เปลี่ยนการแสดงผล
#ดูก้อนเมฆด้วยกันมั้ย
4 พฤศจิกายน 2564 30,704 ครั้ง

เมื่อครั้งวัยเด็ก หรือยามเป็นโตเป็นผู้ใหญ่แล้ว หลาย ๆ ท่านอาจจะชอบแหงนมองดูก้อนเมฆบนท้องฟ้า และได้เห็นก้อนเมฆสีขาวปุกปุยบ้าง สีเทามืดครึ้มบ้าง อีกทั้งชื่นชอบที่จะจินตนาการก้อนเมฆเป็นรูปร่างและลักษณะต่าง ๆ อย่างสนุกสนาน แต่...เอ้~ แล้วเคยสงสัยกันมั้ยคะว่า ก้อนเมฆแต่ละชนิดนั้นมีความแตกต่างกันอย่างไร และมีชื่อเรียกหรือเปล่านะ ? ซึ่งจริง ๆ แล้วเจ้าก้อนเมฆเหล่านี้มีชื่อเรียกค่ะ และแต่ละชื่อก็มีความเป็นเอกลักษณ์และเท่มาก ๆ เลยนะคะ วันนี้เราจึงอยากชวนคุณมาดูก้อนเมฆแต่ละชนิดและทำความรู้จักชื่อไปพร้อม ๆ กันค่ะ

ซึ่งตามหลักวิทยาศาสตร์แล้ว ก้อนเมฆสามารถแบ่งออกเป็น 10 ชนิด และมี 3 Level ด้วยกันค่ะ 

Level 1 
-สเตรตัส (Stratus) เมฆที่มีลักษณะเป็นแผ่นบาง ๆ ลอยแนวนอนคล้ายหมอก แต่ไม่ติดพื้น
-คิวมูลัส (Cumulus) มีลักษณะเป็นก้อนเดี่ยว ก่อตัวในแนวตั้ง อาจมีขนาดเล็ก หรือมียอดเมฆสูงถึงชั้นกลาง
-สเตรโตคิวมูลัส (Stratocumulus) เป็นก้อนเมฆย่อยสีเทาหรือขาว มักอยู่ติดกันเป็นแพ และมักพบเมฆสเตรโตคิวมูลัสในวันที่มีเมฆมาก โดยเมฆชนิดนี้ก่อตัวขึ้นเนื่องจากในชั้นบรรยากาศมีการพาความร้อนต่ำ

Level 2 
-แอลโตคิวมูลัส (Altocumulus) เมฆก้อนสีเทาหรือขาว เมื่ออยู่รวมกันดูคล้ายฝูงแกะ ลอนคลื่น หรือติดกันเป็นแผ่นหนา
-นิมโบสเตรตัส (Nimbostratus)  ลักษณะเป็นแผ่นสีเทา ตัวเมฆอยู่ชั้นกลางแต่ฐานอยู่ชั้นต่ำ ทำให้เกิดฝนตกต่อเนื่อง
-แอลโตสเตรตัส (Altostratus) มีลักษณะเป็นแผ่นหนา และปกคลุมท้องฟ้าเป็นบริเวณกว้าง ปกติจะมีสีเทาเพราะบดบังแสงอาทิตย์

Level 3
-ซีร์โรคิวมูลัส (Cirrocumulus) เป็นเมฆสีขาว จับตัวเป็นก้อน มองดูคล้ายลักษณะลอนคลื่น หรือบางครั้งเป็นริ้ว
-ซีร์โรสเตรตัส (Cirrostratus) เป็นเมฆแผ่นสีขาว ปกคลุมท้องฟ้า ทำให้เกิดดวงอาทิตย์ทรงกลด
-ซีร์รัส (Cirrus) มีลักษณะเป็นปุยสีขาว หรือเป็นเส้นคล้ายขนนก
-คิวมูโลนิมบัส (Cumulonimbus) ก้อนเมฆขนาดใหญ่มาก สัมพันธ์กับพายุฝน ฟ้าร้อง ฟ้าผ่า และสภาพอากาศรุนแรง

และนี่ก็เป็นชื่อเรียกและลักษณะของก้อนเมฆทั้ง 10 ชนิดนะคะ จะเห็นว่าจริง ๆ แล้ว ก้อนเมฆนั้นมีอยู่หลากหลายชนิด และล่องลอยเต็มท้องฟ้าไปหมดเลยค่ะ ซึ่งหลาย ๆ ท่านอาจจะเคยตั้งคำถามว่า วันนี้มีเมฆเยอะจัง ทำไมเขาไม่ทำฝนหลวงกันนะ ซึ่งตามความเป็นจริงแล้ว เรามีชนิดของก้อนเมฆที่เหมาะกับการทำฝนหลวงอยู่ค่ะ แล้วเป็นเมฆชนิดไหนกัน ? ที่สามารถนำมาทำฝนหลวงได้ วันนี้เรามีคำตอบให้ค่ะ

จากข้อมูลตามตำราฝนหลวงพระราชทาน การทำฝนหลวงจะมีอยู่ทั้งหมด 6 ขั้นตอน และทุกขั้นตอนจำเป็นต้องพึ่งปัจจัยทางสภาพอากาศ ทั้งความชื้นสัมพัทธ์ในอากาศ ความเร็วลมในระดับปฏิบัติการ และสภาพของเมฆในพื้นที่เป้าหมาย

