เปลี่ยนการแสดงผล
#บ้านป่าสักงาม
19 เมษายน 2564 390 ครั้ง
ครั้งหนึ่ง สมัยยังเรียนและอาศัยอยู่จังหวัดเชียงใหม่ อาจารย์พาข้าพเจ้าและเพื่อนๆ ที่เรียนด้วยกัน เข้าไปศึกษาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับชุมชนแห่งหนึ่ง การเดินทางต้องเข้าไปต้องไปลงเรือที่เขื่อนแม่กวงอุดมธารา
“บ้านป่าสักงาม” คือ ชุมชนเป้าหมายในการศึกษาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในครั้งนี้ ตามชื่อก็รู้ได้เลยว่ามี ไม้สักแน่ๆ และถือเป็นไม้สักชั้นดี ถึงขนาดเมื่อไม่นานนี้มีข่าวจะเอาไปสร้างรัฐสภาแห่งใหม่ ตอนนี้ยกเลิกไปแล้วก็ชาวบ้านเขาไม่ให้ หมู่บ้านนี้ตั้งอยู่ในตำบลลวงเหนือ อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ เป็นแหล่งต้นน้ำลำธาร และป่าไม้ที่สมบูรณ์
ชาวบ้านป่าสักงามเป็นชาวเขาชนเผ่าละว้า ตั้งถิ่นฐานอยู่พื้นที่แห่งนี้มากกว่า 200 ปี ในอดีตคนในบ้านป่าสักงามเก็บหาของป่าหาเลี้ยงชีพ ป่าจึงเป็นแหล่งอาหาร แหล่งใช้สอย และแหล่งสมุนไพรของคนในชุมชน
วิถีชีวิตของชุมชนเปลี่ยนแปลงไปในปี 2503 เมื่อนายทุนได้สัมปทานเข้ามาทำไม้โดยจ้างชาวบ้าน ตัด เลื่อย และแปรรูป ต่อมาความโลภเข้าครอบงำ ละทิ้งวัฒนธรรมประเพณีการที่นับถือ จากลูกจ้างก็เป็นนายทุนเสียเอง ลักลอบตัดไม้ขายนายทุน กลายเป็นปัญหาป่าเลื่อมโทรม
ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับชุมชน พื้นที่ป่าไม้หมดไปเหลือเพียงเข้าหัวโล้น ดินแดง น้ำที่เคยมีเริ่มเหือดแห้ง สัตว์ป่าหายไป จากชาวบ้านที่มีแหล่งอาหารในป่าอย่างอุดมสมบูรณ์ต้องไปซื้ออาหาร ข้าวของเครื่องใช้จากภายนอกชุมชน มีการใช้สารเคมีในพื้นที่
ด้วยพระมหากรุณาธิคุณแห่งในหลวงรัชกาลที่ 9 ได้ก่อตั้ง“โครงการพัฒนาพื้นที่ป่าขุนแม่กวงอันเนื่องมาจากพระราชดำริ” ที่ได้ทรงจัดตั้งขึ้นในปี 2535 ด้วยความร่วมมือของหน่วยงานภาครัฐในการป้องกันการตัดไม้ทำลายป่า จัดหาแหล่งน้ำ ฟื้นฟูป่า จัดหาที่ดินทำกิน ร่วมถึงการส่งเสริมอาชีพ ให้กับชุมชน
ผลกระทบที่เกิดขึ้น ทำให้ชุมชนบ้านป่าสักงามได้เรียนรู้ และเกิดจิตสำนึกในการที่จะอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ จึงร่วมกันตั้ง ”กลุ่มอนุรักษ์และพัฒนาบ้านป่าสักงาม” เพื่อร่วมกันฟื้นฟูสภาพป่าไม้ ลำธาร กลับมาเหมือนเดิม กลุ่มมีการร่วมกันกำหนดกฎระเบียบ ข้อบังคับในชุมชน รื้อฟื้นวัฒนธรรม ประเพณี และภูมิปัญญาของชุมชนเป็นที่ยึดเหนี่ยวของคนในชุมชน เช่น การบวชป่า การไม่นำต้นไม้ที่ถูกฟ้าผ่าหรือมีเถาวัลย์พันรอบต้นมาสร้างบ้าน เป็นต้น การมีเครือข่ายในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้
ชุมชนบ้านป่าสักงามได้รับรางวัลเกี่ยวกับการอนุรักษ์ ฟื้นฟูป่าไม้ต้นน้ำลำธารตามแนวพระราชดำริ แสดงให้เห็นว่าประสบความสำเร็จ และเป็นชุมชนตัวอย่างสำหรับการศึกษาเรียนรู้
หลังจากแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน พวกเราก็ได้ทานข้าวกลางวันกับอาหารจานเด็ดเจ้ากบบลูฟร็อกทอดน้ำหนักเกือบกิโล ช่วงบ่ายพ่อหลวงพาพวกเราชมพื้นที่ต่างๆ หลังจากนั้นพวกเราก็ลากลับบ้าน
ความสำเร็จของชุมชนแห่งที่เกิดขึ้นไม่เพียงเกิดจากพลังแห่งความร่วมมือระหว่างชุมชนกับชุมชน หรือชุมชนกับหน่วยงานภาครัฐเท่านั้น ภายในชุมชนเองก็มีพลังแห่งความร่วมมือ ความสามัคคี ช่วยเหลือกันและกัน จนประสบความสำเร็จ
เขียนโดย #มวนฟ้าแลบ
ภาพและวีดีโอ