เปลี่ยนการแสดงผล
วันที่ 19 ตุลาคม 2563 เวลา 09.00 น. นายจรัลธาดา กรรณสูต องคมนตรี รองประธานกรรมการที่ปรึกษาผู้ทรงคุณวุฒิฝนหลวง เป็นประธานในพิธีน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ
19 ตุลาคม 2563 335 ครั้ง
  วันที่ 19 ตุลาคม 2563 เวลา 09.00 น. นายจรัลธาดา กรรณสูต องคมนตรี รองประธานกรรมการที่ปรึกษาผู้ทรงคุณวุฒิฝนหลวง เป็นประธานในพิธีน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ 
  พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ณ เขื่อนแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี ซึ่งกรมฝนหลวงและการบินเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้จัดขึ้นเพื่อเผยแพร่พระเกียรติคุณความเป็นมาของโครงการฝนหลวง เมื่อครั้งที่เสด็จพระราชดำเนินปฏิบัติพระราชกรณียกิจ ทรงอำนวยการสาธิตการทำฝนหลวงให้แก่นักวิทยาศาสตร์สาธารณรัฐสิงคโปร์ได้ชม เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม พุทธศักราช 2515 ณ เขื่อนแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี พร้อมปล่อยพันธุ์ปลาตะเพียนขาวและปลายี่สกถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร จำนวน 50,000 ตัว และร่วมกิจกรรมจิตอาสาบำเพ็ญสาธารณประโยชน์ทำความสะอาดและเก็บเศษวัชพืช ณ บริเวณสันเขื่อนแก่งกระจาน   โดยเหตุการณ์สำคัญในพุทธศักราช 2515 สาธารณรัฐสิงคโปร์ประสบภาวะภัยแล้งรุนแรง ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำต่ำถึงขั้นวิกฤติ ด้วยกิตติศัพท์ความสำเร็จในการค้นคว้าทดลองและปฏิบัติการทำฝนในประเทศไทยเผยแพร่ออกไป รัฐบาลสาธารณรัฐสิงคโปร์จึงขอส่งนักวิทยาศาสตร์มาสังเกตการณ์และขอรับการถ่ายทอดความรู้จากประเทศไทย พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงอำนวยการสาธิตการทำฝนหลวงในครั้งนี้ด้วยพระองค์เอง โดยใช้วิธีทางวิทยาศาสตร์ ทำให้ฝนตกลงตรงเป้าหมายที่มีพื้นที่ผิวน้ำเพียง 46.5 ตารางกิโลเมตร หรือ 1,162.5 ไร่ เป็นพื้นที่เป้าหมายหวังผลในการปฏิบัติการทำฝนสาธิต ซึ่งเขื่อนแก่งกระจานเป็นพื้นที่ที่มีสภาพภูมิประเทศและสภาพภูมิอากาศคล้ายคลึงกับเกาะสิงคโปร์ โดยใช้เครื่องบินที่ใช้ในการปฏิบัติการสาธิต มีจำนวน 9 ลำ ประกอบด้วยเครื่องบินคาลิบู ขนาดกลาง 2 เครื่องยนต์ และเครื่องบินสกายแวน ขนาดกลาง 2 เครื่องยนต์ จากการสนับสนุนของกองบินตำรวจ และเครื่องบินแอร์ทรัค ขนาดเล็ก เครื่องยนต์เดียว 2 เครื่อง เครื่องบินเฟรทเช่อร์ ขนาดเล็กเครื่องยนต์เดียว 2 เครื่อง สำหรับสารทำฝน ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ใช้สารฝนหลวง ประกอบด้วย สูตร 1 ผงเกลือแป้ง เป็นสูตรแกนกลั่นตัว (Cloud Condensation Nuclei) สูตร 3 น้ำแข็งแห้ง เป็นสูตรเย็นจัด (Super Cooled) สูตร 4 ผงยูเรีย เป็นสูตรเย็น (Endothermic) และสูตร 6 ผงแคลเซียมคลอไรด์ เป็นสูตรร้อน (Exothermic) โดยในการปฏิบัติการใช้เวลาทำการเพียง 5 ชั่วโมง จึงประสบผลสำเร็จเป็นที่น่าอัศจรรย์และประจักษ์แก่สายตานักวิทยาศาสตร์สาธารณรัฐสิงคโปร์ บรรดาแขกเมือง ข้าราชการและข้าราชบริพารที่เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทสังเกตการณ์อยู่ ณ ที่นั้น ได้เห็นฝนตกเป็นที่ตะลึงโจษขานถึงความอัศจรรย์กันทั่วหน้า ต่างประทับใจในพระมหากรุณาธิคุณและพระปรีชาสามารถของพระองค์ท่าน นับเป็นความสำเร็จอันยอดเยี่ยมของมนุษย์ในการใช้เทคโนโลยีบังคับธรรมชาติ
  การสาธิตการทำฝนในครั้งนั้น ถือเป็นต้นกำเนิดเทคโนโลยีฝนหลวงที่พัฒนาเป็นการทำฝนมาถึงปัจจุบัน โดยในวันที่ 12 ธันวาคม พุทธศักราช 2543 คณะรัฐบาลจึงมีมติให้เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงเป็น "พระบิดาแห่งเทคโนโลยีของไทย" และกำหนดให้วันที่ 19 ตุลาคมของทุกปีเป็น "วันเทคโนโลยีของไทย" เพื่อเป็นการแสดงความจงรักภักดีและน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ ที่ทรงมีต่อพสกนิกรชาวไทยมาโดยตลอด และจารึกไว้เป็นเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์ของชาติไทย ซึ่งกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ได้น้อมนำแนวพระราชดำริตามตำราฝนหลวงพระราชทานมาเป็นแนวทางในการปฏิบัติการฝนหลวง เพื่อสนองพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสืบสาน รักษา และต่อยอด ในการช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนของราษฎรจากวิกฤตภัยแล้งเป็นหลัก
 

 

ภาพและวีดีโอ