เปลี่ยนการแสดงผล
#เมื่อฉันเดินเข้าป่า...พบหลิน หลง
3 มกราคม 2564 200 ครั้ง

#เมื่อฉันเดินเข้าป่า...พบหลิน หลง

  "...การปลูกป่า 3 อย่าง แต่ให้ประโยชน์ 4 อย่าง ซึ่งได้ไม้ผล ไม้สร้างบ้าน และไม้ฟืนนั้น สามารถให้ประโยชน์ได้ถึง 4 อย่าง คือ นอกจากประโยชน์ในตัวเองตามชื่อแล้ว ยังสามารถให้ประโยชน์อันที่ 4 ซึ่งเป็นข้อสำคัญ คือ สามารถช่วยอนุรักษ์ดินและต้นน้ำลำธารด้วย..."

พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร
เมื่อวันที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2523ณ โรงแรมรินคำ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ ด้วยพระอัจฉริยภาพของพระองค์ท่านทำให้คนอยู่ร่วมกับป่าอย่างมีความสุข... เมื่อทีมงานของกรมฝนหลวงฯได้ลงพื้นที่ต.แม่พูล อ.ลับแล จ.อุตรดิตถ์ ได้พบกับแหล่งผลิตผลไม้ร่วมกับพื้นที่ป่าอันเลื่องชื่อในนาม "หลิน"หลง" และเป็นวิถีการดำรงชีวิตของชาวบ้านถิ่นนี้ตามพระราชดำรัสในหลวงรัชกาลที่9 "การปลูกป่า 3 อย่าง แต่ให้ประโยชน์ 4 อย่าง" 
ด้วยหลินและหลงเป็นทุเรียนที่นี่มีขนาดผลไม่ใหญ่มากนัก เนื้อละเอียด รสชาติหวานมัน และกลิ่นไม่แรง จึงเป็นที่นิยมของผู้บริโภคทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ ทำให้ราคาค่อนข้างแพง
แต่ไม่ใช่เพียงทุเรียนเท่านั้นที่ขึ้นชื่อยังมีลองกองและลางสาดที่มีกลิ่นหอม รสชาติหวานอมเปรี้ยวกลมกล่อมเป็นเอกลักษณ์อีกด้วย เรียกว่าผลไม้ถิ่นนี้ถือเป็นผลไม้GI หรือผลไม้ที่บ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ หากผู้ใดได้ลิ้มชิมรสผลไม้ของเมืองลับแลเป็นอันต้องหลงใหล ไปกับเสน่ห์ของเมืองลับแลที่ยังมีอาหารพื้นบ้านที่เป็นเอกลักษณ์โดดเด่นเฉพาะถิ่นอีกนั่นคือ"ข้าวแคบ"
ข้าวแคบ เป็นแผ่นแป้งบางๆที่ได้จากการไล้น้ำแป้งที่ผสมงาดำ เกลือ หรือเครื่องปรุงรสอื่นๆ ลงบนผ้าสีขาวหรือสีดำที่วางบนปากหม้อดินขณะที่มีไอน้ำเดือดเหมือนการทำข้าวเกรียบปากหม้อ โดยแผ่นแป้งที่ได้มีลักษณะเป็นวงกลมเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 7-8 นิ้ว เมื่อแผ่นแป้งสุกแล้วนำไปตากแดดจะได้ “ข้าวแคบแห้ง” สามารถฉีกทานได้เลย หรือจะนำไปพันผัก พันไข่ พันหมี่ ฯลฯ ได้ตามความต้องการ ชาวลับแลในอดีตจะใช้เป็นอาหารเวลาออกไปทำไร่ ไถนา เพื่อจะได้ไม่เสียเวลาในการจัดหาอาหารมากนัก
กลับมาที่ดงทุเรียน ลองกอง และลางสาดในดงป่าต.แม่พูล กันดีกว่า...
