เปลี่ยนการแสดงผล
วันที่ 29 ตุลาคม 2563 เวลา 10.00 น. พลอากาศเอก ชลิต พุกผาสุข องคมนตรี ประธานกรรมการที่ปรึกษาผู้ทรงคุณวุฒิฝนหลวง เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการที่ปรึกษาผู้ทรงคุณวุฒิฝนหลวงครั้งที่ 4/2563
29 ตุลาคม 2563 245 ครั้ง
องคมนตรี ประชุมคณะกรรมการที่ปรึกษาผู้ทรงคุณวุฒิฝนหลวง ติดตามสถานการณ์น้ำและการปฏิบัติการฝนหลวง รองรับผลกระทบจากภัยแล้ง ปี 2564
วันที่ 29 ตุลาคม 2563 เวลา 10.00 น. พลอากาศเอก ชลิต พุกผาสุข องคมนตรี ประธานกรรมการที่ปรึกษาผู้ทรงคุณวุฒิฝนหลวง เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการที่ปรึกษาผู้ทรงคุณวุฒิฝนหลวงครั้งที่ 4/2563 พร้อมด้วย นายจรัลธาดา  กรรณสูต องคมนตรี เข้าร่วมประชุมเพื่อติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงานการปฏิบัติการฝนหลวงแก้ไขปัญหาฝนทิ้งช่วงและการเติมน้ำเขื่อนประจำปี 2563 และการดำเนินการปรับโครงสร้างอัตรากำลังกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ความคืบหน้าของการปรับปรุงสนามบินท่าใหม่ อำเภอท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี และความก้าวหน้าของโครงการศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านการดัดแปรสภาพอากาศตามตำราฝนหลวงพระราชทาน พร้อมร่วมหารือในเรื่องของแผนการช่วยเหลือพี่น้องประชาชนและติดตามสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางของประเทศไทย ที่ขณะนี้ยังคงมีปริมาณน้ำสะสมน้อยกว่า 30% ในขณะที่สภาพอากาศเข้าสู่ความกดอากาศสูงมีอากาศหนาวเย็นและแห้งทำให้ได้รับปริมาณน้ำฝนลดน้อยลง ซึ่งอาจส่งผลให้มีน้ำไม่เพียงพอต่อการทำการเกษตรและน้ำเพื่ออุปโภคบริโภคในหลายพื้นที่ นอกจากนี้ยังได้มีการร่วมหารือเพื่อวางแผนจัดตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงประจำปี 2564 เพื่อช่วยเหลือพี่น้องประชาชนต่อไป
ด้าน นายสุรสีห์ กิตติมณฑล อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร กล่าวว่า กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ได้ปฏิบัติตามแผนการปฏิบัติการฝนหลวงประจำปี 2563 โดยมอบหมายให้ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงทั้ง 7 ศูนย์ฯ ดำเนินการจัดตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวง รวม 20 หน่วยปฏิบัติการ (ระหว่างวันที่ 3 กุมภาพันธ์ – 28 ตุลาคม 2563) ปฏิบัติการฝนหลวงช่วยเหลือครอบคลุมพื้นที่ 22 ลุ่มน้ำ ในพื้นที่ 77 จังหวัด เพื่อช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรที่ประสบภัยแล้ง สร้างความชุ่มชื้นให้กับป่าไม้ของประเทศ เพิ่มปริมาณน้ำกักเก็บให้กับเขื่อนต่าง ๆ ทั่วประเทศ และยังช่วยลดปัญหาหมอกควัน ไฟป่า และฝุ่นละอองขนาดเล็ก โดยที่ผ่านมาศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวง กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ได้ขึ้นบินปฏิบัติการฝนหลวงจำนวนทั้งสิ้น 239 วัน มีวันฝนตกจากการปฏิบัติการฝนหลวง 237 วัน คิดเป็นร้อยละ 99.16 ขึ้นบินปฏิบัติงานจำนวน 5,887 เที่ยวบิน จังหวัดที่มีรายงานฝนตกรวม 67 จังหวัด ซึ่งสามารถป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้งได้ มีพื้นที่การเกษตรที่ได้รับประโยชน์จากการปฏิบัติการฝนหลวง จำนวน 198.25 ล้านไร่ มีฝนตกในพื้นที่ลุ่มรับน้ำเขื่อนและอ่างเก็บน้ำรวม 231 แห่ง (เขื่อนขนาดใหญ่ 34 แห่ง ขนาดกลาง 197 แห่ง) สามารถเติมน้ำต้นทุนให้กับเขื่อนและอ่างเก็บน้ำ รวม 4,770.890 ล้าน ลบ.ม. ดังนี้
ภาคเหนือ (ตอนบน) ได้ขึ้นบินปฏิบัติการฝนหลวงจำนวนทั้งสิ้น 160 วัน มีวันฝนตกจากการปฏิบัติการฝนหลวงคิดเป็นร้อยละ 96.88 ขึ้นบินปฏิบัติงานจำนวน 618 เที่ยวบิน ภารกิจป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้ง มีพื้นที่การเกษตรที่ได้รับประโยชน์จากการปฏิบัติการฝนหลวง จำนวน 22.69 ล้านไร่ ภารกิจบรรเทาปัญหาหมอกควันและไฟป่าช่วยเหลือทั้งสิ้น 7 จังหวัด ได้แก่ ลำปาง ลำพูน พะเยา เชียงราย เชียงใหม่ แพร่ น่าน ภารกิจเติมน้ำต้นทุนให้เขื่อนกักเก็บน้ำ ระหว่างวันที่ 3 ก.พ. – 6 ต.ค. 2563 จำนวน 43 เขื่อนรวม 1,005.334 ล้าน ลบ.ม. ภารกิจเติมน้ำต้นทุนให้เขื่อนกักเก็บน้ำ ระหว่างวันที่ 7 - 27 ต.ค. 2563 จำนวน 11 เขื่อน รวม 33.708 ล้าน ลบ.ม.
