เปลี่ยนการแสดงผล
#ไทยร่วมไทยร่วมรบภัยแล้ง
1 กุมภาพันธ์ 2564 195 ครั้ง
#ไทยร่วมไทยร่วมรบภัยแล้ง
ในสมัยโบราณก่อนที่จะมีการยกทัพออกศึก จะต้องมีการเตรียมความพร้อมทั้งการระดมสรรพกำลัง การฝึกกำลังพลให้มีความพร้อมทั้งร่างกายและจิตใจ พร้อมทั้งต้องสะสมเสบียงอาหาร เสบียงอาวุธยุทโธปกรณ์ เพื่อจะเผด็จศึกพิชิตศัตรูให้สิ้นซาก

เมืองไทยของเรานั้นก็ผ่านการสู้รบเผด็จศึกกันมาหลายครั้งหลายครากับเพื่อนบ้าน และชาวฝรั่งมังค่าเพื่อรักษาเอกราชและดินแดนอธิปไตย ตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัย กรุงศรีอยุธยา กรุงธนบุรี จนกระทั่งสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ แต่พระมหากษัตริย์ไทยทรงมีพระปรีชาสามารถ และกล้าหาญเป็นอย่างมาก ทรงเป็นแม่ทัพในการทำศึกด้วยพระองค์เอง จนรอดพ้นจากการเป็นเมืองขึ้นมาครั้งแล้วครั้งเล่า แต่แล้วยุคสมัยเปลี่ยนไป การล่าอาณานิคมหรือการแสวงหาเมืองขึ้นเริ่มหมดไป แต่ศัตรูที่ยังคงมีอยู่ตั้งแต่อดีตมาจนถึงปัจจุบันนั่นก็คือศัตรูที่มากับธรรมชาติที่ส่งผลกระทบต่อพืชผลทางการเกษตร

#ศัตรูตัวฉกาดตัวหนึ่งก็คือภัยแล้ง...

แต่บ้านเราช่างโชคดีที่มีพระมหากษัตริย์เกษตรผู้ยิ่งใหญ่พระนามว่า "พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร" ทรงคิดค้น ทดลอง จนได้ตำราพิชัยสงครามภัยแล้งนามว่า"ตำราฝนหลวงพระราชทาน" อีกทั้งโครงการพระราชดำริน้อยใหญ่มากมาย และพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสืบสาน รักษา และต่อยอด

กรมฝนหลวงและการบินเกษตรได้น้อมนำตำราฝนหลวงพระราชทานมาปฏิบัติเพื่อช่วยบรรเทาปัญหาภัยแล้งในพื้นที่การเกษตร การบรรเทาไฟป่าและหมอกควัน การสลายฝุ่นละอองขนาดเล็กในอากาศ การบรรเทา และยับยั้งพายุลูกเห็บ ตลอดจนการเติมน้ำต้นทุนให้เขื่อนต่างๆกองทัพฝนหลวงได้เตรียมสรรพกำลังกันอย่างเต็มที่เพื่อพร้อมสู้ศึกภัยแล้งในปี 2564 นี้...

ขุนพลช่างอากาศยานและช่างไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ ได้เร่งซ่อมบำรุงอากาศยานซึ่งเป็นพาหนะสำคัญที่จะนำทีมเหล่าขุนศึกทหารกล้าของพระบิดาแห่งฝนหลวงไปปราบภัยที่เกิดจากธรรมชาติทั้งหลายที่กล่าวมาแล้ว ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2563 ทำให้ณ วันนี้อากาศยานของเรามีความพร้อมที่จะทะยานขึ้นสู่น่านฟ้าอย่างเต็มที่ เหล่านักบินผู้กล้าของพวกเราก็ได้ฝึกฝนเพิ่มพูนความรู้ และทักษะในการบินเพื่อจะนำแม่ทัพ"นักวิทยาศาสตร์"ขึ้นไปพิชิตเมฆให้ตกมาเป็นฝนลงในพื้นที่ที่ศัตรูจากภัยธรรมชาติกำลังมุ่งทำร้ายพี่น้องเกษตรกรของเราอยู่

