เปลี่ยนการแสดงผล
#ทะยานสู่น่านฟ้า
30 สิงหาคม 2563 720 ครั้ง

#ทะยานสู่น่านฟ้า
ขึ้นชื่อว่ามนุษย์แล้วความทะเยอทะยานไม่มีวันสิ้นสุด อีกทั้งความอยากรู้อยากเห็น ความช่างสงสัยต่างๆนานาทำให้เกิดความพยายามที่จะต้องพิสูจน์ ที่จะต้องคิดค้น ทดลองให้สนองความต้องการของตนให้ได้
แม้แต่มนุษย์ถูกสร้างมาให้เดินดินแต่ก็อยากที่จะบินได้ให้เหมือนนก ทั้งๆที่สรีระไม่ได้ถูกสร้างมาให้บินได้ แต่ก็อยากมีปีกเหมือนนก การทดลองที่จะบินให้ได้จึงเกิดขึ้นด้วยการสร้างปีกกับแขนตนเองจนตกลงมาแข้งขาหักบ้าง ตายกันไปบ้าง ความพยายามก็ยังไม่จบสิ้นไป 
จนกระทั่งเมื่อร้อยปีเศษที่ผ่านมาสองพี่น้องตระกูลไรท์(Wright)ชาวอเมริกัน ได้ทำการทดลองกับเครื่องร่อนหลายครั้งเพื่อจะค้นหาวิธีบังคับเครื่องบิน ในที่สุดก็ค้นพบว่าเครื่องบินของเค้าควรมีหางและมีอุปกรณ์ควบคุมอยู่ที่ปลายปีก โดยมีเชือกโยงจากที่นั่งของนักบินไปยังปลายปีกทั้ง 2 ข้าง เพื่อปรับมุมปลายปีกข้างใดข้างหนึ่ง ให้เครื่องบินเลี้ยวได้เช่นเดียวกับนกใช้กล้ามเนื้อปีกของมันในการบินนั่นเอง
หลังจากนั้นนักประดิษฐ์แต่ละประเทศทั้งสหรัฐอเมริกาและยุโรปได้มีการพัฒนาเครื่องบินอย่างต่อเนื่อง และแล้วในปี ค.ศ.1919 อัลค็อค และบราวน์ นักบินชาวอังกฤษ จอห์น วิลเลียม และ อาร์เธอร์ ไวท์เทน บราวน์ นักบินคู่แรกที่บินข้ามหาสมุทรแอตแลนติก ได้โดยไม่มีการหยุดพัก โดยใช้เวลาในการเดินทางครั้งนั้น 4 วัน กับอีก 16.5 ชั่วโมง นับเป็นการบินระยะไกลที่สุดเท่าที่เคยมีมา
การพัฒนาเครื่องบินดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องจากเครื่องบินใบพัดมาเป็นเครื่องบินไอพ่น ซึ่งในปัจจุบันใช้เป็นพาหนะเดินทางข้ามประเทศข้ามทวีปได้ด้วยระยะเวลาไม่นานแถมยังสามารถบรรทุกผู้โดยสารได้จำนวนมากเช่น เครื่องบินโดยสารรุ่น A380 มีห้องโดยสาร 2 ชั้น รองรับผู้โดยสารได้จำนวนมากถึง 544 คนแต่ก็ได้ยุติสายการผลิตไปเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2562 เนื่องจากปัจจุบันสายการบินทั่วโลกนิยมเครื่องบินรุ่นใหม่ที่มีขนาดเล็ก คล่องตัวกว่า และประหยัดเชื้อเพลิงมากกว่า
สำหรับเครื่องบินที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก เป็นเครื่องบินที่ผลิตจากวัสดุคาร์บอนผสมที่ชื่อว่า Roc ออกแบบและสร้างขึ้นโดยบริษัท Stratolaunch Systems Corp ของสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีความยาวของปีกเท่ากับสนามฟุตบอลหนึ่งสนาม มีลำตัวแบบคู่ ใช้เครื่องยนต์ถึง 6 เครื่องยนต์
ส่วนเครื่องบินโดยสารที่เร็วที่สุดในโลกได้แก่ เครื่องบิน Tupulev TU 144 ของประเทศรัสเซีย เป็นเครื่องบินโดยสารลำแรกของโลก ในรูปแบบเครื่องบินเจ็ท ความเร็วเหนือเสียง สามารถบรรทุกผู้โดยสารได้ 140 ที่นั่งมีอัตราเร็วสูงสุดอยู่ที่ราวๆ 2.35 มัค คิดเป็น 2,500 กิโลเมตรต่อชั่วโมง แต่ปกติแล้วจะใช้ความเร็วปกติอยู่ที่ 2,300 กิโลเมตรต่อชั่วโมง มีเพดานบินประมาณ 16,000-18,000 เมตร
และพิสัยบินในรัศมี 65,000 กิโลเมตร
ปัจจุบันยังมีการพัฒนาอากาศไร้คนขับหรือUAV(Unmanned Aerial Vehicle) ซึ่งเป็นอากาศยานที่ไม่มีนักบินประจำการอยู่บนเครื่อง เป็นอากาศยานที่ไร้คนขับหรือนักบินแต่สามารถควบคุมได้ 
