เปลี่ยนการแสดงผล
#รวมเลือดเนื้อชาติเชื้อไทย
19 สิงหาคม 2563 338 ครั้ง

#รวมเลือดเนื้อชาติเชื้อไทย
  ทุกวันเวลา 08.00 น. และ 18.00 น. ทุกคนจะได้ยินเพลงที่คนไทยทุกคนสามารถร้องได้ด้วยความภาคภูมิใจและพร้อมใจกันยืนตรงเพื่อทำความเคารพ เพลงนั้นก็คือเพลงชาติไทยนั่นเอง...
ประเทศไทยรวมเลือดเนื้อชาติเชื้อไทยเป็นประชารัฐไผทของไทยทุกส่วนอยู่ดำรงคงไว้ได้ทั้งมวลด้วยไทยล้วนหมายรักสามัคคีไทยนี้รักสงบแต่ถึงรบไม่ขลาดเอกราชจะไม่ให้ใครข่มขี่สละเลือดทุกหยาดเป็นชาติพลีเถลิงประเทศชาติไทยทวีมีชัย ชโย...
เนื้อหาของเพลงบ่งบอกให้เห็นถึงการรู้รักสามัคคี ความภาคภูมิใจในความเป็นชาติ และจะรักษาไว้ยิ่งชีพเหมือนที่บรรพบุรุษของเราได้เคยกระทำมาในอดีต 
แต่คนที่ไม่เคยศึกษาประวัติศาสตร์มาก่อนจะยังไม่ทราบว่ากว่าจะมาเป็นชาติไทยในปัจจุบันนั้นมีความเป็นมาอย่างไร...
ประเทศไทยตั้งอยู่ในดินแดนสุวรรณภูมิซึ่งมีความหมายว่าแผ่นดินทองประกอบไปด้วย ไทย เมียนมาร์ ลาว และกัมพูชาในปัจจุบัน แต่ในอดีตจะเป็นอาณาจักรต่างๆเช่น อาณาจักรทวารวดี ศรีวิชัย ละโว้ เขมร ฯลฯ 
ประวัติศาสตร์ชาติไทยนั้นมีมาเป็นเวลายาวนานโดยเริ่มมีความชัดเจนในสมัยอาณาจักรสุโขทัยตั้งแต่ปี พ.ศ. 1981 กระทั่งเสื่อมอำนาจลง แล้วความรุ่งเรืองได้ปรากฏขึ้นในอาณาจักรทางใต้ ณ กรุงศรีอยุธยาและเริ่มมีการรวบรวมอาณาจักรต่างๆทั้งทางเหนือและทางใต้เข้าด้วยกัน ครั้นเมื่อเสียกรุงศรีอยุธยาเป็นครั้งที่สองในปี พ.ศ. 2310 พระเจ้าตากสินจึงได้ย้ายราชธานีมาอยู่ที่กรุงธนบุรี
ภายหลังสิ้นสุดอำนาจสมัยกรุงธนบุรี และมีการสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์เมื่อ พ.ศ. 2325 อาณาจักรสยามเริ่มมีความเป็นปึกแผ่น มีการผนวกดินแดนบางส่วนของอาณาจักรล้านช้าง ครั้นในรัชกาลที่ 5 ได้ผนวกดินแดนของเมืองเชียงใหม่ หรืออาณาจักรล้านนาส่วนล่าง (ส่วนบนอยู่บริเวณเชียงตุง) เป็นการรวบรวมดินแดนครั้งใหญ่ครั้งสุดท้าย ในนามอาณาจักรสยาม(Siam)
ต่อมาได้มีการเปลี่ยนชื่ออาณาจักรสยาม มาเป็นไทยเมื่อปี 2482 สมัยรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม และถูกกลับมาใช้สยามอีกครั้งในปี 2488 ในช่วงเปลี่ยนนายกรัฐมนตรีและกลับมาใช้ไทยอีกครั้งในปี 2491 ช่วงที่จอมพล ป. พิบูลสงครามเป็นนายกรัฐมนตรีและเปลี่ยนชื่อภาษาฝรั่งเศสเป็น Thailande และภาษาอังกฤษเป็น Thailand อย่างที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน
แต่กว่าจะมาเป็นชาติไทยในวันนี้รู้หรือไม่? พระมหากษัตริย์ไทยทุกพระองค์ตั้งแต่ยุคสุโขทัยต้องร่วมต่อสู้มาด้วยเลือดเนื้อกับพี่น้องปวงชนชาวไทยในการปกป้องรักษาดินแดนของชาติไทยไว้ให้ลูกหลานในปัจจุบันดั่งเช่น สมเด็จพระนเรศวรมหาราช สมเด็จพระมหาจักรพรรดิราชาธิราชเจ้า สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ฯลฯ
จากการที่ประเทศไทยมีจำนวนประชากรมากขึ้นและกระจายอยู่ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ จึงได้มีการบริหารการปกครองส่วนภูมิภาคออกเป็น 77 จังหวัดในปัจจุบัน โดยมีการรวมท้องที่หลาย ๆอำเภอเข้าด้วยกันและมีฐานะเป็นนิติบุคคล และมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้ปกครอง บริหารงานเพื่อดูแลประชาชนและพัฒนาพื้นที่ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
อีกทั้งประเทศไทยมีพื้นที่มากถึง 320 ล้านไร่ ซึ่งเป็นพื้นที่ทางการเกษตรอยู่จำนวน 149 ล้านไร่ โดยเป็นพื้นที่การเกษตรอาศัยน้ำฝนจำนวนมากกว่า 110 ล้านไร่ และยังมีแหล่งเก็บกักน้ำขนาดใหญ่ กลาง เล็ก อีกจำนวนมากกระจายอยู่ทั่วภูมิภาคของประเทศ และทุกๆปีเกษตรกรในพื้นที่เกษตรอาศัยน้ำฝนมักจะประสบปัญหาฝนทิ้งช่วง และปริมาณน้ำในแหล่งเก็บกักมีปริมาณน้อย ดังนั้นการปฏิบัติการฝนหลวงเป็นแนวทางหนึ่งในการช่วยบรรเทาปัญหาดังกล่าว
