เปลี่ยนการแสดงผล
จำนวนผู้เยี่ยมชมเว็บไซด์
วันนี้
125615
เดือนนี้
5714335
เมื่อวาน
231055
เดือนที่แล้ว
6919354
#ทศกรณีย์นวกษัตริย์ บทที่ ๕"ต่างพระเนตรพระกรรณ"
16 กรกฎาคม 2564 285 ครั้ง

หลังจากพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรทรงศึกษา ค้นคว้า ทดลองโครงการพระราชดำริฝนหลวงจนประสบผลสำเร็จ ทรงได้พระราชทานเป็นตำราฝนหลวงในรูปแบบภาพการ์ตูนลงบนกระดาษ A๔ ซึ่งประกอบไปด้วย ๖ ขั้นตอนได้แก่ ๑. ก่อกวนหรือก่อเมฆ ๒. เลี้ยงให้อ้วน ๓. โจมตีเมฆอุ่นแบบแซนด์วิช ๔. การเสริมการโจมตีด้วยการใช้น้ำแข็งแห้งให้ระดับฐานกลุ่มเมฆเป้าหมายลดต่ำลง ๕. การโจมตีเมฆเย็นด้วยพลุซิลเวอร์ไอโอไดด์ และ ๖. การโจมตีเมฆอุ่นและเมฆเย็นแบบซุปเปอร์แซนด์วิช
ด้วยสายพระเนตรอันยาวไกลของพระองค์ทรงเล็งเห็นว่าโครงการพระราชดำริฝนหลวงเป็นโครงการสำคัญที่สร้างคุณูปการให้แก่ปวงชนชาวไทยในการแก้ไขหรือบรรเทาปัญหา ๔ ด้านหลักได้แก่ ปัญหาภัยแล้งในพื้นที่การเกษตร ปัญหาไฟไหม้ป่าและหมอกควัน ปัญหาปริมาณน้ำต้นทุนในเขื่อนหรืออ่างเก็บน้ำน้อย และปัญหาพายุลูกเห็บ และเป็นโครงการที่คนไทยได้คิดค้นขึ้นเองจึงทรงมีพระราชดำริให้จดทะเบียนสิทธิบัตรเพื่อเป็นสมบัติของปวงชนชาวไทย
พระองค์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ นายอำพล เสนาณรงค์ องคมนตรี เป็นผู้แทนพระองค์ดำเนินการขอจดทะเบียนสิทธิบัตร"ฝนหลวง" หรือ การดัดแปรสภาพอากาศเพื่อให้เกิดฝน คำขอรับสิทธิบัตรการประดิษฐ์ เลขที่ ๐๗๖๑๒๒ เมื่อวันที่ ๒๘ สิงหาคม ๒๕๔๕ และกรมทรัพย์สินทางปัญญาได้ออกสิทธิบัตรให้เลขที่ ๑๓๘๙๘ เมื่อวันที่ ๒๙ พฤศจิกายน ๒๕๔๕
พระองค์ได้พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ยื่นคำขอจดสิทธิบัตร Weather Modification by Royal Rainmaking Technology ในประเทศสหรัฐอเมริกาและยุโรป เมื่อวันที่ ๒๙ มีนาคม ๒๕๔๖
 ⁃ เมื่อวันที่ ๖ กันยายน ๒๕๔๖ จัดส่งคำขอจดทะเบียนสิทธิบัตรไปยังประเทศสหรัฐอเมริกา และได้รับเลขที่คำขอสิทธิบัตร ๑๐/๖๖๒๑๔๕ ลงวันที่ ๑๕ กันยายน ๒๕๔๖ 
 ⁃ เมื่อวันที่ ๓ กันยายน ๒๕๔๖ ทรงมอบพระราชอำนาจให้ Patent Attorney เป็นผู้ดำเนินการยื่นคำขอจดทะเบียนสิทธิบัตรในสหภาพนุโรป ได้รับเลขที่คำขอสิทธิบัตร ๐๓๐๒๐๕๕๐๔ ลงวันที่ ๑๗ กันยายน ๒๕๔๖ และสำนักสิทธิบัตรยุโรป (EPO) ได้ออกสิทธิบัตรฝนหลวง(ฉบับหลัก) เมื่อวันที่ ๑๒ ตุลาคม ๒๕๔๘
การปฏิบัติการดัดแปรสภาพอากาศเพื่อให้เกิดฝนนับว่าเป็นการประยุกต์วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีขั้นสูง พระองค์จึงทรงให้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการที่ปรึกษาผู้ทรงคุณวุฒิฝนหลวงขึ้น เพื่อให้คำปรึกษา เสนอแนะ และสนับสนุนให้การดำเนินการโครงการเป็นไปตามพระราชประสงค์ เพื่อความสัมฤทธิ์ผลภายในกรอบพระบรมราโชบายตำราฝนหลวง และข้อแนะนำทางเทคนิคพระราชทาน อีกทั้งให้คำปรึกษา เสนอแนะ และสนับสนุนให้มีการพัฒนาเทคโนโลยีฝนหลวง และการปฏิบัติการฝนหลวงก้าวหน้า มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลยิ่งขึ้น
ต่อมาเมื่อวันที่ ๑๒ พฤศจิกายน ๒๕๖๑ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์โดยกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ได้ขอพระราชทานพระราชวินิจฉัยการแต่งตั้งคณะกรรมการที่ปรึกษาผู้ทรงคุณวุฒิฝนหลวงชุดใหม่เนื่องจากปัจจุบัน ประธานกรรมการและกรรมการบางคน มีการเปลี่ยนแปลงตำแหน่งหน้าที่ ประกอบกับมีผู้ทรงคุณวุฒิ ข้าราชการ และอดีตข้าราชการที่มีประสบการณ์ ความรู้ และความสามารถเกี่ยวกับเทคโนโลยีฝนหลวงเพิ่มมากขึ้น
