เปลี่ยนการแสดงผล
#ดั่งมนต์ตราเสกสรร
21 พฤษภาคม 2564 154 ครั้ง
#ดั่งมนต์ตราเสกสรร

โลกไร้พรมแดน ทำให้เราเดินทางไปมาหาสู่กันได้อย่างไร้ขีดจำกัด (หากมีเงิน (pleased face)) ถึงแม้ช่วงนี้ จะไม่สามารถเดินทางได้โดยสะดวกเหมือนแต่ก่อน ด้วยเจ้าตัวปัญหา โรคไร้พรมแดน หรือโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ที่อยู่กับพวกเรามาปีกว่าๆ แล้วนี่เอง แต่บางที โลกมีพรมแดน บ้างก็ดีนะ เผื่อจะช่วยป้องกันและบรรเทา การแพร่ระบาดที่ข้ามประเทศข้ามทวีปไปทั่วโลกอย่างไร้ขอบเขตและไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนเช่นนี้

แม้เราจะเดินทางข้ามแดนไปพบปะต่อหน้าแบบจริง ๆ ไม่ได้ แต่เราก็ยังสามารถติดต่อสื่อสารกันได้ในรูปแบบเสมือนจริง ด้วยความก้าวหน้าของเทคโนโลยี ที่นอกจากจะสร้างให้โลกไร้พรมแดนแล้ว ยังล้ำหน้าสร้างประวัติศาสตร์ให้โลกมนุษย์ในการปฏิบัติภารกิจนอกโลกอีกด้วย อย่างที่มีการแข่งขันด้านอวกาศแบบไม่ลดละของประเทศมหาอำนาจ ระหว่างสหรัฐอเมริกากับรัสเซีย ยังมีจีนที่เป็นน้องใหม่ในวงการแต่มาแรงไม่แพ้สองประเทศแรกเช่นกัน

คนธรรมดาที่ฝันอยากบินไปนอกโลก (แต่ต้องมีตังพอด้วยนะ) ฟังข่าวนี้ได้เลย บริษัท Blue Origin ซึ่งเป็นบริษัทพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศของมหาเศรษฐีเจฟฟ์ เบโซส ผู้ก่อตั้ง Amazon ได้เปิดให้ประมูลจองตั๋วที่นั่งไปท่องเที่ยวบนอวกาศเป็นครั้งแรก ซึ่งมีกำหนดเดินทางในวันที่ 20 กรกฎาคม 2564 นี้ เพื่อให้ผู้โดยสารได้สัมผัสกับทัศนียภาพของอวกาศที่มีความสูง 100 กิโลเมตรเหนือผิวโลกในเวลาประมาณ 10 นาที 

อีกหนึ่งกระแสที่มาแรงแซงสหรัฐอเมริกา เมื่อองค์การอวกาศของรัสเซีย (Roscosmos) เตรียมส่งนักแสดงและผู้กำกับไปยังสถานีอวกาศนานาชาติ (ISS) เพื่อถ่ายทำภาพยนตร์ในอวกาศเรื่องแรก โดยจะออกเดินทางด้วยจรวดจากฐานปล่อยจรวดในคาซัคสถานวันที่ 5 ตุลาคม 2564 ภาพยนตร์ดังกล่าว ชื่อว่า "Challenge" 
ซึ่งมีเป้าหมายเผยแพร่กิจกรรมทางอวกาศของรัสเซียและยกย่องอาชีพนักบินอวกาศ

นั่นคือความวิเศษและอัศจรรย์ของเทคโนโลยีที่ทำให้สิ่งที่เป็นไปไม่ได้กลับเป็นไปได้ และที่ใดมีเทคโนโลยีย่อมเหมือนดั่งมีเวทมนต์ที่เสกได้ทุกอย่าง แน่นอนว่าได้มีการนำเทคโนโลยีมาใช้ให้เกิดประโยชน์กับวงการต่าง ๆ หลายสาขา โดยเฉพาะกับเรื่องปากท้อง การทำมาหากิน และการใช้ชีวิตของมนุษย์ 

ภาครัฐของไทย จึงมีแนวทางยกระดับการพัฒนาประเทศและการบริหารราชการแผ่นดินไปสู่ความเป็นดิจิทัล ซึ่งเน้นการนำเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารด้านดิจิทัลมาให้บริการประชาชนให้เกิดความรวดเร็ว ทันสมัย และโปร่งใสมากยิ่งขึ้น เราจึงได้ยินคำว่า “ระบบราชการไทย 4.0” นั่นเอง

การปฏิบัติการฝนหลวงก็จำเป็นต้องอาศัยเทคโนโลยีสารสนเทศ นวัตกรรม รวมถึงความก้าวหน้าทางเทคนิคปัญญาประดิษฐ์ (AI) มาใช้ในทุกกระบวนการขั้นตอนตั้งแต่การวางแผนและกำหนดพื้นที่เป้าหมายที่มีความต้องการน้ำ ซึ่งในบางพื้นที่หรือบางฤดูกาล เกษตรกรไม่ต้องการน้ำที่จะสร้างความเสียหายต่อผลผลิตที่เก็บเกี่ยวแล้ว จึงนำมาสู่การพัฒนาแผนที่ความต้องการใช้น้ำของพืชด้วยเทคนิคการสำรวจระยะไกลและระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ 

สารฝนหลวงเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่จะขาดเสียไม่ได้และต้องเตรียมให้พร้อมเสมอ ดังนั้น การพัฒนาระบบโลจิสติกส์เพื่อการบริหารจัดการสารฝนหลวง ก็เป็นการนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาสนับสนุนการพยากรณ์ปริมาณความต้องการสารฝนหลวง และการบริหารจัดการคลังสารฝนหลวง เพื่อป้องกันสารที่ไม่เพียงพอต่อ การนำมาใช้งานหรือการเสื่อมคุณภาพของสารที่คงค้างและมีการจัดเก็บไม่ดีเท่าที่ควร

การทำฝนต้องอาศัยความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ ทำให้นักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ยังขาดความพร้อมที่จะบัญชาการทำฝนด้วยตนเอง การพัฒนาระบบช่วยตัดใจเลือกกลุ่มเมฆที่เหมาะสมกับการปฏิบัติการฝนหลวงด้วย AI จึงตอบโจทย์และช่วยสนับสนุนนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ให้สามารถทำฝนได้อย่างมั่นใจมากขึ้น รวมถึงการมีเทคโนโลยีทางเลือกสำหรับการทำฝนด้วยเทคนิคต่าง ๆ แทนการใช้เครื่องบินที่มีข้อจำกัดในเรื่องพื้นที่ 

เหล่านี้เป็นเพียงตัวอย่างน้ำจิ้มที่ยกมาให้เห็นการนำเอาเทคโนโลยีเข้ามาประยุกต์ใช้เพื่อให้สามารถปฏิบัติภารกิจได้อย่างรวดเร็ว แม่นยำ และมีมาตรฐานมากยิ่งขึ้น อันเป็นหนึ่งในภารกิจของกรมฝนหลวงและการบินเกษตรที่มีความท้าทายยิ่งใหญ่ไม่น้อยไปกว่าภารกิจขององค์การด้านการบินอวกาศและดาราศาสตร์ของนานาชาติ เพื่อช่วยให้ประชาชนมีทรัพยากรน้ำที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตที่เพียงพอต่อไป

เขียนโดย รุ้งทอแสง
#ตราบที่โลกยังไม่หยุดหมุนฝนหลวงก็ไม่หยุดนิ่ง

ภาพและวีดีโอ