ภาคเหนือ (ตอนล่าง) ได้ขึ้นบินปฏิบัติการฝนหลวงจำนวนทั้งสิ้น 174 วัน มีวันฝนตกจากการปฏิบัติการฝนหลวงคิดเป็นร้อยละ 94.25 ขึ้นบินปฏิบัติงานจำนวน 501 เที่ยวบิน ภารกิจป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้ง มีพื้นที่การเกษตรที่ได้รับประโยชน์จากการปฏิบัติการฝนหลวง จำนวน 30.31 ล้านไร่ ภารกิจบรรเทาปัญหาหมอกควันและไฟป่าช่วยเหลือทั้งสิ้น 4 จังหวัด ได้แก่ แพร่ น่าน กำแพงเพชร ตาก ภารกิจยับยั้งการเกิดพายุลูกเห็บช่วยเหลือทั้งสิ้น 21 จังหวัด ได้แก่ แพร่ อุตรดิตถ์ เพชรบูรณ์ น่าน พิษณุโลก กำแพงเพชร พิจิตร ลำปาง เลย ขอนแก่น นครราชสีมา ยโสธร ชัยภูมิ มุกดาหาร ลพบุรี ตาก หนองบัวลำภู นครสวรรค์ พะเยา อุดรธานี กาฬสินธุ์ ภารกิจเติมน้ำต้นทุนให้เขื่อนกักเก็บน้ำ ระหว่างวันที่ 3 ก.พ. –6 ต.ค. 2563 จำนวน 21 เขื่อน รวม 527.798 ล้าน ลบ.ม. ภารกิจเติมน้ำต้นทุนให้เขื่อนกักเก็บน้ำ ระหว่างวันที่ 7 - 25 ต.ค. 2563 จำนวน 2 เขื่อน รวม 24.55 ล้าน ลบ.ม.  
ภาคกลาง ได้ขึ้นบินปฏิบัติการฝนหลวงจำนวนทั้งสิ้น 200 วัน มีวันฝนตกจากการปฏิบัติการฝนหลวงคิดเป็นร้อยละ 98.99 ขึ้นบินปฏิบัติงานจำนวน 1,809 เที่ยวบิน ภารกิจป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้ง มีพื้นที่การเกษตรที่ได้รับประโยชน์จากการปฏิบัติการฝนหลวง จำนวน 30.94 ล้านไร่ ภารกิจบรรเทาปัญหาหมอกควันและไฟป่าช่วยเหลือทั้งสิ้น 1 จังหวัด ได้แก่ กาญจนบุรี ภารกิจเติมน้ำต้นทุนให้เขื่อนกักเก็บน้ำ ระหว่างวันที่ 3 ก.พ. – 6 ต.ค. 2563 จำนวน 28 เขื่อนรวม 1,855.498 ล้าน ลบ.ม. ภารกิจเติมน้ำต้นทุนให้เขื่อนกักเก็บน้ำ ระหว่างวันที่ 7 - 25 ต.ค. 2563 จำนวน 16 เขื่อนรวม 259.962 ล้าน ลบ.ม.