UAVมีรูปร่าง ขนาด รูปแบบ และเอกลักษณ์ที่แตกต่างกันออกไป ตามหลักแล้วอากาศยานไร้คนขับ ก็คือ โดรน (Drone) นั่นเอง เป็นอากาศยานที่ควบคุมจากระยะไกล ใช้การควบคุมอัตโนมัติซึ่งมีอยู่ 2 ลักษณะ คือ การควบคุมอัตโนมัติจากระยะไกล และการควบคุมแบบอัตโนมัติโดยใช้ระบบการบินด้วยตนเองซึ่งต้องอาศัยโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่มีระบบที่ซับซ้อนแล้วมีการติดตั้งไว้ในอากาศยาน              
UAVนั้นมักจะนำมาใช้ทำหน้าที่ในภารกิจที่ยากและอันตรายเกินกว่าที่จะใช้เครื่องบินที่มีคนขับปฏิบัติ เช่น การดับเพลิง การฉีดพ่นยาทางการเกษตร ฯลฯ
กรมฝนหลวงและการบินเกษตรได้เล็งเห็นประโยชน์ของUAVจึงได้ร่วมกับศูนย์วิจัยพัฒนาวิทยาศาสตร์การบินและอวกาศกองทัพอากาศขอสนับสนุนงบประมาณจากสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์กรมหาชน) เพื่อดำเนินการ"โครงการวิจัยพัฒนาเครื่องบินเป้าอากาศไร้นักบินเพื่อสนับสนุนการปฏิบัติการฝนหลวงเมฆอุ่น" เนื่องจากในวันที่ช่วงสภาพอากาศปิด หน่วยปฏิบัติการฝนหลวงจะไม่ได้รับอนุญาตให้ขึ้นบินทำฝนด้วยอากาศยานปกติ จึงมีแนวคิดที่จะนำUAVไปใช้ทำฝนในบริเวณกลุ่มเมฆเป้าหมายเพื่อไม่ให้พลาดโอกาสในการทำฝนในวันนั้น อีกทั้งบริเวณพื้นที่ชายแดนระหว่างประเทศเพื่อลดความเสี่ยงในการบินล้ำน่านฟ้า
การดำเนินงานวิจัยครั้งนี้เป็นการประยุกต์ใช้อากาศยานไร้คนขับ(UAV)ติดตั้งพลุสารดูดความชื้น(Hygroscopic Flare)ที่ได้มีการใช้กับอากาศยานของกองทัพอากาศ AU23 Peacemaker มาแล้ว และกำลังจะใช้กับงานวิจัยโครงการวิจัยและพัฒนาการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีการพ่นสารจากพื้นสู่ก้อนเมฆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบัติการฝนหลวงสำหรับพื้นที่เขตเงาฝนบริเวณภาคเหนือของประเทศไทย
โครงการวิจัยดังกล่าวขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการออกแบบโครงสร้างอากาศยานไร้คนขับ(UAV) และแท่นยิงโดยศูนย์วิจัยพัฒนาวิทยาศาสตร์การบินและอวกาศกองทัพอากาศ และจะดำเนินการทดลองปฏิบัติการฝนหลวงเมฆอุ่นในปี 2564 หากการดำเนินการวิจัยครั้งนี้สำเร็จจะได้UAVต้นแบบเพื่อนำไปผลิตมาใช้ในการปฏิบัติการฝนหลวงในกรณีสภาพอากาศปิดบริเวณสนามบินและไม่อนุญาตให้ขึ้นบินปฏิบัติการฝนหลวงในรูปแบบปกติและใช้ปฏิบัติบริเวณพื้นที่ชายแดนระหว่างประเทศเพื่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของผู้ปฏิบัติงาน
จะเห็นว่าความทะเยอทะยาน ความพยายามของมนุษย์หากนำมาใช้ให้ถูกวิธี มีจรรยาบรรณย่อมสร้างประโยชน์ให้กับสังคม ให้กับเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน อาทิเช่น โครงการวิจัยในครั้งนี้ และในวันที่ประสบความสำเร็จจะเป็นวันแห่งการเพิ่มโอกาสในการสร้างฝนในพื้นที่ต่างๆได้มากขึ้นดั่งน้ำพระราชหฤทัยของพระบิดาแห่งฝนหลวงที่ไม่เคยเหือดแห้งสักวันเดียว
เขียนโดย "หลงเมฆ"
#อคติเป็นตัวถ่วงการพัฒนา
#SaveThailand
#SaveRainmakingTeam
#Saveบุคลากรทางการแพทย์
#แล้งนี้ต้องรอด


ภาพและวีดีโอ