เปลี่ยนการแสดงผล
ฝนหลวงฯ ช่วงชิงสภาพอากาศปฏิบัติการฝนหลวงช่วยเหลือพื้นที่ประสบภาวะฝนทิ้งช่วงก่อนหมดฤดูฝน วันที่ 7 ตุลาคม 2563 เวลา 10.00 น.
7 ตุลาคม 2563 143 ครั้ง
ฝนหลวงฯ ช่วงชิงสภาพอากาศปฏิบัติการฝนหลวงช่วยเหลือพื้นที่ประสบภาวะฝนทิ้งช่วงก่อนหมดฤดูฝน
วันที่ 7 ตุลาคม 2563 เวลา 10.00 น. นายปนิธิ เสมอวงษ์ รองอธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ด้านปฏิบัติการ ร่วมแถลงข่าวประจำสัปดาห์ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยมีนายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานการแถลงข่าว
นายปนิธิ เปิดเผยว่า ขณะนี้ประเทศไทยมีร่องมรสุมพาดผ่านภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงบริเวณทะเลจีนใต้ตอนกลาง ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทยมีกำลังปานกลาง ทำให้ประเทศไทยยังคงมีฝนตกต่อเนื่อง และมีฝนตกหนักบางแห่งบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคกลางรวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล แต่ยังคงมีพื้นที่การเกษตรหลายพื้นที่ขาดแคลนน้ำสำหรับการเจริญเติบโตของพืชก่อนถึงฤดูกาลเก็บเกี่ยว มีพื้นที่ลุ่มรับน้ำเขื่อนและอ่างเก็บน้ำที่ยังมีปริมาณน้ำใช้การน้ำต่ำกว่า 30% ซึ่งอาจไม่เพียงพอสำหรับใช้การในฤดูแล้งถัดไป รวมถึงยังมีการขอรับบริการฝนหลวงจากพี่น้องเกษตรกรและประชาชนอยู่เป็นจำนวนมากในทุกภูมิภาคด้วย ทางกรมฝนหลวงและการบินเกษตร โดย 12 หน่วยปฏิบัติการ จึงเร่งวางแผนการติดตามสภาพอากาศเป็นประจำทุกวันอย่างต่อเนื่อง เพื่อช่วงชิงสภาพอากาศปฏิบัติการฝนหลวงให้กับพื้นที่ที่ประสบปัญหาดังกล่าว ซึ่งได้รับการสนับสนุนอากาศยานและกำลังพลจากกองทัพอากาศและกองทัพบก ร่วมกันปฏิบัติการฝนหลวง
สำหรับการปฏิบัติการฝนหลวง ตั้งแต่เปิดปฏิบัติการฝนหลวงสู้ภัยแล้ง ประจำปี 2563 วันที่ 3 กุมภาพันธ์ – 5 ตุลาคม 2563 กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ตั้งหน่วยปฏิบัติการเพื่อช่วยเหลือประชาชนทั้งหมด 12 หน่วย กระจายอยู่ทั่วภูมิภาคของประเทศ และได้รับการสนับสนุนกำลังพลและอากาศยานจากกองทัพบกและกองทัพอากาศ ร่วมปฏิบัติการฝนหลวงช่วยคลี่คลายสถานการณ์ฝนทิ้งช่วงและภัยแล้ง ซึ่งได้ขึ้นบินปฏิบัติการ จำนวน 226 วัน จำนวน 5,763 เที่ยวบิน (8,536:11 ชั่วโมงบิน มีวันฝนตกคิดเป็นร้อยละ 99.12 ปริมาณการใช้สารฝนหลวง 5,217.725 ตัน พลุสารดูดความชื้นโซเดียมคลอไรด์จำนวน 292 นัด พลุสารดูดความชื้นแคลเซียมคลอไรด์จำนวน 304 นัด พลุซิลเวอร์ไอโอไดด์สำหรับภารกิจปฏิบัติการฝนหลวง จำนวน 2,440 นัด จังหวัดที่มีรายงานฝนตกรวม 67 จังหวัด ทำให้มีพื้นที่การเกษตรที่ได้รับประโยชน์จากการปฏิบัติการฝนหลวง 197.81 ล้านไร่ มีฝนตกในพื้นที่ลุ่มรับน้ำเขื่อนและอ่างเก็บน้ำ รวม 231 แห่ง (เขื่อนขนาดใหญ่ 34 แห่ง ขนาดกลาง 197 แห่ง) สามารถเติมน้ำต้นทุนให้กับเขื่อนและอ่างเก็บน้ำรวม 4,289.181 ล้าน ลบ.ม.
ทั้งนี้ หลังจากหมดฤดูกาลที่สามารถปฏิบัติการฝนหลวงได้แล้ว ทางกรมฝนหลวงและการบินเกษตรยังคงมีการติดตามสภาพอากาศเป็นประจำทุกวันเช่นเดิม เพื่อเตรียมการรับมือกับปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กที่อาจเกิดขึ้นในช่วงฤดูหนาวที่กำลังจะมาถึง ซึ่งพร้อมปฏิบัติการฝนหลวงช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกรและประชาชนที่ประสบปัญหาภัยพิบัติทุกพื้นที่ทันทีเมื่อสภาพอากาศเหมาะสม นายปนิธิ กล่าวทิ้งท้าย

 

 

ภาพและวีดีโอ