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (ตอนบน) ได้ขึ้นบินปฏิบัติการฝนหลวงจำนวนทั้งสิ้น 177 วัน มีวันฝนตกจากการปฏิบัติการฝนหลวงคิดเป็นร้อยละ 97.18 ขึ้นบินปฏิบัติงานจำนวน 772 เที่ยวบิน ภารกิจป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้ง มีพื้นที่การเกษตรที่ได้รับประโยชน์จากการปฏิบัติการฝนหลวง จำนวน 18.19 ล้านไร่ ภารกิจยับยั้งการเกิดพายุลูกเห็บช่วยเหลือทั้งสิ้น 7 จังหวัด ได้แก่ เลย สกลนคร อุดรธานี กาฬสินธุ์ บึงกาฬ นครพนม ชัยภูมิ ภารกิจ เติมน้ำต้นทุนให้เขื่อนกักเก็บน้ำ ระหว่างวันที่ 3 ก.พ. – 6 ต.ค. 2563 จำนวน 6 เขื่อนรวม 556.215 ล้าน ลบ.ม. ภารกิจเติมน้ำต้นทุนให้เขื่อนกักเก็บน้ำ ระหว่างวันที่ 7 - 25 ต.ค. 2563 จำนวน 2 เขื่อนรวม 18.59 ล้าน ลบ.ม.
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (ตอนล่าง) ได้ขึ้นบินปฏิบัติการฝนหลวงจำนวนทั้งสิ้น 190 วัน มีวันฝนตกจากการปฏิบัติการฝนหลวงคิดเป็นร้อยละ 94.74 ขึ้นบินปฏิบัติงานจำนวน 1,136 เที่ยวบิน ภารกิจป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้ง มีพื้นที่การเกษตรที่ได้รับประโยชน์จากการปฏิบัติการฝนหลวง จำนวน 43.56 ล้านไร่ เติมน้ำต้นทุนให้เขื่อนกักเก็บน้ำ ระหว่างวันที่ 3 ก.พ. – 6 ต.ค. 2563 จำนวน 83 เขื่อนรวม 225,551 ล้าน ลบ.ม. 
ภาคตะวันออก ได้ขึ้นบินปฏิบัติการฝนหลวงจำนวนทั้งสิ้น 155 วัน มีวันฝนตกจากการปฏิบัติการฝนหลวงคิดเป็นร้อยละ 96.08 ขึ้นบินปฏิบัติงานจำนวน 618 เที่ยวบิน ภารกิจป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้ง มีพื้นที่การเกษตรที่ได้รับประโยชน์จากการปฏิบัติการฝนหลวง จำนวน 18.81 ล้านไร่ เติมน้ำต้นทุนให้เขื่อนกักเก็บน้ำ ระหว่างวันที่ 3 ก.พ. – 6 ต.ค. 2563 จำนวน 30 เขื่อนรวม 70.069 ล้าน ลบ.ม. 
ภาคใต้ ได้ขึ้นบินปฏิบัติการฝนหลวงจำนวนทั้งสิ้น 169 วัน มีวันฝนตกจากการปฏิบัติการฝนหลวงคิดเป็นร้อยละ 92.68 ขึ้นบินปฏิบัติงานจำนวน 433 เที่ยวบิน ภารกิจป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้ง มีพื้นที่การเกษตรที่ได้รับประโยชน์จากการปฏิบัติการฝนหลวง จำนวน 33.75 ล้านไร่ ภารกิจบรรเทาปัญหาหมอกควันและไฟป่าช่วยเหลือทั้งสิ้น 4 จังหวัด ได้แก่ เพชรบุรี ราชบุรี นครศรีธรรมราช นราธิวาส เติมน้ำต้นทุนให้เขื่อนกักเก็บน้ำ ระหว่างวันที่ 3 ก.พ. – 6 ต.ค. 2563 จำนวน 20 เขื่อนรวม 193.615 ล้าน ลบ.ม.
อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าขณะนี้ประเทศไทยจะกำลังเข้าสู่ฤดูแล้งและส่งผลให้สภาพอากาศไม่เอื้ออำนวยต่อการทำฝนหลวงแล้ว กรมฝนหลวงและการบินเกษตร จะยังคงวางแผนการปฏิบัติการและหาแนวทางในการช่วยเหลือพี่น้องประชาชน โดยมีการวางแผนจัดตั้งหน่วยเคลื่อนที่เร็วเพื่อปฏิบัติการบรรเทาปัญหาหมอกควันและไฟป่า ยับยั้งการเกิดพายุลูกเห็บ การป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้ง และการเติมน้ำต้นทุนให้กับเขื่อนกักเก็บน้ำ ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2563 - 31 มกราคม 2564 โดยมีอากาศยานของกรมฝนหลวงและการบินเกษตร เตรียมพร้อมสำหรับการปฏิบัติการ จำนวน 4 ลำ เพื่อเร่งช่วยแก้ไขปัญหาให้กับพี่น้องเกษตรกรและประชาชนให้ได้รับผลกระทบน้อยที่สุด อันจะเป็นการดำเนินงานตามพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อทรงสืบสาน รักษา ต่อยอด โครงการฝนหลวง ในการบำบัดทุกข์บำรุงสุขแก่ราษฎรต่อไป

 

ภาพและวีดีโอ