เปลี่ยนการแสดงผล
#ฝนจากฟ้าในอดีต
4 พฤศจิกายน 2564 316 ครั้ง

วันนี้เราจะนำเรื่องในอดีตมาเล่าให้ฟัง เกี่ยวกับการปฏิบัติการฝนหลวงเมื่อครั้งในอดีต เมื่อปี 2530 เพราะอะไร เพราะเหตุใด ทำไมจึงได้มีการจัดตั้งชุด  #คณะปฏิบัติการฝนหลวงพิเศษ

“คณะปฏิบัติการฝนหลวงพิเศษ” ตามพระราชดำริในโครงการน้ำพระราชหฤทัยจากในหลวงรัชกาลที่ 9
พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศรมหาภูมิพลอดุลเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงห่วงใยประชาชนที่ต้องประสบความทุกข์ยาก เนื่องจากสภาวะแห้งแล้งเสมอมา โดยเฉพาะในปี พ.ศ.2530 ได้ประสบสภาวะแห้งแล้งรุนแรงขึ้นในทุกภาคของประเทศ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ระดมเครื่องบินเท่าที่มี รวมทั้งขอสนับสนุนจากกองทัพอากาศด้วย กระนั้นก็ตาม สามารถจัดตั้งคณะปฏิบัติการฝนหลวงได้เพียง 4 คณะ ช่วยเหลือจังหวัดต่างๆ ในภาคตะวันออก ภาคใต้ และภาคกลาง ซึ่งร้องเรียนมาก่อนและมีมูลค่าทางเศรษฐกิจที่จะได้รับความเสียหายมหาศาล

สภาวะแห้งแล้งทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นช่วงปลายเดือนมีนาคม โดยเฉพาะภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ราษฎรเดือดร้อนอย่างสาหัส  ขาดแคลนน้ำบริโภคและอุปโภค  ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงมีพระราชปรารภกับผู้บัญชาการทหารบกให้ระดมสรรพกำลัง ทั้งกำลังคน อุปกรณ์และเทคโนโลยีของกองทัพบก สนับสนุนฝ่ายพลเรือนที่มีทรัพยากรดังกล่าวจำกัด  แก้ไขปัญหาเดือดร้อนขั้นวิกฤติของราษฎรอย่างเร่งด่วนและขยายผลเป็นการพัฒนาภาคตะวันออกเฉียงเหนืออย่างต่อเนื่องเป็นระบบระยะยาว 

กองทัพบกจึงจัดตั้งเป็นโครงการน้ำพระราชหฤทัยจากในหลวงเพื่อพัฒนาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (อีสานเขียว) สำหรับปี พ.ศ. 2530 เป็นการแก้ไขปัญหาฉุกเฉินเฉพาะหน้าในปัญหาขาดแคลนน้ำบริโภคและอุปโภคของราษฎร กองทัพบกได้จัดตั้งเป็นโครงการปฏิบัติการฝนหลวงพิเศษตามพระราชดำริให้เป็นภารกิจหลักหนึ่งในหลายภารกิจ ภายใต้โครงการน้ำพระราชหฤทัยจากในหลวง โดยกองทัพบกเป็นแกนนำ โดยกรมวิทยาศาสตร์ทหารบกเป็นหน่วยประสานงาน จัดหาสิ่งที่สำนักงานปฏิบัติการฝนหลวงขาดอยู่

กล่าวคือ ได้รับการสนับสนุนเครื่องบินจาก กองทัพอากาศ กองทัพเรือ กองบินตำรวจ รวมทั้งบุคลากร
จากหน่วยราชการพลเรือนอื่นๆ คือ กรมอุตุนิยมวิทยามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยขอนแก่น สนับสนุนทั้งในการปฏิบัติการและประเมินผล ทั้งนี้ จัดตั้งเป็นคณะปฏิบัติการ
ฝนหลวงพิเศษตามพระราชดำริ ขึ้นเป็น 2 คณะ คือ
- คณะปฏิบัติการฝนหลวงที่ 1 ตั้งฐานปฏิบัติการ ที่สนามบินจังหวัดขอนแก่น รับผิดชอบจังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน
- คณะปฏิบัติการฝนหลวงที่ 2 ตั้งฐานปฏิบัติการฝนหลวงที่สนามบินจังหวัดนครราชสีมา  รับผิดชอบ
ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง

ทั้งสองคณะวางแผนปฏิบัติการประสานกันโดยเร่งเน้นปฏิบัติการช่วยเหลือจังหวัดที่แห้งแล้งรุนแรงที่สุดก่อนเป็นเป้าหมายหลัก รวม 8 จังหวัด คือ ขอนแก่น มหาสารคาม ร้อยเอ็ด บุรีรัมย์ สุรินทร์ นครราชสีมา ชัยภูมิ และที่เหลืออีก 9 จังหวัด ซึ่งเป็นพื้นที่ใต้ลมที่แห้งแล้งน้อยกว่าของ 8 จังหวัด ดังกล่าวเป็นเป้าหมายรอง ได้แก่ เลย อุดรธานี สกลนคร นครพนม หนองคาย มุกดาหาร อุบลราชธานี ยโสธร ศรีสะเกษ 

ผลปฏิบัติการประสบความสำเร็จตามเป้าหมายที่วางไว้อย่างน่าพอใจ กล่าวคือ นับแต่ลงมือ ปฏิบัติการ วันที่ 22 เมษายน 2530 สามารถบรรเทาปัญหาทุกข์ยากขาดแคลนน้ำบริโภคให้บรรเทาลงได้ภายในเวลาเพียง 2 สัปดาห์ คือเข้าสู่สภาวะปกติได้ภายในเวลา 4 สัปดาห์ หลังจากนั้นได้ปฏิบัติการอย่างต่อเนื่องเพื่อเสริมความชุ่มชื้นแก่บรรยากาศและผิวพื้นให้แก่การเพาะปลูกและการเพิ่มปริมาณน้ำในแหล่งน้ำทั้งธรรมชาติและสร้างขึ้น รวมทั้งการกักเก็บน้ำในครัวเรือน เพื่อป้องกันมิให้เกิดสภาวะขาดแคลนน้ำดื่มน้ำใช้ในฤดูแล้ง ปี พ.ศ.2531

ขอขอบคุณข้อมูลจากหนังสือ “ในหลวงของเรากับฝนหลวง” ฝากติดตาม กดไลก์กดแชร์เรื่องราวดีๆ ในอดีตด้วยนะคะ

ช่องทางการติดต่อ
IG : drraa_pr
Twitter : drraa_pr
Line : @drraa_pr
Website : www.royalrain.go.th
Youtube : ใต้ปีกฝนหลวง

ภาพและวีดีโอ