เปลี่ยนการแสดงผล
#เพิ่มทางเลือกเพื่อเพิ่มโอกาส ตอนที่ 1
20 ตุลาคม 2564 253 ครั้ง

สืบเนื่องจากเมื่อวานนี้ (19 ตุลาคม 2564) เป็นวันเทคโนโลยีของไทย ซึ่งได้กำหนดขึ้นเพื่อเทิดพระเกียรติในหลวงรัชกาลที่ 9 ในฐานะทรงเป็นพระบิดาแห่งเทคโนโลยีของไทย จากเหตุการณ์ที่พระองค์ทรงบัญชาการปฏิบัติการฝนหลวงสาธิตให้แก่นักวิทยาศาสตร์ชาวสิงคโปร์ จนเป็นที่ประจักษ์ว่ามีฝนตกลงพื้นที่เป้าหมาย ณ เขื่อนแก่งกระจาน ในขณะนั้น จึงถือเป็นต้นกำเนิดเทคโนโลยีฝนหลวงที่พัฒนาเป็นการทำฝนมาถึงปัจจุบัน และในวันนี้กรมฝนหลวงและการบินเกษตรมีโครงการวิจัยเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีฝนหลวง และเป็นทางเลือกในการปฏิบัติการฝนหลวง รองรับทั้งสภาพพื้นที่และสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป

โดยปกติ ภารกิจการปฏิบัติการฝนหลวง จะแบ่งออกเป็น 4 ภารกิจหลัก ได้แก่ 1. ภารกิจบรรเทาปัญหาไฟป่าและหมอกควันที่มีโอกาสเกิดขึ้นในพื้นที่ต่างๆ โดยเฉพาะป่าเขาในโบริเวณพื้นที่ภาคเหนือ และยังรวมไปถึงฝุ่นจิ๋ว Pm 2.5 ชุมชนเขตเมือง 2. ภารกิจบรรเทาและยับยั้งการเกิดพายุลูกเห็บ ที่มักจะมีโอกาสเกิดขึ้นในช่วงฤดูร้อนและช่วงต้นฤดูฝนของทุกปี ที่จะช่วยยับยั้งการเกิดพายุลูกเห็บและให้ตกลงมาเป็นฝน  3. การป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้ง ที่จะช่วยสร้างความชุ่มชื้นให้กับพื้นที่ป่าไม้และเพิ่มปริมาณน้ำฝนในพื้นที่เกษตรกรรม และ 4. ภารกิจเติมน้ำต้นทุนให้กับเขื่อนและอ่างเก็บน้ำต่างๆ เติมน้ำต้นทุนให้เขื่อนกักเก็บน้ำ เพิ่มปริมาณน้ำเก็บกักให้กับเขื่อนต่างๆ ทั่วประเทศ เพื่อสำรองไว้เป็นน้ำต้นทุนในการบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูแล้ง

แต่เป็นที่ทราบกันดีว่า ภูมิประเทศของประเทศไทยในแต่ละภาค มีความแตกต่างกันออกไป บางพื้นที่มีปริมาณฝนตกที่พอเพียง และในทางกลับกัน บางพื้นไม่มีแม้แต่โอกาสที่จะเกิด หรือถ้าหากมี ก็มีน้อยมาก โดยเฉพาะพื้นที่เขตเงาฝน ซึ่งในพื้นที่เขตเงาฝนบางครั้งอากาศยานไม่สามารถบินทำงานกับกลุ่มเมฆที่กำลังก่อตัวอยู่ได้ เนื่องจากอาจไม่ปลอดภัย ทางกรมฝนหลวงและการบินเกษตร จึงได้มีการจัดทำโครงการวิจัยและพัฒนาการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีการพ่นสารจากพื้นสู่ก้อนเมฆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบัติการฝนหลวงสำหรับพื้นที่เขตเงาฝนบริเวณภาคเหนือของประเทศไทย หรือที่เรียกว่า Ground-based Generator โดยเทคโนโลยีการพ่นสารจากพื้นดินสู่ก้อนเมฆ ถือเป็นเทคนิคการดัดแปรสภาพอากาศให้เกิดฝนที่มีการประยุกต์ใช้ในพื้นที่ที่มีลักษณะเป็นภูเขาที่แรงลมสามารถพัดพาสารเข้าไปสู่กลุ่มเมฆที่ต้องการได้ในหลายประเทศ เช่น มองโกเลีย จีน สหรัฐอเมริกา และอินโดนีเซีย เป็นต้น 

การพัฒนาเทคโนโลยีการพ่นสารจากพื้นดินสู่ก้อนเมฆ ถือเป็นทางเลือกหนึ่งในการปฏิบัติการช่วยเหลือในพื้นที่ที่เขตเงาฝนของประเทศไทย ซึ่งจำเป็นต้องมีการศึกษาเทคนิคที่เหมาะสมกับสภาพอากาศ และลักษณะการเกิดเมฆของประเทศไทย เพื่อให้การปฏิบัติการฝนหลวงมีประสิทธิภาพสูงสุด ซึ่งเป็นทางเลือกเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบัติการฝนหลวงสำหรับพื้นที่เขตเงาฝนบริเวณภาคเหนือที่มีข้อจำกัดด้านการใช้อากาศยานในการปฏิบัติการ

ในตัวโครงการวิจัยนี้ ทางกรมฝนหลวงและการบินเกษตรได้ร่วมวิจัยและพัฒนากับศูนย์วิจัยพัฒนาวิทยาศาสตร์การบินและอวกาศกองทัพอากาศ หริอ ศว.ทอ. โดยมีสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) เป็นผู้สนับสนุนทุนวิจัย โดยความก้าวหน้าในปัจจุบันขณะนี้ ได้ต้นแบบชุดอุปกรณ์และระบบการพ่นสารฝนหลวงจากพื้นสู่ก้อนเมฆแล้ว และอยู่ระหว่างการทดสอบการใช้งานในพื้นที่จริง ณ หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติออบหลวงที่ 1 อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่

โครงการวิจัยชิ้นนี้ ถือเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ทางกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ร่วมวิจัยขึ้นมาเพื่อเพิ่มโอกาสที่จะปฏิบัติการฝนหลวงภายใต้ข้อจำกัดที่มีอยู่ ให้เกิดประโยชน์และประสิทธิภาพอย่างเหมาะสมต่อไป

ส่วนของทางเลือกอื่นๆ จะมีอะไรอีกบ้าง
อย่าลืมติดตามตอนต่อไปกันนะครับ

เขียนโดย "อัมพุท"

ภาพและวีดีโอ