เปลี่ยนการแสดงผล
#เมื่อวันที่ฉันมีปีก
14 พฤษภาคม 2564 373 ครั้ง
#เมื่อวันที่ฉันมีปีก

ฉันจะบิน...บินไป ไกลแสนไกลไม่หวั่น...
หลายคนที่อ่านชื่อเรื่องแล้วคงเดากันว่า คงจะเป็นเรื่องราวของความรัก หรือเป็นเรื่องราวของนางฟ้า หรือเป็นเรื่องราวของกามเทพแผลงศรรักปักอกใครสักคนล่ะมัง... แต่บอกได้เลยว่าไม่ใช่...งั้นอย่าเสียเวลาเดาเลย ลองมาติดตามกันต่อไปดีกว่า...  ผู้เขียนเชื่อมั่นว่าทุกท่านในที่นี้คงไม่มีใครที่จะไม่รู้จักผีเสื้อ และไม่เคยเห็นผีเสื้อมาก่อน แต่น้อยคนนักที่จะรู้จักผีเสื้ออย่างแท้จริง ทราบหรือไม่ว่ากว่าจะมาเป็นผีเสื้อได้นั้นต้องผ่านวงจรชีวิตมาอย่างไรถึงจะเป็นผีเสื้อที่สวยงามให้เราเชยชม
ผีเสื้อมีวงจรชีวิตแบ่งออกเป็น 4 ระยะ
 1. ระยะไข่ (Egg Stage)
 2. ระยะหนอนหรือบุ้ง (Caterpillar Stage หรือ Larva Stage)
 3. ระยะดักแด้ (Pupa Stage หรือ Chrysalis Stage)
 4. ระยะเจริญวัย (Adult Butterfly Stage หรือ Imago Stage)

จะเห็นมั้ยล่ะว่า กว่าจะมาเป็นผีเสื้อที่สวยงามให้คนชื่นชม ก็ร้ายมาก่อนนะ ในช่วงที่เป็นหนอนหรือบุ้ง ได้กัดกินพืชผลของพวกเราไปไม่มากก็น้อย บ้างก็อาจจะถูกกำจัดทิ้งด้วยวิธีการต่างๆทั้งยาฆ่าหนอนที่เป็นสารเคมี การจับด้วยมือ หรือการใช้สารชีวภาพ ส่วนที่เหลือก็รอดมาเป็นดักแด้

ช่วงของการเป็นดักแด้จะเป็นช่วงของการสะสมอาหารและพัฒนาการร่างกายให้มีปีกภายใต้ดักแด้ที่หุ้มห่ออยู่ เพื่อพร้อมที่จะออกเผชิญสู่โลกภายนอก ตอนที่ออกจากดักแด้ใหม่ๆปีกจะยับยู่ยี่และยังบินไม่ได้จนกว่าจะมีการปั้มของเหลวที่เรียกว่า ฮีโมลิมพ์ เข้าไปในเส้นปีก และต้องใช้เวลา 1 ชั่วโมงในการทำให้ปีกแข็งพอที่จะใช้ในการบิน ผีเสื้อมีหลายชนิดมาก แค่ในประเทศไทยก็มีมากกว่า 1,300 ชนิด โดยแบ่งออกเป็น 5 วงศ์ได้แก่
 1. วงศ์ผีเสื้อหางติ่ง พบไม่น้อยกว่า 64 ชนิด
 2. วงศ์ผีเสื้อหนอนกะหล่ำ พบไม่น้อยกว่า 58 ชนิด
 3. วงศ์ผีเสื้อขาหน้าคู่ พบไม่น้อยกว่า 367 ชนิด
 4. วงศ์ผีเสื้อสีน้ำเงิน พบไม่น้อยกว่า 369 ชนิด
 5. วงศ์ผีเสื้อบินเร็ว พบไม่น้อยกว่า 273 ชนิด

เช่นเดียวกับคนในองค์กรย่อมมีการพัฒนาตนเองในลักษณะเดียวกันกับวงจรชีวิตของผีเสื้อ... สำหรับกรมฝนหลวงและการบินเกษตรนั้นได้รับการยกระดับขึ้นมาเป็นกรมในปี 2556 ได้มีการปรับโครงสร้างภารกิจและอัตรากำลังทำให้มีการบรรจุบุคลากรใหม่เข้ามาจำนวนมากและมีความหลากหลายมากเช่นเดียวกัน จึงเปรียบได้กับผีเสื้อหลากหลายชนิดและมีวงจรชีวิตการทำงานไม่ต่างกับวงจรชีวิตของผีเสื้อ 
น้องใหม่ที่ได้ก้าวเข้าสู่องค์กรก็จะได้รับการปลูกฝัง การแนะนำ การปรับทัศนคติให้เข้ากับกฎ ระเบียบทางราชการ และบริบทขององค์กร เพื่อป้องกันการกระทำที่อาจจะเกิดความเสียหายต่อองค์กรได้ เหมือนกับอยู่ในช่วงของการเป็นตัวหนอนของช่วงวงจรชีวิตผีเสื้อที่อาจทำร้ายเจ้าของพื้นที่ให้ถือกำเนิดชีวิตได้ ขณะที่หลายๆคนกำลังอยู่ในช่วงของดักแด้ ที่คอยเรียนรู้และสะสมประสบการณ์จากรุ่นพี่ และประสบการณ์ตรงของตนเองจากการปฏิบัติหน้าที่ในแต่ละวัน

บางคนก็เหมือนเพิ่งโผล่พ้นออกจากดักแด้ ที่ได้สะสมประสบการณ์มามากพอควร แต่ยังไม่สามารถที่จะกางปีกโบยบินได้ด้วยตนเอง ยังต้องคอยสะสมประสบการณ์ คอยรับการแนะนำจากผู้บังคับบัญชา หรือจากผู้เชี่ยวชาญ เพื่อให้เกิดความสมบูรณ์ของงานจนกว่าจะมีความรู้ ความสามารถ และประสบการณ์เพียงพอสามารถกลายเป็นผู้เชี่ยวชาญหรือผู้บังคับชาระดับสูงขึ้น และกว่าจะมาถึงขั้นนี้ได้นั้นต้องมีความอดทนและความเพียรเป็นอย่างมากที่จะสร้างความพร้อมให้กับตนเองได้อย่างเต็มตัวจนกระทั่งมีปีกพร้อมที่จะโบยบินได้เหมือนบรรพบุรุษของกรมฝนหลวงฯที่ผ่านมา
อย่างไรก็ตามขอเป็นกำลังใจให้กับบุคลากรของกรมน้องใหม่ทุกคนให้ก้าวข้ามแต่ละช่วงเวลาของชีวิตไปได้ด้วยดี...
เขียนโดย "ฟ้าโปรย"
#ยิ่งเรียนรู้ยิ่งชำนาญ
ภาพและวีดีโอ