เปลี่ยนการแสดงผล
วันพระไม่ได้มีหนเดียว
15 มกราคม 2564 2,076 ครั้ง
วันพระไม่ได้มีหนเดียว

“อะระหังสัมมา สัมพุทโธภะคะวา พุทธังภะคะวันตัง อะภิวาเทมิ ...” เสียงจากบทสวดมนต์ซึ่งเรามักได้ยินจากวัดในการประกอบพิธีทางศาสนกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวันธรรมสวนะ หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “วันพระ”  โดยปกติจะนับ วันขึ้น 8 ค่ำ แรม 8 ค่ำ วันขึ้น 15 ค่ำ แรม 15 ค่ำ ของทุกเดือน เป็นวันที่ชาวพุทธมาบำเพ็ญกุศลให้กับตนเอง   ในวันพระนั้นพุทธศาสนิกชนถือเป็นวันสำคัญ ที่ควรไปวัดเพื่อทำบุญ ถวายภัตตาหารแด่พระสงฆ์ และฟังธรรมหรือถือศีล สำหรับผู้ที่เคร่งครัดในศาสนาอาจถือศีลแปดในวันพระด้วย นอกจากนี้ชาวพุทธบางคนยังถือว่าวันพระไม่ควรทำบาปใดๆ ทำบุญตักบาตร ถือศีล ปฏิบัติธรรม ฟังพระธรรมเทศนา ปัดกวาดบ้านเรือนให้สะอาด งดการเที่ยวเตร่ ละเว้นอบายมุข ละเว้นการฆ่าสัตว์และบริโภคเนื้อสัตว์ในวันสำคัญทางพุทธศาสนา

  ถ้าพูดถึงวันพระแล้วย่อมต้องพูดถึงการสวดมนต์ด้วยเพราะเป็นของสำคัญคู่กัน สำหรับการสวดมนต์มีมานานมากแล้ว ถือว่าเป็นกิจกรรมที่ดีที่ปฏิบัติสืบทอดกันมาตั้งแต่โบราณ  และเป็นกิจกรรมที่ดีที่พุทธศาสนิกชนควรปฏิบัติ ซึ่งนับเป็นวิธีหนึ่งที่ทำให้เรามีความสุขขึ้นได้ โดยที่ในแต่ละวันเราต้องพบเจอกับเรื่องราวมากมาย ทั้งเรื่องที่ทำให้ชีวิตเป็นสุข ไปจนถึงเรื่องราวแย่ๆ ที่ทำให้ชีวิตวุ่นวาย เมื่อกลับถึงบ้านเราต่างก็ต้องการเวลาพักผ่อน อยากนอนหลับสบายเพื่อลืมเรื่องราวแย่ๆ การท่องบทสวดมนต์ก่อนนอนจะช่วยให้เรามีสมาธิ จิตใจสงบ ผ่องใส อีกทั้งยังเป็นการแผ่ส่วนบุญส่วนกุศลที่ได้ทำมาในแต่ละวันให้กับเพื่อนมนุษย์ หรือสรรพสัตว์ต่างๆ บนโลก เมื่อเรามีสมาธิ จิตใจเย็นลง จะทำให้เรานอนหลับสบาย ตื่นเช้ามาจะรู้สึกสดใส พร้อมที่จะสู้ไปกับงานได้อย่างมีความสุข ซึ่งในบทสวดมนต์นั้นไม่ว่าจะเป็นบทใดก็ตามล้วนแล้วแต่มีอานุภาพในตัวเองอยู่มากมาย อีกทั้งยังแฝงไปด้วยข้อคิดดีๆ ที่จะเป็นหลักนำทางให้เราดำเนินชีวิตในทุกๆ วันไปได้อย่างราบรื่น ฉะนั้น การสวดมนต์จึงเป็นเรื่องที่ดี ยิ่งปฏิบัติทุกวันก็จะส่งผลที่ดีในเรื่องของสมาธิ ปัญญา ทำให้ใจของเราสามารถพิจารณาเรื่องราวต่างๆ ได้อย่างละเอียด รอบคอบ และใจเย็นมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ในการสวดมนต์ก็มักจะมีพระประธานที่เราเคารพนับถือตั้งไว้ตรงกลางให้เด่นสง่าเป็นศูนย์รวมจิตใจให้เกิดสมาธิในการสวดมนต์เพื่อบรรลุถึงสิ่งที่ต้องการ ในสมัยพุทธกาลยังไม่มีการทำฝนเหมือนอย่างปัจจุบันนี้ ที่นครสาวัตถี แคว้นโกศล เกิดความแห้งแล้ง ฝนฟ้าไม่ตกต้องตามฤดูกาล พืชผลได้รับความเสียหาย ประชาชนขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค พระพุทธเจ้ามีพระประสงค์จะอนุเคราะห์แก่มหาชน พระพุทธองค์จึงทรงผ้าอาบน้ำฝนแล้วเสด็จไปประทับ ณ บันไดสระน้ำ ยกพระหัตถ์ขวาขึ้นกวักเรียกฝน พระหัตถ์ซ้ายรองรับน้ำฝน ทันใดนั้นบังเกิดมหาเมฆตั้งเค้าขึ้นพร้อมกันในทุกทิศานุทิศ ด้วยพุทธานุภาพและพระมหากรุณาต่อสรรพสัตว์ทั้งหลาย ฝนได้ตกลงมาเป็นอัศจรรย์ 
 