นายฤทธิชัย ขำคง หรือ พี่เอก อาสาสมัครฝนหลวง จ.อุตรดิตถ์ และเป็นอาสาสมัครฝนหลวงดีเด่นประจำภาคเหนือตอนล่างประจำปี 2563 ร่วมกับท่านกำนันบุญส่ง ณะสิงห์และท่านนายกจรูญ ปัญญายงค์ นายก อบต.ต.แม่พูล ได้นำทีมพวกเราลงสำรวจพื้นที่ โดยการเดินเท้าตามเส้นทางรถจักรยานยนต์ที่ชาวบ้านแถบนี้ใช้เป็นพาหนะในการเข้าถึงพื้นที่และลำเลียงผลผลิต เป็นเพียงเส้นทางกว้างประมาณ 60-80 ซม. แถมคดเคี้ยว เรียกว่าขับรถจักรยานยนต์ไม่แข็งก็เตรียมตัวคว่ำตกเขาแน่นอน
ระหว่างเดินไปตามทางสมารถสังเกตเห็นต้นทุเรียน ลองกอง และลางสาด ปลูกเรียงราย แซมไปกับไม้ป่าขนาดใหญ่ ตามพื้นที่ลาดชันของหุบเขา และมีต้นเพชรชมพูขึ้นแซมอยู่บ้าง 
จากการสอบถามกับพี่ๆที่นำทีมพวกเรา ทำให้ทราบว่าต้นเพชรชมพูนั้นเป็นพืชที่ปลูกง่าย เพียงแค่นำกิ่งไปปักชำ และเป็นพืชที่ทนแล้งได้ดี แถมดอกยังทานได้อีกด้วย ชาวบ้านแถบนี้จึงนิยมนำมาปลูกเป็นการแบ่งเขตที่ดินบ้าง นำมาปลูกคู่กับต้นไม้ที่ปลูกใหม่บ้างเพื่อเป็นจุดสังเกตในเวลากำจัดวัชพืชเพราะต้นเพชรชมพูมีใบสีชมพูแกมเขียวเรียวยาวสังเกตได้ง่าย นับว่าเป็นภูมิปัญญาของคนพื้นที่นี้
การเดินเท้าสำรวจครั้งนี้ใช้เวลาค่อนข้างนานเนื่องจากทางค่อนข้างลาดชันและคดเคี้ยวไปมาเป็นระยะทางกว่าหนึ่งกิโลเมตร จากจุดบนสุดจนถึงลำธารน้ำเล็กๆที่ใสไหลรินเอื่อยๆที่เป็นแหล่งน้ำต้นทุนบนผิวดินเพียงแหล่งเดียวที่ชาวบ้านแถบนี้จะสร้างฝายชั่วคราวขนาดเล็กๆความยาวไม่เกิน 2 เมตร เพื่อจะได้มีปริมาณน้ำที่จะพอสูบขึ้นไปรดต้นไม้เหล่านั้นได้ ซึ่งเป็นระยะความสูงกว่า 100 เมตร แต่ก็ใช่ว่าชาวสวนทุเรียนในบริเวณนี้จะสามารถสูบน้ำจากลำธารเล็กๆเหล่านี้มาใช้ได้ทุกแปลง
จากการที่พื้นที่สวนผลไม้อันเลื่องชื่อแถบนี้เป็นพื้นที่เกษตรอาศัยน้ำฝน หากในปีใดที่มีปริมาณฝนน้อย หรือฝนทิ้งช่วงเป็นเวลานานย่อมทำให้เกิดความเสียหายต่อผลผลิต หรือเสียหายจนถึงขนาดไม้ยืนต้นตาย
ดังนั้นปัจจัยที่สำคัญในพื้นที่นี้ก็คือน้ำ แต่น้ำที่ชาวบ้านในพื้นที่นี้คาดหวังมากก็คือฝนหลวง เพื่อช่วยบรรเทาความแห้งแล้งในช่วงที่มีปริมาณฝนน้อยหรือฝนทิ้งช่วง
หลังจากการเดินสำรวจพื้นที่จนถึงลำธารและแทบไม่อยากกเดินกลับขึ้นมาเพราะความสูงชันของพื้นที่ แต่พวกเราก็ไม่ย่อท้อ ระหว่างเดินกลับขึ้นมาก็ได้ร่วมหารือกับพี่เอก อาสาสมัครฝนหลวงของเราและชาวบ้านในแถบนี้ และเก็บรวบรวมข้อมูลสภาพปัญหาต่างๆในพื้นที่เพื่อใช้ประกอบในการวางแผนการช่วยเหลือโดยการทำฝนหลวงให้ได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดจากความร่วมมือระหว่างทีมนักล่าเมฆและชาวบ้านในพื้นที่ให้เป็นไปดั่งพระราชปณิธานของพระบิดาฝนหลวง...

เขียนโดย "ฟ้าโปรย"
#อยู่ร่วมกันแบบไม่เบียดเบียนย่อมเกิดความสุข

 

 

 

 

 

ภาพและวีดีโอ