เปลี่ยนการแสดงผล
#ชุมชนสะแกกรัง ความเพียงพอที่พอเพียง
31 มกราคม 2564 302 ครั้ง
#ชุมชนสะแกกรัง ความเพียงพอที่พอเพียง
ในสมัยโบราณคนไทยใช้ชีวิตผูกพันอยู่กับแม่น้ำลำคลองมาตลอด ด้วยภูมิประเทศบ้านเรามีสายน้ำเป็นจำนวนมาก การตั้งชุมชนสร้างบ้านเรือนจะเลือกทำเลใกล้แม่น้ำเพื่อสะดวกในการใช้แม่น้ำลำคลองเป็นทางสัญจร คมนาคมขนส่ง นอกจากนี้ยังใช้น้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคในชีวิตประจำวัน ใช้ทำการเกษตร และยังใช้เพื่อการกีฬาได้อีกด้วย
ในภาคกลางตอนบนของประเทศมีแม่น้ำสายเล็ก ๆ ชื่อ ‘#สะแกกรัง’ ที่เกิดจากเทือกเขาโมโกจู ในเขตอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ที่ไหลผ่านชุมชนจังหวัดอุทัยธานี แม่น้ำแห่งนี้เปรียบเสมือนเส้นเลือดใหญ่หล่อเลี้ยงชีวิตชาวอุทัยธานี ในอดีตเป็นแหล่งน้ำสำหรับชุมชนไว้ใช้อุปโภคบริโภค เป็นเส้นทางคมนาคมสายหลักสำหรับขนส่งสินค้าเกษตรไปสู่เมืองใหญ่ เป็นที่อยู่อาศัยของฝูงปลาและสัตว์น้ำตามธรรมชาติ เป็นที่ตั้งของเรือนแพที่สร้างคร่อมไว้บนแพลูกบวบไม้ไผ่ที่นับว่าเป็นชุมชนชาวแพแห่งสุดท้ายของประเทศ และเป็นแหล่งเลี้ยงปลาแรดในกระชังอันลือชื่อ และมีตรอกโรงยาที่เคยเป็นแหล่งสูบฝิ่นที่ถูกต้องตามกฎหมายก่อนที่รัฐบาลประกาศยกเลิกเมื่อปี 2500
มีเรื่องเล่ากันว่าในสมัยก่อนเมื่อพ่อค้าล่องเรือผ่านมาจะรู้ได้ว่าถึงบ้านสะแกกรังแล้ว ด้วยต้นสะแกออกดอกเล็ก ๆ ช่อยาวสีเขียวอมเหลืองห้อยลงมาริมน้ำ โดยเฉพาะในเดือนยี่ถึงเดือนสามจะสังเกตได้ชัดเจน
ริมน้ำสะแกกรังในเขตเทศบาลอุทัยธานี เป็นที่ตั้งของชุมชนซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวจีนที่ได้เดินทางเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เรื่อยมาจนถึงรัชกาลที่ 5 ชุมชนชาวจีนบ้านสะแกกรังเรียกชื่อเมืองตัวเองว่า ‘#เซ็กเกี๋ยกั้ง’ ซึ่งก็เป็นคำเรียกที่มาจากคำว่า ‘สะแกกรัง’ นั่นเอง ทุกวันนี้ผู้คนดังกล่าวยังคงรักษาวิถีชีวิต ศิลปวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณีและถ่ายทอดสู่รุ่นลูกรุ่นหลาน เช่น การเล่นดนตรีจีนล่อโก๊ว การเชิดสิงโตแคะ การเชิดเสือไหหลำ การทำขนมไหว้เจ้า การแห่เจ้า 4 ศาลที่ประจำอยู่ตามมุมเมือง โดยก่อนวันแห่เจ้าพ่อเจ้าแม่หนึ่งวันจะมีนายอำเภอขี่ม้าตรวจเมืองพรมน้ำทับทิมทั่วเมือง แม้ปัจจุบันวิวัฒนาการ ศิลปะวัฒนธรรมสมัยใหม่จะเข้ามาในเมืองอุทัยธานีมากขึ้น แต่วัฒนธรรมประเพณีเหล่านี้ยังคงอยู่ในพื้นที่อย่างต่อเนื่องด้วยคนรุ่นใหม่ที่ออกไปเรียนหนังสือได้กลับเข้ามาช่วยสานต่อกิจการค้าขายที่บ้านตนเอง หลายคนก็กลับมาทำงานเป็นครู หมอ พยาบาลรับใช้บ้านเกิด และช่วยสืบสานวัฒนธรรมประเพณีดั้งเดิมที่เคยปฏิบัติกันมา
