เปลี่ยนการแสดงผล
5 เรื่องชวนรู้เกี่ยวกับ #เรดาร์ฝนหลวง
18 พฤศจิกายน 2564 1,898 ครั้ง

นอกจากกรมฝนหลวงและการบินเกษตร จะมีการทำงานร่วมกับเครือข่ายอาสาสมัครฝนหลวง ในการช่วยติดตาม สังเกตการณ์เมฆฝนในแต่ละพื้นที่ และรายงานสภาพของเมฆ เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการวางแผนการทำฝนหลวงให้เกิดประสิทธิภาพอย่างสูงสุดแล้ว

สิ่งหนึ่งที่สำคัญไม่แพ้กันก็คือ การนำเทคโนโลยีและเครื่องมืออุปกรณ์ต่าง ๆ มาช่วยเสริมการทำฝนหลวงให้ได้ประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีนะคะว่า #การทำฝนหลวง จำเป็นต้องพึ่งปัจจัยทางสภาพอากาศที่เหมาะสมกับการทำฝนหลวง ดังนั้น เราจึงมีการนำเทคโนโลยีเรดาร์มาประยุกต์ใช้ในการตรวจวัดสภาพอากาศเป็นประจำทุกวันเพื่อนำข้อมูลมาวิเคราะห์ในการวางแผนการทำงานรวมถึงติดตามการเปลี่ยนแปลง และการพัฒนาตัวของเมฆ สำหรับดำเนินงานในขั้นตอนต่าง ๆ 

วันนี้เราจึงอยากชวนทุกท่านมารู้จัก #เรดาร์ฝนหลวง ซึ่งเป็นอีกหนึ่งเทคโนโลยีและเครื่องมือที่สำคัญของกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ที่มีส่วนช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้กับการทำฝนหลวงกันค่ะ

1. เรดาร์ฝนหลวงคือ ?
เรดาร์ฝนหลวง คือ เรดาร์ตรวจอากาศ (Weather Radar) ซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่ใช้สำหรับการตรวจวัดสภาพอากาศในระยะไกล สามารถตรวจวัดกลุ่มฝน ความเข้มหรือวัดปริมาณฝน ความเร็วของการเคลื่อนตัวของกลุ่มฝน (Radial Velocity) และบอกถึงระดับความรุนแรงของกลุ่มฝนได้ โดยการส่งสัญญาณคลื่นวิทยุ เรดาร์ตรวจอากาศจะทำการส่งคลื่นวิทยุเป็นจังหวะในช่วงเวลาสั้น ๆ ในลักษณะคลื่นมุมแคบ ๆ เมื่อลำคลื่นดังกล่าวกระทบกับกลุ่มฝน หรือสิ่งกีดขวาง จะสะท้อนกลับมายังจานสายอากาศ เข้าสู่เครื่องรับเพื่อนำมาใช้ในการประมวลสัญญาณ ก่อนที่จะถูกส่งไปแสดงข้อมูลบนจอภาพเรดาร์ต่อไปค่ะ

2. เรดาร์ฝนหลวงทำงานอย่างไร
การใช้งานของเครื่องเรดาร์ฝนหลวง จะพิจารณาพื้นที่เป้าหมายของการทำฝนหลวงเป็นหลัก โดยกำหนดรัศมีของการตรวจวัด ที่ 240 กิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่การทำฝนหลวง 77 จังหวัดทั่วประเทศไทย และทำการตรวจข้อมูลแบบเชิงปริมาตร (Volume Scan) เพื่อให้สามารถเก็บข้อมูลสภาพอากาศแบบสามมิติ ทั้งแนวระนาบและแนวตั้งได้ในเวลาเดียวกัน โดยให้สามารถเก็บข้อมูลสภาพอากาศที่มีรัศมีใกล้สุด 25 กิโลเมตร มีความสูงอย่างต่ำ 10 กิโลเมตร และรัศมีไกลสุด 240 กิโลเมตร มีความสูงอย่างต่ำ 20 กิโลเมตร เรดาร์จะทำการสแกน หรือหมุนจานสายอากาศในแนวระนาบ และทางแนวตั้ง เพื่อตรวจวัดข้อมูลกลุ่มเมฆฝนตั้งแต่ระดับต่ำ จนถึงระดับความสูงตามที่ต้องการ และจะทำการตรวจวัดข้อมูลแบบเชิงปริมาตรทุก ๆ 6 นาที ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อให้ได้ข้อมูลในการติดตามตรวจกลุ่มเมฆฝนได้อย่างต่อเนื่อง และมีประสิทธิภาพ

3. ชนิดของระบบเรดาร์ตรวจอากาศฝนหลวง
ระบบเรดาร์ตรวจอากาศที่กรมฝนหลวงฯ ใช้งานอยู่นั้น มีอยู่ 2 ชนิด คือ 
- ระบบเรดาร์ตรวจอากาศแบบ S Band มีความถี่ 2.8 GHz ใช้สำหรับการใช้งานแบบติดตั้งประจำที่ เนื่องจากมีขนาดใหญ่ เหมาะสำหรับการตรวจฝนกำลังแรงถึงกำลังแรงมาก และสามารถตรวจฝนกำลังอ่อนถึงฝนกำลังปานกลางได้ด้วย
- ระบบเรดาร์ตรวจอากาศ แบบ C Band มีความถี่ 5.6 GHz ใช้สำหรับการใช้งานแบบติดตั้งเคลื่อนที่ หรือแบบประจำที่ก็ได้ เนื่องจากมีขนาดเล็กกว่าระบบเรดาร์ตรวจอากาศ แบบ S Band เหมาะสำหรับการตรวจฝนกำลังปานกลางถึงกำลังแรง และสามารถตรวจฝนกำลังอ่อนถึงฝนกำลังปานกลางได้ด้วย

