmakingTeam
#Saveบุคลากรทางการแพทย์
#แล้งนี้ต้องรอด
เขียนโดย "ฟ้าโปรย"


ภาพและวีดีโอ