กองกิจการในพระองค์ ๙๐๔ สำนักราชเลขานุการในพระองค์ฯ พระที่นั่งอัมพรสถาน ได้มีหนังสือแจ้งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ พว ๐๐๐๕.๑/๕๕๙๑ ลงวันที่ ๒๖ ธันวาคม ๒๕๖๑ ความว่า กองกิจการในพระองค์ฯ ได้นำความกราบบังคมทูลพระกรุณาทรงทราบฝ่าละอองธุลีพระบาทแล้วทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯตามที่ขอพระราชทานพระราชวินิจฉัยโดยมีรายละเอียดองค์ประกอบและอำนาจหน้าที่ คณะกรรมการที่ปรึกษาผู้ทรงคุณวุฒิฝนหลวงดังนี้
๑.องค์ประกอบ
๑.๑ พลอากาศเอก ชลิต พุกผาสุข ประธานกรรมการองคมนตรี
๑.๒ นายจรัลธาดา กรรณสูต     รองประธานกรรมการองคมนตรี
๑.๓ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์          กรรมการ
๑.๔ เลขาธิการคณะกรรมการพิเศษ              กรรมการเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ
๑.๕ ผู้บัญชาการทหารอากาศ                      กรรมการ
๑.๖ เจ้ากรมยุทธการทหารอากาศ                กรรมการ
๑.๗ อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา                       กรรมการ
๑.๘ อธิบดีกรมชลประทาน                           กรรมการ
๑.๙ อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา             กรรมการ
๑.๑๐ ผู้ว่าการไฟฟ้าฝ่ายผลิต                       กรรมการแห่งประเทศไทย
๑.๑๑ นายรอยล จิตรดอน                            กรรมการ
๑.๑๒ นายเลอศักดิ์ ริ้วตระกูลไพบูลย์           กรรมการ
๑.๑๓ อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร กรรมการและเลขานุการ
๑.๑๔ นายวัฒนา สุกาญจนาเศรษฐ์     กรรมการและผู้ข่วยเลขานุการ
๒.อำนาจหน้าที่
๒.๑ ให้คำปรึกษา เสนอแนะ และสนับสนุนให้การดำเนินการโครงการเป็นไปตามพระราชประสงค์ เพื่อความสัมฤทธิ์ผลภายในกรอบพระบรมราโชบายตำราฝนหลวง และข้อแนะนำทางเทคนิคพระราชทาน
๒.๒ ให้คำปรึกษา เสนอแนะ และสนับสนุนให้มีการพัฒนาเทคโนโลยีฝนหลวง และการปฏิบัติการฝนหลวงก้าวหน้า มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลยิ่งขึ้น
๒.๓ แต่งตั้งคณะกรรมการหรือคณะทำงานเพื่อปฏิบัติงานได้ตามความจำเป็น
หลังจากนั้นคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ ๒๖ มีนาคม ๒๕๖๒ ตามหนังสือสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ที่ นร ๐๕๐๘/๑๑๔๑๒ ลงวันที่ ๒๗ มีนาคม ๒๕๖๒ อนุมัติคณะกรรมการที่ปรึกษาผู้ทรงคุณวุฒิฝนหลวงชุดดังกล่าวตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์โดยกรมฝนหลวงและการบินเกษตรเสนอ
คณะกรรมการที่ปรึกษาผู้ทรงคุณวุฒิฝนหลวงได้ปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มที่ทั้งการประชุมและลงพื้นที่เพื่อติดตาม แนะนำ ให้คำปรึกษาในการแก้ไขปัญหาอุปสรรคที่เกิดขึ้นต่อโครงการพระราชดำริฝนหลวงมาอย่างต่อเนื่อง และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์โดยกรมฝนหลวงและการบินเกษตรได้จัดทำสรุปภาพรวมการดำเนินงานของคณะกรรมการดังกล่าวเพื่อกราบบังคมทูลพระกรุณาทรงทราบฝ่าละอองธุลีพระบาท
พระองค์ทรงมีพระราชกระแสความว่า"ให้ดำเนินตามแผนและตามเสนอ ขอให้สนใจเพราะปีนี้แล้ง และจะมีแนวโน้มที่จะแล้งและฝนตกน้อยให้คิดถึงภัยแล้งไว้ด้วยเป็นหลัก" ตามหนังสำนักพระราชวัง ที่ รล ๐๐๐๘.๕/๑๗๑๒ ลงวันที่ ๒๓ มกราคม ๒๕๖๓
นับเป็นการทำงานต่างพระเนตรพระกรรณที่สำคัญสำหรับโครงการพระราชดำริฝนหลวง หลังจากพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระปฐมบรมราชโองการ "เราจะสืบสานรักษาและต่อยอด และครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งอาณาราษฎรตลอดไป" เมื่อวันที่ ๔ พฤษภาคม ๒๕๖๒ สืบเรื่อยมาจวบจนปัจจุบัน

เขียนโดย"ฟ้าโปรย"


#ความศรัทธาสร้างความไว้วางใจ

ภาพและวีดีโอ