เปลี่ยนการแสดงผล
ทีมเวิร์คฝนหลวง
18 เมษายน 2564 155 ครั้ง
ทีมเวิร์คฝนหลวง
ก้าวแรกที่ย่างเข้าสู่รั้วสีเขียว จิตใจพองโตเต็มไปด้วยความตื่นเต้นและกระตือรือร้นที่จะได้มาเป็นลูกนนทรี สระน้ำหน้าหอประชุมมหาวิทยาลัยดูสวยงามยิ่งนัก ตึกหอประชุมก็ดูงามสง่าและที่ตรงนั้นมีโต๊ะของพี่ ๆ รอรับน้องใหม่ตั้งอยู่เรียงรายเป็นแถว ข้าพเจ้าเดินไปหาชื่อคณะของตัวเองและรายงานตัวเป็นนิสิตใหม่ และได้ยินพี่ที่โต๊ะบอกว่าน้องอยู่ Sec 2 นะ ตอนนั้นหูอื้อตาลายจะอยู่ Sec อะไรก็ช่างเถอะ พอเริ่มเรียนเข้าจริงพี่ ๆ ก็บอกว่า Sec มาจากคำว่า Section หมายถึงกลุ่มของนิสิตที่มีตารางเรียนเหมือนกัน เพราะคณะเรามีนิสิตใหม่จำนวนมากจึงต้องจัดตารางเรียนวิชาหลักให้ พวกเราที่อยู่ใน Sec เดียวกันก็เลยสนิทกัน เย็นลงก็นั่งคุยกันที่คณะจนค่ำประเภทว่าไม่มีแสงจันทร์ส่องทางก็กลับบ้านไม่ถูก ยิ่งพอได้ฝึกเล่นเทนนิสและเข้าชมรมด้วยแล้ว ทำให้ต้องบริหารเวลาอย่างเต็มความสามารถเพราะต้องแบ่งเวลาเล่นกับเวลาเรียนให้สมดุล บางทีก็เล่นเพลินไม่ทันไปเข้าเรียน หรือไปเรียนทั้งที่ชุดนิสิตเต็มไปด้วยเหงื่อจนต้องไปนั่งหลังห้องด้วยเกรงใจเพื่อน ชีวิตในรั้วสีเขียวเต็มไปด้วยความสนุกสนานมีชีวิตชีวา จนอาจกล่าวได้ว่าเป็นช่วงที่มีความสุขที่สุดในชีวิตของการเรียนหนังสือ
การใช้เวลาอยู่กับการเรียนในคณะเกษตร ซึ่งเป็นคณะที่อาจกล่าวได้ว่าจบแล้วไปทำงานได้หลากหลายไม่ว่าจะเป็นการประกอบอาชีพส่วนตัว รับราชการ หรือเอกชน นิสิตต้องเรียนวิชาพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ในปี 1 ครบถ้วนเหมือนเรียนมัธยมอีกครั้งแต่ลึกซึ้งกว่า และเริ่มเลือกสาขาวิชาที่สนใจในปีที่ 2 สำหรับคนที่เลือกเรียนด้านพืชต้องเรียนพื้นฐานทางพืช ซึ่งตอนที่เรียนก็ไม่เข้าใจว่าทำไมต้องเรียนรู้ขบวนการต่าง ๆ ภายในต้นพืช เช่น การสังเคราะห์แสง การหายใจ การคายน้ำ เป็นต้น พอจบมาทำงานจึงเข้าใจแล้วว่าสิ่งเหล่านั้นเป็นสิ่งที่จำเป็นในการอธิบายปรากฎการณ์ต่าง ๆ ของพืช และสภาวะแวดล้อมที่มีผลต่อพฤติกรรมของพืช
เมื่อจบการศึกษาเริ่มทำงานในหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับเกษตร ได้รับการถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์การทำงานจากพี่ ๆ ตลอดจนวิธีคิด การพัฒนางาน และแก้ปัญหาที่ผ่านเข้ามา ทำให้เรียนรู้ว่าในชีวิตการทำงานคนเราต้องอาศัยหรือช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ไม่มีใครเก่งไปหมดทุกอย่าง ดังนั้น ในแต่ละหน่วยงานจึงมีนักวิชาการหลากหลายสาขาวิชาทำงานร่วมกันเป็นทีมโดยประสานความเชื่อมโยงระหว่างสาขาวิชาทั้งด้านพืช ปฐพีวิทยา โรคพืช กีฏวิทยา เกษตรกลวิธาน ฯลฯ ให้เป็นองค์รวมที่ประสานกันและสอดคล้องกัน
การทำงานร่วมกันเป็นทีมสามารถใช้ได้ในทุกวงการ แม้กระทั่งด้านการปฏิบัติการฝนหลวงที่ต้องอาศัยความรู้หลายด้าน ทั้งด้านเมฆฟิสิกส์ คณิตศาสตร์ อุตุนิยมวิทยา เพื่อให้สามารถวิเคราะห์และพยากรณ์สภาพอากาศให้ถูกต้องแม่นยำ ต้องรู้เรื่องเคมีเพื่อพัฒนางานด้านสารฝนหลวง ต้องมีความรู้ด้านการจัดการทรัพยากรธรรมชาติเพื่อให้สามารถบริหารจัดการน้ำแบบครบวงจร และที่สำคัญคือต้องรู้ด้านเกษตรเพื่อให้สามารถวางแผนการปฏิบัติการฝนหลวงให้ตรงกับความต้องการของพืชได้ นักวิทยาศาสตร์ของกรมฝนหลวงและการบินเกษตร จึงเป็นผู้ที่จบการศึกษาทางวิทยาศาสตร์สาขาวิชาต่าง ๆ และมาทำงานร่วมกันเป็นทีม
ทุกคนมีความมุ่งมั่นรับผิดชอบในงานของตัวเอง แบ่งงานแต่ไม่แบ่งฝ่าย พร้อมปรับเปลี่ยนเพื่อสนับสนุนกันและกัน โดยมีเป้าหมายและอุดมการณ์เดียวกัน คือเพื่อบรรเทาปัญหาภัยแล้งและภัยพิบัติของประชาชนอย่างเต็มกำลังความสามารถ
เขียนโดย จักรยานแดงในรั้วเขียว
ภาพและวีดีโอ