เปลี่ยนการแสดงผล
กรมฝนหลวงฯ ติดตามสถานการณ์การเพาะปลูกข้าวนาปีในพื้นที่ภาคอีสาน เตรียมความพร้อมเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรช่วงต้นเดือน ก.ค.
25 มิถุนายน 2564 203 ครั้ง
กรมฝนหลวงฯ ติดตามสถานการณ์การเพาะปลูกข้าวนาปีในพื้นที่ภาคอีสาน เตรียมความพร้อมเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรช่วงต้นเดือน ก.ค.

วันที่ 25 มิถุนายน 2564 นายสุรสีห์ กิตติมณฑล อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร เปิดเผยว่า กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ร่วมกับกองทัพอากาศและกองทัพบก ซึ่งได้สนับสนุนอากาศยานและกำลังพลในการร่วมปฏิบัติการฝนหลวงช่วยเหลือพี่น้องประชาชน ทำให้สามารถจัดตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงได้ จำนวน 13 หน่วยปฏิบัติการ กระจายตัวอยู่ทั่วภูมิภาค ทั้งนี้ เพื่อให้การปฏิบัติการฝนหลวงเกิดประสิทธิภาพอย่างสูงสุด ในการช่วยเหลือพี่น้องประชาชนในพื้นที่การเกษตรที่ประสบปัญหาภาวะฝนทิ้งช่วง และการเติมน้ำให้กับพื้นที่ลุ่มรับน้ำเขื่อนและอ่างเก็บน้ำต่าง ๆ โดยไม่มีวันหยุดราชการและวันหยุดนักขัตฤกษ์ เนื่องด้วยการปฏิบัติการฝนหลวงเป็นการทำงานที่ต้องมีการติดตามเงื่อนไขของสภาพอากาศตลอดทุกวัน ซึ่งหากสภาพอากาศเข้าเงื่อนไขการปฏิบัติการแล้ว ทั้ง 13 หน่วยปฏิบัติการ ก็พร้อมที่จะขึ้นบินปฏิบัติการฝนหลวงช่วยเหลือพี่น้องประชาชนทันที

สำหรับในการดูแลพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศในขณะนี้ ได้มอบหมายให้ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์การเพาะปลูกและความต้องการน้ำในพื้นที่การเกษตร อ.ร่องคำ จ.กาฬสินธุ์ เมื่อวันที่ 24 มิ.ย. 2564 ซึ่งพบว่า พื้นที่การเกษตรส่วนใหญ่ปลูกข้าวนาปี โดยบริเวณพื้นที่ลุ่มต้นข้าวอยู่ในระยะกล้าสูง 30 เซนติเมตร ส่วนพื้นที่นาดอนต้นกล้าเริ่มขาดน้ำและดินแห้งบางส่วน โดยยังมีนาข้าวที่เริ่มหว่าน และคาดว่าจะมีความต้องการน้ำในช่วงต้นเดือนกรกฎาคมนี้เป็นต้นไป ซึ่งกรมฝนหลวงและการเกษตร โดยศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน จะติดตามสถานการณ์การเพาะปลูกและความต้องการน้ำของพืชอย่างใกล้ชิด เพื่อเป็นข้อมูลในการวางแผนการปฏิบัติการฝนหลวงช่วยเหลือต่อไป 

ขณะเดียวกัน ด้านผลการปฏิบัติการฝนหลวงเมื่อวานนี้ ได้ขึ้นบินปฏิบัติการฝนหลวง จำนวน 12 หน่วยปฏิบัติการทำให้มีฝนตกบริเวณพื้นที่การเกษตรบางส่วนของ จ.ลำปาง สุโขทัย อุตรดิตถ์ นครสวรรค์ ชัยนาท ลพบุรี สระบุรี เพชรบุรี กาญจนบุรี ขอนแก่น หนองบัวลาภู ชัยภูมิ มหาสารคาม อุบลราชธานี ศรีสะเกษ ยโสธร อานาจเจริญ เพชรบุรี และพัทลุง สามารถเพิ่มปริมาณน้ำให้กับพื้นที่ลุ่มรับน้ำเขื่อน จำนวน 7 แห่ง และอ่างเก็บน้ำ จำนวน 3 แห่ง

นายสุรสีห์ กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า ในส่วนของการติดตามสภาพอากาศเพื่อวางแผนการปฏิบัติการฝนหลวงในวันนี้ ผลการตรวจสภาพอากาศจากสถานีเรดาร์ฝนหลวงทั่วประเทศพบว่าเข้าเงื่อนไขการปฏิบัติการฝนหลวง จึงมีการวางแผนขึ้นบินปฏิบัติการ จำนวน 11 หน่วยฯ ได้แก่ หน่วยปฏิบัติการฝนหลวง จ.ลพบุรี ขอนแก่น นครราชสีมา ตาก สระแก้ว พิษณุโลก กาญจนบุรี สุรินทร์ สงขลา สุราษฎร์ธานี และเชียงใหม่

ทั้งนี้ พี่น้องเกษตรกรและประชาชน สามารถขอรับบริการฝนหลวงและติดตามข้อมูลข่าวสารของกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ได้ที่ช่องทาง Facebook กรมฝนหลวงและการบินเกษตร Twitter Instagram Line Official Account : @drraa_pr และหมายเลขโทรศัพท์ 02-109-5100

#ข่าวฝนหลวง
ภาพและวีดีโอ