โดยขั้นตอนที่ 1 ก่อกวน คือ ขั้นตอนที่เร่งให้เกิดเมฆในขณะที่ท้องฟ้าโปร่งหรือมี #เมฆคิวมูลัส #สเตรโตคิวมูลัส ก่อตัวอยู่บ้างเล็กน้อย

ขั้นตอนที่ 2 เลี้ยงให้อ้วน คือ ขั้นตอนที่เร่งการพัฒนาตัวของเมฆที่ก่อขึ้น หรือเมฆเดิมที่มีอยู่ตามธรรมชาติ โดยเป็น #เมฆคิวมูลัส ที่มีความหนาจากฐานเมฆถึงยอดเมฆ มากกว่า 3,000 ฟุต ขนาดเมฆเส้นผ่านศูนย์กลางไม่น้อยกว่า 5 – 10 กิโลเมตร

ขั้นตอนที่ 3 โจมตี คือ ขั้นตอนที่เร่งหรือบังคับให้เกิดฝน เมื่อเมฆอุ่นเจริญเติบโต ยอดเมฆคมชัด เมฆมีความหนามากกว่า 3,000 ฟุต ฐานเมฆสีเทา และเคลื่อนตัวเข้าสู่พื้นที่เป้าหมายจะทำการบังคับให้ฝนตกด้วยเทคนิคการโจมตีเมฆอุ่นด้วยเทคนิค Sandwich

ขั้นตอนที่ 4 คือ การเสริมการโจมตีเมฆอุ่น เพื่อเพิ่มปริมาณฝนให้มากขึ้น โดยกลุ่มเมฆเป้าหมาย เป็นกลุ่ม #เมฆคิวมูลัส ที่มีฐานสีเทาเข้มเห็นได้อย่างชัดเจน เมฆยังคงมีลักษณะเป็นกลุ่มก้อน และมีการพัฒนาตัวที่เพียงพอต่อการตกเป็นฝนหรืออาจเริ่มมีฝนตกเล็กน้อยในบางส่วน และเมฆไม่อยู่ในสถานะที่มีสภาพอากาศแปรปรวน และเป็นอันตรายต่อการบิน

ขั้นตอนที่ 5 คือ การโจมตีเมฆเย็นด้วยพลุซิลเวอร์ไอโอไดด์ (Agl) ที่ระดับความสูง 20,000 ฟุตขึ้นไป โดยเป็น #เมฆคิวมูลัส ในระยะ เมฆระยะเจริญเติบโตเต็มที่ ที่ก่อยอดพัฒนาตัวเป็นเมฆเย็น มีลักษณะเมฆเป็นแบบ Medium/Hard โดยฐานเมฆต้องมีเส้นผ่านศูนย์กลางมากกว่า 5 กิโลเมตร

ขั้นตอนที่ 6 คือ การโจมตีแบบซุปเปอร์แซนวิช (Super Sandwich) โดยเมฆเป้าหมาย คือ #เมฆคิวมูลัส ที่ก่อยอดและเมฆพัฒนาตัวที่มียอดสูงตั้งแต่ 20,000 ฟุตขึ้นไป

ถึงตรงนี้...ทุกท่านน่าจะเข้าใจเพิ่มขึ้นแล้วนะคะว่าชนิดของเมฆส่วนใหญ่ที่เหมาะกับการทำฝนหลวง คือ “เมฆคิวมูลัส” (Cumulus) ที่มีลักษณะเป็นก้อนเดี่ยว ก่อตัวในแนวตั้ง อาจมีขนาดเล็ก หรือมียอดเมฆสูงถึงชั้นกลาง ส่วนในกรณีที่เป็นเมฆฝน เราจะเพิ่มคำว่า “นิมโบ” หรือ “นิมบัส” ซึ่งแปลว่า “ฝน” เข้าไป เช่น เราเรียกเมฆก้อนที่มีฝนตกว่า “เมฆคิวมูโลนิมบัส” (Cumulonimbus) และเรียกเมฆแผ่นที่มีฝนตกว่า “เมฆนิมโบสเตรตัส” (Nimbostratus) ค่ะ 

นอกจากนี้ เราไม่เพียงแค่จะชวนคุณมาแหงนมองดูก้อนเมฆบนท้องฟ้าด้วยตาเปล่าเท่านั้นนะคะ ปัจจุบัน กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ยังได้กำลังพัฒนาระบบปัญญาประดิษฐ์ (AI) ซึ่งเป็นอีกก้าวหนึ่งของงานวิจัยโครงการพัฒนาระบบ AI เพื่อพยากรณ์ความเหมาะสมของกลุ่มเมฆต่อการปฏิบัติการฝนหลวง Cloud Images Classification for Rainmaking using Artificial Intelligence ในการสานต่อศาสตร์ตำราฝนหลวงพระราชทาน เพื่อช่วยจดจำและดูว่าเมฆลักษณะแบบนี้ เหมาะกับการทำฝนหลวงในขั้นตอนใด ซึ่งจะเป็นเครื่องมือช่วยสนับสนุนในการตัดสินใจปฏิบัติการฝนหลวง โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างประโยชน์ให้กับประชาชนได้สูงสุด นับเป็นความก้าวหน้าอีกขั้นของเราที่จะทำให้คุณแหงนมองดูก้อนเมฆไม่เหมือนเดิมอีกต่อไปค่ะ

เขียนโดย "เพียงฟ้า"

ภาพและวีดีโอ