เปลี่ยนการแสดงผล
#ไม่ไหวต้องไหว
10 กรกฎาคม 2563 121 ครั้ง

#ไม่ไหวต้องไหว
  มะเร็งนับเป็นโรคร้ายที่คร่าชีวิตมนุษย์และสิ่งมีชีวิตอื่นๆปีละมากมาย แต่ก่อนที่จะเสียชีวิตย่อมได้รับความเจ็บปวดทุกข์ทรมาน วิธีการรักษามะเร็งนั้นขึ้นกับระยะความรุนแรงของมะเร็ง ซึ่งมีวิธีการทั้งแพทย์แผนปัจจุบันและแพทย์ทางเลือก การตรวจพบโรคมะเร็งได้ตั้งแต่ระยะเริ่มแรกย่อมเป็นผลดีต่อการรักษา ซึ่งวิธีการรักษามีดังต่อไปนี้ การผ่าตัด เป็นการเอาก้อนที่เป็นมะเร็งออก
 1. รังสีรักษา เป็นการให้รังสีกำลังสูง เพื่อฆ่าเซลล์มะเร็ง
2. เคมีบำบัด เป็นการให้ยา (สารเคมี) เพื่อฆ่าเซลล์มะเร็ง
3. ฮอร์โมนบำบัด เป็นการใช้ฮอร์โมน เพื่อยุติการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง 
4. การรักษาแบบผสมผสาน เป็นการรักษาร่วมกันหลายวิธีดังกล่าวข้างต้นแต่จะใช้วิธีใดนั้นขึ้นอยู่ระยะและความรุนแรงของโรค
  หากเปรียบสถานการณ์น้ำของบ้านเราระหว่างปี 2562-63 กับโรคร้ายแล้วเริ่มเข้าสู่ขั้นรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ จะด้วยสาเหตุจากการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ (Climate Change) การเปลี่ยนแปลงสภาพการใช้ที่ดิน หรือจะจากสาเหตุอะไรก็ตาม แต่สิ่งสำคัญคือทุกคนในประเทศนี้ต้องร่วมมือกันแก้ไขปัญหานี้อย่างจริงจังก่อนที่จะโดนโรคร้ายนี้กัดกินจนชีวิตหาไม่ ณ วันที่ 8 กรกฎาคม 2563 เขื่อน/อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่มีปริมาณน้ำใช้การน้อยกว่า 30% มากถึง 33 แห่ง และแหล่งน้ำขนาดกลางมีจำนวนมากถึง 211 แห่ง สำหรับ 4 เขื่อนใหญ่ที่มีอิทธิพลต่อลุ่มเจ้าพระยาได้แก่ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ แต่ละเขื่อนมีปริมาณน้ำใช้การจำนวน 162 ล้านลบ.ม. (คิดเป็น 2% ของน้ำใช้การ) 473 ล้านลบ.ม.(คิดเป็น 7 % ของน้ำใช้การ)  116 ล้านลบ.ม.(คิดเป็น 13 % ของน้ำใช้การ) และ  98 ล้านลบ.ม.(คิดเป็น 10 % ของน้ำใช้การ) ตามลำดับ
  จะเห็นว่าเข้าสู่ฤดูฝนมาเกือบ 2 เดือนแล้วปริมาณน้ำในเขื่อน/อ่างเก็บน้ำ ทั้งขนาดใหญ่และขนาดกลางยังมีปริมาณน้ำเก็บกักอยู่น้อยมาก เหลือระยะเวลาฤดูฝนอีกเพียงราว 3 เดือน โจทย์ใหญ่คือ เขื่อน/อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ต้องมีน้ำไหลเข้าเขื่อนในเดือนกรกฎาคมนี้ให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้เพื่อมีน้ำเพียงพอสำหรับใช้ในการบริหารจัดการน้ำในการกิจกรรมต่างๆ โดยเฉพาะสนับสนุนการเพาะปลูกในช่วงฤดูฝนแก่พี่น้องเกษตรกร และให้มีเหลือสะสมไว้ใช้ในฤดูแล้งถัดไป เช่น เขื่อนภูมิพล มีความต้องการน้ำไหลเข้าเขื่อนในเดือนกรกฎาคมมากถึง 5,240 ล้านลบ.