ในขณะที่กองกำลังเสริมจากส่วนกลางที่คอยจัดหาเสบียงอาวุธ"สารฝนหลวง"ชนิดต่างๆตามตำราฝนหลวงพระราชทานให้เพียงพอมิให้ขาดมือ พวกเราได้แบ่งกำลังพลออกสู้รบตามหัวเมืองหลักต่างๆออกเป็น 7 แห่งได้แก่ ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคเหนือตอนบน(เชียงใหม่) ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคเหนือตอนล่าง(พิษณุโลก) ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคกลาง(นครสวรรค์) ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน(ขอนแก่น) ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง(บุรีรัมย์) ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคตะวันออก(ระยอง) และศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคใต้(สุราษฎร์ธานี) 

ในบรรดากองกำลังหัวเมืองหลักของเรายังวางกลยุทธกระจายตีข้าศึก โดยแบ่งกำลังรบออกไปตามหัวเมืองรองได้แก่ เชียงใหม่ ตาก พิษณุโลก นครสวรรค์ กาญจนบุรี อุดรธานี(ขอนแก่นเป็นหน่วยเสริม) บุรีรัมย์ ระยอง ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 เป็นต้นไป เพื่อพิชิตภัยที่มาจากธรรมชาติได้แก่ ไฟป่า หมอกควัน ฝุ่นละอองขนาดเล็ก ความแห้งแล้งในพื้นที่การเกษตร และเขื่อนที่แห้งเหือด ให้ราบคราบ

หลังจากวันที่ 1 มีนาคม 2564 เป็นต้นไปเราจะมีการปรับกลยุทธ์ในการเพิ่มเติมกำลังพลในหัวเมืองรองอีกเช่น แพร่ ลพบุรี จันทบุรี สระแก้ว สุรินทร์ นครราชสีมา อุบลราชธานี ขอนแก่น ราชบุรี หัวหิน ชุมพร สุราษฎร์ธานี สงขลา ขึ้นกับว่าอริราชศัตรูทั้งหลายแหล่จะบุกรุกมาพื้นที่แห่งหนใด พวกเราขอประกาศให้ก้องปฐพีว่า "พวกเราไม่ย่อท้อต่อการศึกครั้งนี้เป็นแน่แท้" เพราะพวกเรายังมีแนวร่วม จากเหล่าพี่น้องอาสาสมัครฝนหลวงที่คอยเป็นกองหนุนกระจายกำลังกันคลุมทั่วทุกหัวระแหงเพื่อช่วยให้การข่าวแก่พวกเราเป็นอย่างดีด้วยความรักและสามัคคีเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน

อีกทั้งพวกเราขอเชิญชวนพี่น้องชาวไทยทุกคนร่วมกันรณรงค์การไม่เผาเพื่อจะได้ไม่กลายไปเป็นการร่วมมือกับเหล่าศัตรูที่จะสร้างหมอกควันและฝุ่นละอองในอากาศมาทำร้ายพวกเรากันเอง และโปรดร่วมกันใช้น้ำอย่างรู้คุณค่า ยิ่งจะทำให้ชาวโลกและเหล่าศัตรูได้รับรู้ว่า"พลังสามัคคีของพวกเราชาวไทยนั้นมีมากมายขนาดไหน มาช่วยกันพิสูจน์ให้เห็นถึงกิตติศัพท์เรื่อง "#ความสามัคคีและความกล้าหาญ" ของพวกเราที่เลื่องลือมาตั้งแต่อดีตว่า "ไทยนี้รักสงบ...แต่ถึงรบไม่ขลาด" และเป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ "เมืองไทยนี้ดี...เรารักเมืองไทย"
เขียนโดย "หลงเมฆ"
ภาพและวีดีโอ