เปลี่ยนการแสดงผล
ชีวิตบนความเสี่ยง
25 กันยายน 2564 234 ครั้ง
บางครั้งในชีวิตเราก็ไม่อาจคาดเดาได้เลยว่าอะไรจะเกิดขึ้นบ้าง บางคนก็อาจจะเจอเรื่องที่ไม่คาดฝันอยู่บ่อยครั้ง จนรู้สึกเหมือนโดนเซอร์ไพรส์ตลอดเวลา และสำหรับบางคนที่ต้องทำงานอยู่บนความเสี่ยง หากไม่มีการเตรียมความพร้อมที่จะรับมือจากสถานการณ์ต่างๆ ไว้ก่อนล้ะก็ จะต้องเป็นหัวเสียจนเป็นบ้าแน่ๆ เหมือนดั่งสถานการณ์ในปัจจุบัน ณ ตอนนี้มีหลายพื้นที่ฝนตกหนัก บางพื้นที่ก็ประสบภัยอุทกภัย ต้องย้ายของหนีน้ำกันจ้าหล่ะหวั่น หลายท่านที่ติดตามสถานการณ์ในปัจจุบัน คงจะทราบดีว่าเป็นผลมาจากพายุดีเปรสชัน “เตี้ยนหมู่” ซึ่งตามประกาศของกรมอุตุนิยมวิทยา วันที่ 25 กันยายน 2564 เวลา 05.00 น. ฉบับที่ 8 เรื่อง พายุดีเปรสชั่นเตี้ยนหมู่  ได้อ่อนกำลังแรงลงเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรง ลักษณะเช่นนี้ทำให้บริเวณประเทศไทยตอนบนยังคงมีฝนหลายพื้นที่ โดยเฉพาะพื้นที่ภาคอีสาน และภาคเหนือ โดยมีฝนตกหนักถึงหนักมาก มีลมแรง และขอให้ประชาชนเฝ้าระวังอันตรายจากฝนที่ตกสะสมทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก
ซึ่งทางกรมฝนหลวงและการบินเกษตรเอง  ได้ประเมินความเสี่ยงจากสถานการณ์พายุเตี้ยนหมู่นี้ ถ้าหากยังคงเดินหน้าปฏิบัติการต่อไปคงจะเกิดความเสียหายเป็นแน่  จึงได้ทำการพิจารณาจากการประเมินจากโอกาสที่จะเกิดความเสี่ยง โดยมีแผนให้ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 4 หน่วย ภาคกลาง 2 หน่วย และภาคตะวันออก 1 หน่วย
งดปฏิบัติการเพื่อติดตามสถานการณ์น้ำในพื้นที่การเกษตร ที่จะได้รับอิทธิพลจากพายุเตี้ยนหมู่ เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายต่อพื้นที่การเกษตร อีกทั้งติดตามสถานการณ์น้ำในเขื่อน หากมีน้ำมากพอจนเกินความจำเป็น ก็วางแผนหลีกเลี่ยงที่จะปฏิบัติการบริเวณนั้นๆ และไม่ให้ใครมากล่าวหาได้ว่า ขึ้นบินทำฝนจนทำให้ท่วม ถ้าเป็นอย่างนั้นคงเศร้าใจเป็นแน่ ไม่เพียงแต่พื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออก เนื่องจากสภาพอากาศท้องฟ้าปิดเป็นส่วนมากเช่นนี้ ทางหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงในส่วนที่เหลือ ก็ยังคงต้องติดตามสภาพอากาศเช่นกัน แต่เพื่อเป็นการวางแผนการทำงานให้รัดกุมยิ่งขึ้น  ทางเจ้าหน้าที่ ก็ได้แบ่งทีมเพื่อสำรวจพื้นที่ที่ยังต้องการน้ำเพื่อปรับแผนให้สอดคล้องกับความต้องการฝน เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบตามมา รวมไปถึงการประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ทำงานไปในทิศทางเดียวกัน
ถึงแม้ความเสี่ยง เป็นเรื่องที่ใครๆไม่อยากจะพบเจอนัก แต่หากเรามีการวางแผนและวิเคราะห์สถานการณ์เพื่อหาแนวทางการแก้ไขไว้ก่อนล่วงหน้าแล้ว ผลกระทบที่จะตามมาก็คงจะไม่รุนแรง และไม่ต้องมานั่งปวดหัวกับปัญหาที่เกิดขึ้น ไม่ต้องมานั่งลุ้นว่าจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง อีกทั้งยังช่วยให้สามารถบรรลุเป้าหมาย  ลดอุปสรรคในการทำงาน และทำให้งานมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลสูงสุดอีกด้วย
เขียนโดย "วายุ"

ภาพและวีดีโอ