ความผูกพันกับแม่น้ำสะแกกรังสำหรับตัวเองที่เกิดในเมืองอุทัยนั้น ตั้งแต่จำความได้ก็เห็นแม่น้ำสะแกกรังและมีกิจกรรมที่ผูกพันกับแม่น้ำแห่งนี้มาโดยตลอด ภาพที่เห็นแต่ละวันตอนรุ่งสางคือพระสงฆ์พายเรือออกมาบิณฑบาตเวลาที่ติดตามพี่สาวไปซักผ้าที่ตีนท่า (ริมแม่น้ำ) บ่อยครั้งที่ได้ไปยืนอยู่บนเรือขนส่งสินค้าเพื่อนับไม้ติ้วเวลาจับกังแบกกระสอบพืชผลทางการเกษตรลงเรือไปส่งยังท่าเรือกรุงเทพฯ เพื่อจะได้รู้ว่าขนลงเรือไปกี่กระสอบแล้ว (ไม้ติ้วคือไม้ใช้นับจำนวน ทำจากไม้ไผ่เล็ก ๆ เหลาลื่นขนาดเท่ากับไม้ติ้วในกระบอกเซียมซี) เคยไปเดินหิ้วตะกร้าเดินตามแม่ไปตลาดเช้าริมแม่น้ำสะแกกรังใกล้บ้าน ด้วยเพราะสมัยก่อนบ้านเราไม่มีตู้เย็น ผักปลาอาหารจึงซื้อแค่พอกินในแต่ละวัน กับข้าวที่เหลือก็จะอุ่นเก็บไว้ในตู้กับข้าว ถึงบ้านเราไม่มีทีวีให้ดูแต่ความที่เราติดหนังญี่ปุ่นช่วงวันหยุดเรื่องเกี่ยวกับวอลเล่ย์บอลคือยอดหญิงชิงชัยกับหนังการ์ตูนหน้ากากเสือ เมื่อถึงเวลาก็ขอทางบ้านไปกับพี่ชายไปอาศัยยืนดูหน้าร้านกาแฟริมน้ำสะแกกรังที่มีอาแปะ อาเฮียทั้งหลายกินกาแฟคุยแข่งกับเสียงทีวี พอเสียงดังมากเข้าเราก็แทบจะขยับไปนั่งจ้องหน้าทีวี ซึ่งเจ้าของร้านก็ใจดีไม่ว่าอะไรเพราะรู้ว่าเป็นลูกหลานใคร เพียงแต่เราต้องไม่ไปเกะกะเขาเท่านั้น ในเวลานั้นก็ไม่ได้รู้สึกว่าชีวิตยากลำบากอะไร กลับรู้สึกสนุกสบายเสียอีกที่ได้ทั้งเรียนหนังสือและช่วยทำงานที่บ้านซึ่งเป็นการสอนให้เราไม่เป็นคนเกียจคร้านและสามารถทำงานหลายอย่างได้พร้อม ๆ กัน พอพลบค่ำลงเมืองอุทัยก็เงียบสงบ ชาวบ้านต่างปิดประตูบ้านปิดไฟนอนกันหมด ภาพอดีตจากวันนั้นถึงวันนี้ชุมชนริมแม่น้ำสะแกกรังยังคงเป็นแหล่งชุมชนหลักของคนอุทัยธานี สายน้ำยังคงไหลเอื่อย ๆ อย่างสงบนิ่ง ไม่ว่าเราจะไปเรียน ไปทำงานอยู่ที่ไหน เมื่อกลับมาบ้านก็ยังรักที่ขี่รถมอเตอร์ไซด์มาแวะเยี่ยมเยีอนสิ่งที่รอคอยเราอยู่ตลอดเวลา
ด้วยการดำรงชีวิตเรียบง่ายและธรรมชาติที่หล่อเลี้ยงชีวิตผู้คนแห่งนี้ ทำให้คนอุทัยธานีที่เป็นคนที่รักสงบ คำว่าในน้ำมีปลา ในนามีข้าว สำหรับคนอุทัยแล้วใช่เลย อุทัยมีข้าวปลาอาหารอุดมสมบูรณ์ ผู้คนมีชีวิตความเป็นอยู่สุขสบายพอมีพอกิน คนส่วนใหญ่ทำมาหากินได้ไม่ลำบากนัก ด้วยชุมชนริมน้ำสะแกกรังเป็นเมืองเล็ก ๆ ผู้คนรู้จักกันแทบทุกบ้าน เดินไปที่ไหนก็รู้จักกันไม่ต้องกลัวอันตราย มีการทักทายกันช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เมื่อโตขึ้นได้มีโอกาสเรียนรู้ถึงปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทำให้นึกย้อนกลับไปถึงบ้านเกิดเมืองอุทัยว่านี่เลยคือความเพียงพอที่พอเพียง คนอุทัยดำเนินชีวิตด้วยความพอเพียงทำให้สามารถอยู่ได้อย่างมีความสุข มีความพอประมาณไม่เบียดเบียนหากแต่อาศัยพึ่งพาซึ่งกันและกัน ความมีเหตุผลและภูมิคุ้มกันที่พึ่งพาตนเองไม่ต้องพึ่งพาจากแหล่งภายนอกเพียงอย่างเดียว สิ่งเหล่านี้ได้หล่อหลอมจิตใจและความคิดให้ผู้คนในชุมชนสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างมีความสุขที่แท้จริงและยั่งยืน
เขียนโดย "ฝนหยาดสุดท้าย"
ภาพและวีดีโอ