ม. เพื่อจะแตะเส้นระดับควบคุมตอนบน(Upper Rule Curve, URC) ในขณะที่เขื่อนสิริกิติ์มีความต้องการน้ำ 2,500 ล้านลบ.ม. ภายใต้หลักการเดียวกัน
  ปริมาณน้ำที่จะไหลเข้าเขื่อนนั้นจะมาจาก 2 ส่วนด้วยกันคือ ส่วนแรกมาจากธรรมชาติ อีกส่วนหนึ่งจะเป็นความร่วมมือจากกรมฝนหลวงฯในการขึ้นบินปฏิบัติการเพื่อเติมน้ำให้เขื่อน แต่ถ้าหากทุกท่านได้ติดตามบทความของกรมฝนหลวงฯมาอย่างต่อเนื่องจะทราบกันดีว่าหลักการเติมน้ำให้เขื่อนจากการปฏิบัติการฝนหลวงจะเป็นการช่วยเติมเต็มเท่านั้นเนื่องจากการทำฝนหลวงจะสามารถทำเมฆได้แค่เป็นก้อนเป็นกลุ่มเท่านั้นต่างจากพายุหรือร่องความกดอากาศต่ำที่จะมีเมฆมีฝนได้เต็มพื้นที่ลุ่มน้ำที่จะไหลเข้าเขื่อน
จะเห็นว่าความคาดหวังในเดือนกรกฎาคม ให้มีน้ำเข้าเขื่อนภูมิพลราวๆ 5,240 ล้านลบ.ม. นั้นค่อนข้างที่จะเป็นไปได้ยากถ้าหากไม่มีพายุจรเข้ามาหรือร่องความกดอากาศพาดผ่านแช่อยู่เหนือเขื่อนเป็นเวลานาน อีกส่วนหนึ่งคือ กรมฝนหลวงฯจะพยายามช่วยทำฝนเติมน้ำให้กับเขื่อนอย่างเต็มที่ โดยได้ตกลงร่วมกันกับกรมชลประทานที่จะพยายามช่วยทำฝนเติมน้ำให้เขื่อนภูมิพลจำนวน 524 ล้านลบ.ม.ภายในเดือนกรกฎาคมซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายแต่พวกเราจะพยายามกันอย่างเต็มที่ และยังต้องช่วยทำฝนเติมน้ำให้กับเขื่อนอื่นๆอีกด้วยทั้งเขื่อนขนาดใหญ่และขนาดกลางจำนวนมาก
  อย่างไรก็ตามสิ่งสำคัญที่สุดณ ขณะนี้พี่น้องประชาชนต้องรับรู้และเข้าใจสถานการณ์น้ำของประเทศ ณ ปัจจุบัน เพื่อที่จะร่วมแรงร่วมใจกันรณรงค์การใช้น้ำอย่างประหยัดอย่างจริงจัง และท่านใดสามารถสร้างแหล่งเก็บกักน้ำไว้เป็นของตนเองได้ก็จะช่วยลดความเสี่ยงต่อการขาดแคลนน้ำในช่วงฝนแล้งหรือฝนทิ้งช่วงได้เป็นอย่างดี แล้วพวกเราจะได้รอดจากภัยแล้งที่เปรียบเสมือนโรคร้ายแรงนี้ไปได้ด้วยกัน
#รู้มากเสี่ยงน้อยรู้น้อยเสี่ยงมาก
#SaveThailand
#SaveRainmakingTeam
#Saveบุคลากรทางการแพทย์
#แล้งนี้ต้องรอด
เขียนโดย "ฟ้าโปรย"

 

ภาพและวีดีโอ