เปลี่ยนการแสดงผล
#ข้าวไทย
3 กุมภาพันธ์ 2564 1,943 ครั้ง
#ข้าวไทย

“ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว” ประโยคคล้องจองคุ้นหูที่ถูกบันทึกไว้ในศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหงมหาราช และชื่อเพลงที่เราหลายคนคงเคยได้ยินกันมานี้ ได้สื่อถึงความอุดมสมบูรณ์ของเมืองสยามหรือประเทศไทย
ที่มีการประกอบอาชีพทำเกษตรกรรม ทำไร่นา พืชผลต่างๆ เลี้ยงสัตว์ ทำการประมง สร้างอาชีพและรายได้ให้กับประชาชนคนไทยได้มีกิน มีใช้ตามวิถี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ข้าวไทย” ที่ได้สร้างชื่อเสียงของประเทศไทยไปยัง

ทั่วโลกให้ได้รับรู้ว่า ประเทศไทยเป็นแหล่งอู่ข้าวอู่น้ำสำคัญของโลกอีกแห่งหนึ่งมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน
ข้าวไทย เป็นอาหารหลักของคนไทยมาอย่างช้านาน เป็นพืชที่มีการเพาะปลูกมากกว่าชนิดอื่นๆ ในประเทศ นิยมปลูกที่บริเวณภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือ และภาคใต้ แบ่งตามฤดูปลูกตามที่เราเรียกกันว่า ข้าวนาปีและข้าวนาปรัง โดยข้าวนาปีหรือข้าวนาน้ำฝน คือข้าวที่ปลูกในฤดูการทำนาปกติ เริ่มตั้งแต่เดือนพฤษภาคมถึงตุลาคม เก็บเกี่ยวเสร็จสิ้นไม่เกินเดือนกุมภาพันธ์ ส่วนข้าวนาปรัง คือข้าวที่ปลูกนอกฤดู

การทำนาปกติ เริ่มตั้งแต่เดือนมกราคม และจะเก็บเกี่ยวอย่างช้าที่สุดไม่เกินเดือนเมษายน นิยมปลูกในพื้นที่ที่มีการชลประทานดี และข้าวไทยนี้ก็มีหลากหลายสายพันธุ์ให้เราได้เลือกรับประทาน เช่น ข้าวหอมมะลิ ข้าวกล้อง ข้าวเหนียว ข้าวไรซ์เบอร์รี่ เป็นต้น ซึ่งแต่ละชนิดมีความอร่อยแตกต่างกัน แต่ให้คุณประโยชน์ที่ดีต่อร่างกาย

และนอกจากที่เราจะบริโภคข้าวเป็นอาหารหลักโดยตรงแล้วนั้น ข้าวไทยยังสามารถนำมาแปรรูปหรือใช้ทำเป็น
ขนมไทย เช่น ลอดช่อง ขนมตาล ขนมกล้วย ทำเป็นแป้งข้าวเหนียว แป้งข้าวเจ้า หรือทำเป็นเส้นก๋วยเตี๋ยวได้อีกด้วย และไม่เพียงแต่เป็นอาหารหลักหรือเป็นอาหารแปรรูปชนิดต่างๆ ที่อยู่คู่กับชีวิตของคนไทยเท่านั้น ข้าวไทย ยังมีความผูกพันกับวิถีชีวิตคนไทยมาตั้งแต่สมัยอดีต คือการใช้วัวควายในการไถนา การใช้แรงงานคน

ในการลงแรงทำการปลูกข้าวและเกี่ยวข้าว ซึ่งก่อเกิดเป็นวัฒนธรรมและประเพณีอันดีงามของไทยที่เรียกว่า
การลงแขกเกี่ยวข้าว แสดงถึงความสามัคคี ความมีน้ำใจของเกษตรกรและชาวบ้านที่ช่วยกันเกี่ยวข้าวให้ทันฤดูกาล และทำให้มีการละเล่นร้องรำต่างๆ เกิดขึ้นตามมา เช่น เพลงเกี่ยวข้าว เพลงเต้นกำรำเคียว รวมไปถึงการฟัดข้าว ตีข้าว ตำข้าวตามแต่ละท้องถิ่น หรือการสีข้าวในโรงสีในปัจจุบัน จนได้มาเป็นข้าวสาร ผลผลิตที่มีคุณภาพ สร้างมูลค่าให้กับพี่น้องเกษตรกรและรายได้ให้กับประเทศไทยอย่างมหาศาล

นอกจากนี้แล้ว ข้าวไทย ยังมีความสำคัญในด้านความเชื่อทางพิธีกรรมมาตั้งแต่สมัยโบราณจนถึงในปัจจุบัน โดยเป็นประจำทุกปีที่ประเทศไทยของเราจะมีพระราชพิธีอันเป็นมงคลแห่งการเริ่มต้นฤดูกาลเพาะปลูก คือ พิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ซึ่งจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี ณ บริเวณท้องสนามหลวง เพื่อสร้างขวัญกำลังใจแก่เกษตรกรของชาติ พระราชพิธีอันเป็นมงคลยิ่งนี้ ได้เริ่มมีขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 เรื่อยมาจนถึงในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 รัชกาลปัจจุบัน โดยพระมหากษัตริย์ทุกพระองค์ได้ทรงประกอบพระราชพิธีอันสำคัญนี้ด้วยพระองค์เอง ซึ่งนับเป็นสิริมงคลและพระมหากรุณาธิคุณแก่เกษตรกรของชาติและพวกเราปวงชนชาวไทยอย่างหาที่สุดมิได้

กว่าจะได้มาเป็นข้าวไทยแต่ละเม็ด เกษตรกรต้องผ่านขั้นตอนความยากลำบากด้วยความตั้งใจประกอบอาชีพ เพื่อให้ได้มาซึ่งผลผลิตที่มีคุณภาพให้กับพวกเราชาวไทยและชาวโลกได้รับประทาน อีกทั้งข้าวไทยแต่ละเม็ดนี้ ก็ยังอุดมไปด้วยคุณค่าทางอาหารจากผืนแผ่นดินประเทศไทย คุณค่าทางวัฒนธรรมประเพณีที่ดีงาม ความรักของพระมหากษัตริย์ ความรัก ความสามัคคีของเกษตรกรไทย และเป็นสิ่งสำคัญที่เราชาวไทยภาคภูมิใจ
ที่มี “ข้าวไทย” เป็นมรดกล้ำค่าของแผ่นดินแม่แห่งนี้เสมอมา...

เขียนโดย "พุดพิชญา"
ภาพและวีดีโอ