ต่อมาจึงได้มีการจัดสร้างพระปางขอฝนขึ้นเพื่อประกอบพิธีทางพระพุทธศาสนา "พระพุทธรูปปาง ขอฝน" นิยมเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า "ปางคันธาระ" หรือ ปางคันธาระเนื่องจากพระปางนี้สร้างขึ้นที่เมืองคันธาระเป็นครั้งแรก ราว พ.ศ.400 และผู้สร้างคือพระเจ้ามิลินทราชเป็นปฐมกษัตริย์ผู้ครองเมืองนี้ จึงเรียกชื่อพระปางนี้ตามชื่อเมืองว่า พระคันธาระ พุทธลักษณะของพระปางขอฝน จะเป็น 2 แบบ ได้แก่ พระพุทธรูปนั่งขัดสมาธิราบ พระหัตถ์ขวายกเสมอพระอุระในท่ากวัก พระหัตถ์ซ้ายวางหงายบนพระเพลาเป็นกิริยารับน้ำ ลักษณะพระพักตร์ค่อนข้างกลม พระขนงโก่ง พระเนตรเหลือบต่ำ พระนาสิกโด่ง พระโอษฐ์บางเรียว พระกรรณยาวเกือบจดพระอังสา ขมวดพระเกศาทำเป็นรูปก้นหอยเรียงตลอดถึงพระเมาลี พระรัศมีทำเป็นรูปดอกบัวตูม ครองจีวรห่มเฉียง เปิดพระอังสาขวามีริ้วผ้าที่ด้านหน้าองค์พระพุทธรูป รองรับด้วยฐานบัวคว่ำบัวหงายและฐานสิงห์  นอกจากนี้แล้วยังมีพระพุทธรูปปางขอฝนอีกปางหนึ่ง ลักษณะเป็นพระพุทธรูปปางขอฝนประทับยืนเหนือปัทมาสประกอบด้วยกลีบบัวหงาย ซ้อนสามชั้นและเกสรบัวเหนือก้านบัวและแผ่นพื้นน้ำที่มีฝูงปลากำลังแหวกว่ายอยู่เบื้องล่าง โดยพระหัตถ์ขวายกขึ้นราวพระอังสา ทำกิริยากวักเรียกฝน ส่วนพระหัตถ์ซ้ายหงายเป็นกิริยารองรับน้ำฝน ซึ่งพระพุทธรูปปางยืนนั้น กรมฝนหลวงและการบินเกษตรได้จำลองพุทธลักษณะมาประดิษฐานอยู่ที่ด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือของอาคารกรมในปัจจุบันนี้
  
ในส่วนของการปฏิบัติการฝนหลวงสิ่งสำคัญนั่นคือ ข้อมูลเชิงวิทยาศาสตร์โดยต้องมีความชื้นสัมพัทธ์ในอากาศมากกว่าร้อยละ 60 ขึ้นไป  ความชื้นสัมพัทธ์ที่ระดับการพัฒนาตัวของเมฆ และค่าดัชนีการยกตัวของอากาศ ทั้ง 3 ส่วนนี้ต้องมีความสัมพันธ์กันในอัตราส่วนที่เหมาะสมเพื่อใช้เป็นเกณฑ์ประกอบการตัดสินใจของนักวิทยาศาสตร์ที่จะขึ้นบินปฏิบัติการฝนหลวง โดยการทำฝนแต่ละครั้งก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเพราะเมื่ออยู่บนท้องฟ้า ณ สถานการณ์ปัจจุบันจะมีตัวแปรหลายอย่างที่อาจส่งผลให้การปฏิบัติการฝนหลวงไม่อาจสำเร็จได้ อาทิ ความเร็วลมที่เปลี่ยนไป ลักษณะของเมฆที่แตกตัวไม่เป็นกลุ่มก้อนไม่มีการพัฒนาตัวให้เอื้อต่อการทำงาน สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นส่วนสำคัญที่เจ้าหน้าที่ไม่สามารถคาดหมายได้
              
บางครั้งการทำงานที่มีอุปสรรคเหนือความคาดหมายที่ชาวฝนหลวงได้พบเจอก็ไม่อาจบั่นทอนความมุ่งมั่นที่พวกเราตั้งใจทำงานกันอย่างเต็มที่  เพราะพวกเราคิดเสมอว่า “วันพระไม่ได้มีหนเดียว” หลายคนคงคุ้นหูกับคำว่า "วันพระไม่ได้มีหนเดียว" ซึ่งเป็นสุภาษิตที่มีความหมายทั้งในเชิงบวกและลบ ในแง่บวก หมายถึง การให้กำลังใจ ไม่ให้รู้สึกท้อแท้ ถ้าวันนี้ทำไม่ได้ ก็ยังมีโอกาสให้แก้ตัวใหม่ได้ในวันข้างหน้า ส่วนในอีกแง่หนึ่ง หมายถึง การอาฆาตแค้นพยาบาทใช้เพื่อบอกว่า โอกาสหน้าข้าจะมาทำฝนให้สำเร็จจงได้ 


เขียนโดย "เจริญพร"
ภาพและวีดีโอ