เพื่อให้การปฏิบัติงานด้านฝนหลวงมีประสิทธิภาพ จึงมีการบริหารงานแบ่งพื้นที่รับผิดชอบเช่นกัน จากเดิมได้ก่อตั้งหน่วยงานรับผิดชอบขึ้นเฉพาะส่วนกลางในนามสำนักงานปฏิบัติการฝนหลวงในปี 2518 ภายใต้สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยยังไม่มีหน่วยงานประจำในส่วนภูมิภาคเนื่องจากจำนวนบุคลากร อุปกรณ์และเครื่องมือต่างๆมีปริมาณจำกัด โดยจะมีการออกไปปฏิบัติการเฉพาะกิจจำนวน 3 คณะด้วยกัน
ต่อมาปี2556 ได้มีการสถาปนากรมฝนหลวงและการบินเกษตรขึ้นเพื่อให้มีการปฏิบัติงานได้อย่างคล่องตัวและมีประสิทธิภาพในการช่วยเหลือประชาชนให้ครอบคลุมพื้นที่มากขึ้น โดยในช่วงแรกมีการจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงจำนวน 5 ศูนย์กระจายอยู่ในภูมิภาค ได้แก่ 
 ⁃ ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคเหนือ จ.เชียงใหม่ รับผิดชอบพื้นที่จำนวน 15 จังหวัด
 ⁃ ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคกลาง จ.นครสวรรค์รับผิดชอบพื้นที่จำนวน 14 จังหวัด
 ⁃ ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จ.ขอนแก่น รับผิดชอบพื้นที่จำนวน 20 จังหวัด
 ⁃ ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคตะวันออก จ.ระยอง รับผิดชอบพื้นที่จำนวน 8 จังหวัด
 ⁃ ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคใต้ จ.สุราษฎร์ธานี รับผิดชอบพื้นที่จำนวน 20 จังหวัด
จากการดำเนินการในรูปแบบกรมโดยมีศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงจำนวน 5 ศูนย์กระจายอยู่ในภูมิภาคต่างๆไปได้ระยะหนึ่ง จึงได้มีการจัดทำยุทธศาสตร์กรมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการช่วยเหลือประชาชนที่ประสบปัญหาภัยแล้ง และการดูแลการเติมน้ำให้เขื่อนได้อย่างมีประสิทธิภาพครอบคลุมพื้นที่ได้มากยิ่งขึ้นจากการวิเคราะห์สภาพแวดล้อมองค์กร จุดอ่อนและจุดแข็ง จึงทำให้พบว่า ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงควรมี 8 ศูนย์ดังนี้
 ⁃ ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคเหนือ จ.เชียงใหม่ รับผิดชอบพื้นที่จำนวน 7 จังหวัด
 ⁃ ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคเหนือตอนล่าง จ.พิษณุโลก รับผิดชอบพื้นที่จำนวน 8 จังหวัด
 ⁃ ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคกลาง จ.นครสวรรค์ รับผิดชอบพื้นที่จำนวน 14 จังหวัด
 ⁃ ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จ.ขอนแก่น รับผิดชอบพื้นที่จำนวน 10 จังหวัด
 ⁃ ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง จ.บุรีรัมย์ รับผิดชอบพื้นที่จำนวน 10 จังหวัด
 ⁃ ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคตะวันออก จ.ระยอง รับผิดชอบพื้นที่จำนวน 8 จังหวัด
 ⁃ ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคใต้ จ.สุราษฎร์ธานี รับผิดชอบพื้นที่จำนวน 12 จังหวัด
 ⁃ ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคใต้ตอนบน จ.เพชรบุรี(แผนดำเนินการในปี 2565) รับผิดชอบพื้นที่จำนวน 8 จังหวัด
อย่างไรก็ตามถึงแม้จะมีการเพิ่มศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงมากขึ้น และมีหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงจำนวนมากขึ้นจากการเพิ่มกำลังพล และวัสดุ อุปกรณ์ เครื่องมือต่างๆมากขึ้น เพื่อดูแลประชาชนในพื้นที่ได้ใกล้ชิดมากยิ่งขึ้นนั้น แต่ความร่วมมือจากพี่น้องประชาชนในการให้ข้อมูลในพื้นที่ การ่วมกันรณรงค์การใช้น้ำ การหาแหล่งน้ำสำรองเป็นของตนเองได้มากขึ้นจะทำให้พวกรวมสามารถสู้รบกับปัญหาภัยแล้งที่เผชิญกันทุกปีได้อย่างเต็มที่ แล้วในวันนั้นพวกเรารวมเลือดเนื้อชาติเชื้อไทยจะได้ร่วมกันเถลิงประเทศชาติไทยทวีมีชัย ชโย...
เขียนโดย "หลงเมฆ" 
#ใกล้ชิดมากขึ้นเข้าใจมากขึ้น
#SaveThailand
#SaveRainmakingTeam
#Saveบุคลากรทางการแพทย์
#แล้งนี้ต้องรอด

ภาพและวีดีโอ