เปลี่ยนการแสดงผล
ฝนหลวงฯ ร่วมกับ กองทัพอากาศ พัฒนาเทคโนโลยีการพ่นสารจากพื้นสู่ก้อนเมฆ เพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบัติการฝนหลวงในพื้นที่อับฝน
20 กันยายน 2563 573 ครั้ง
ฝนหลวงฯ ร่วมกับ กองทัพอากาศ พัฒนาเทคโนโลยีการพ่นสารจากพื้นสู่ก้อนเมฆ เพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบัติการฝนหลวงในพื้นที่อับฝน
วันที่ 19 กันยายน 2563 เวลา 09.30 น. ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มอบหมายให้นายนเรศ ธำรงค์ทิพยคุณ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี ลงพื้นที่ติดตามความก้าวหน้าโครงการวิจัยและพัฒนาประยุกต์ใช้เทคโนโลยีการพ่นสารจากพื้นสู่ก้อนเมฆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบัติการฝนหลวงสำหรับพื้นที่เขตเงาฝนบริเวณภาคเหนือของประเทศไทย โดยมีนายสุรสีห์ กิตติมณฑล อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร พลอากาศตรี นพนันท์ เกิดศิริ ผู้อำนวยการสำนักงานวิจัยศูนย์วิจัยพัฒนาวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีการบินและอวกาศ กองทัพอากาศ และนายรังสรรค์ บุศย์เมือง ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคเหนือ จังหวัดเชียงใหม่ เป็นผู้รายงานความก้าวหน้าการดำเนินงานโครงการดังกล่าว พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ติดตั้งอุปกรณ์ทดสอบการพ่นสารจากภาคพื้นดิน ณ ดอยผาน้อย อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่
นายนเรศ ธำรงค์ทิพยคุณ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า โครงการวิจัยและพัฒนาประยุกต์ใช้เทคโนโลยีการพ่นสารจากพื้นสู่ก้อนเมฆฯ กรมฝนหลวงและการบินเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วมกับกองทัพอากาศ จัดทำขึ้นเพื่อพัฒนาอุปกรณ์เทคโนโลยีการพ่นสารจากพื้นสู่ก้อนเมฆ หรือ Ground Based Generator Technology ในการเพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบัติการฝนหลวงสำหรับพื้นที่เขตเงาฝนบริเวณภาคเหนือของประเทศ มีระยะเวลาดำเนินการ 2 ปี เพื่อพัฒนาและเพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบัติการฝนหลวงให้มีความเหมาะสมต่อช่วงเวลาและพื้นที่การเกษตรและอ่างเก็บน้ำของอำเภอดอยหล่อ จังหวัดเชียงใหม่ ให้เกิดประโยชน์ต่อพี่น้องเกษตรกรและประชาชนอย่างสูงสุด
ด้านนายสุรสีห์ กิตติมณฑล อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันกรมฝนหลวงและการบินเกษตร มีการปฏิบัติการฝนหลวงเมฆอุ่นของประเทศไทย โดยการใช้อากาศยานในการบินโปรยสารเข้าสู่กลุ่มเมฆเป็นหลัก ซึ่งในการปฏิบัติการฝนหลวงในพื้นที่เขตเงาฝนบางครั้ง อากาศยานไม่สามารถบินทำงานกับกลุ่มเมฆที่กำลังก่อตัวอยู่ได้ เนื่องจากระดับความสูงของการบินอยู่ในระดับเดียวกับยอดเขาของพื้นที่เขตเงาฝน ซึ่งอาจทำให้ไม่ปลอดภัยต่อการบินปฏิบัติการ ดังนั้น กรมฝนหลวงและการบินเกษตร จึงได้มีแนวคิดในการพัฒนาเทคนิคด้านการดัดแปรสภาพอากาศเทคโนโลยีการพ่นสารจากพื้นสู่ก้อนเมฆ ซึ่งเป็นประโยชน์ในการนำมาทดลองประยุกต์ใช้สำหรับพื้นที่สูงและอับฝนในประเทศไทย เพื่อเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบัติการฝนหลวงสำหรับพื้นที่เขตเงาฝนบริเวณภาคเหนือ รวมถึงยังช่วยลดต้นทุนการปฏิบัติการลงด้วย
สำหรับความก้าวหน้าการดำเนินโครงการฯ ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการติดตั้งและทดสอบประสิทธิภาพของอุปกรณ์และระบบการพ่นสารจากพื้นสู่ก้อนเมฆ โดยได้รับความร่วมมือจากศูนย์วิจัยพัฒนาวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีการบินและอวกาศ กองทัพอากาศ เป็นผู้ดำเนินการ ซึ่งหลังจากนี้ทางกรมฝนหลวงและการบินเกษตร จะนำข้อมูลผลการวิจัยและการประยุกต์ใช้ มาวิเคราะห์ประสิทธิภาพการปฏิบัติการฝนหลวงจากเทคโนโลยีดังกล่าว เพื่อวางแผนปฏิบัติการฝนหลวงเพิ่มปริมาณฝนให้พื้นที่เป้าหมายต่อไป นายสุรสีห์ กล่าวทิ้งท้าย

ภาพและวีดีโอ