4. สถานีเรดาร์ฝนหลวง
ปัจจุบันกรมฝนหลวงและการบินเกษตร มีระบบเรดาร์ตรวจกลุ่มฝน จำนวน 10 สถานี เพื่อใช้ในการทำฝนหลวง โดยแบ่งออกเป็น สถานีเรดาร์แบบประจำที่ จำนวน 5 สถานี และสถานีเรดาร์แบบเคลื่อนที่ จำนวน 5 สถานี ได้แก่
สถานีเรดาร์แบบประจำที่ ชนิด S Band ความถี่ 2.8 GHz มีจำนวน 5 สถานี ดังนี้
- สถานีเรดาร์ฝนหลวงอมก๋อย ต.ยางเปียง อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่
- สถานีเรดาร์ฝนหลวงตาคลี ต.ตาคลี อ.ตาคลี จ.นครสวรรค์
- สถานีเรดาร์ฝนหลวงพิมาย ต.รังกาใหญ่ อ.พิมาย จ.นครราชสีมา
- สถานีเรดาร์ฝนหลวงสัตหีบ ต.พลูตาหลวง อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี
- สถานีเรดาร์ฝนหลวงพนม ต.พนม อ.พนม จ.สุราษฎร์ธานี
สถานีเรดาร์แบบเคลื่อนที่ ชนิด C Band ความถี่ 5.6 GHz มีจำนวน 5 สถานี ซึ่งสถานีเรดาร์แบบเคลื่อนที่ สามารถย้ายไปปฏิบัติงานตามสถานที่ต่าง ๆ ได้ ตามความเหมาะสม โดยมีแผนการทำงานเพื่อสนับสนุนหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงประจำภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วประเทศ ดังนี้
- สถานีเรดาร์ฝนหลวงร้องกวาง อ.ร้องกวาง จ.แพร่
- สถานีเรดาร์ฝนหลวงบ้านผือ อ.บ้านผือ จ.อุดรธานี
- สถานีเรดาร์ฝนหลวงราษีไศล อ.ราษีไศล จ.ศรีสะเกษ
- สถานีเรดาร์ฝนหลวงปะทิว อ.ปะทิว จ.ชุมพร
- สถานีเรดาร์ฝนหลวงสิงหนคร อ.สิงหนคร จ.สงขลา
โดยสถานที่ตั้งของสถานีเรดาร์ฝนหลวง ทั้งหมด 10 แห่งทั่วประเทศ ท่านสามารถเข้าไปดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ www.royalrain.go.th และสามารถติดตามดูข้อมูล ภาพเรดาร์ (CAPPI) ล่าสุดของฝนหลวง โดยเลือกดูสถานีเรดาร์ฝนหลวงที่ท่านต้องการได้เลยนะคะ

5. ประโยชน์ของเรดาร์ฝนหลวง
เรดาร์ฝนหลวงนั้น ถือเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้ได้ข้อมูลในการติดตามตรวจกลุ่มเมฆฝนได้อย่างต่อเนื่อง และมีประสิทธิภาพ สำหรับใช้ในการวางแผน และการทำฝนหลวง การประเมินผล และการเตือนภัยการบินทำฝนหลวง ซึ่งจะเป็นการพัฒนาการทำฝนหลวงให้ดียิ่งขึ้น ทำให้เราสามารถทราบว่ากลุ่มเมฆฝนอยู่บริเวณใด มีความเข้มหรือปริมาณฝนเท่าใด รวมทั้งสามารถติดตามการเคลื่อนที่ และทิศทางของพายุฝนฟ้าคะนองได้ นอกจากนี้ยังสามารถใช้ประเมินผลการทำฝนหลวงได้จากข้อมูลเรดาร์ฝนหลวง ควบคู่ไปกับการวัดปริมาณฝนจากการทำฝนหลวงของอาสาสมัครฝนหลวงในพื้นที่ ว่ามีปริมาณมากน้อยเพียงใด สอดคล้องกับการประเมินจากเรดาร์ฝนหลวงหรือไม่ และยังมีประโยชน์ในการวิจัยและการพัฒนากรรมวิธีทำฝน รวมทั้งสามารถใช้แจ้งเตือนภัยฝนฟ้าคะนองแก่อากาศยาน และการแจ้งเตือนฝนตกหนัก อีกทั้งข้อมูลเรดาร์ฝนหลวงจะเป็นประโยชน์ต่อกิจกรรมต่าง ๆ ของการทำฝนหลวง เช่น ข้อมูลเชิงปริมาตร ข้อมูลสภาพอากาศสามมิติ การเตือนภัยจากพายุฝนฟ้าคะนอง โดยการนำเทคโนโลยีเรดาร์มาประยุกต์ใช้กับการทำฝนหลวงนั้น จะเป็นการเสริมสร้างให้ภารกิจการทำฝนหลวงมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นต่อไปค่ะ

ขอขอบคุณข้อมูลอ้างอิงจาก
www.royalrain.go.th
กลุ่มตรวจสภาพอากาศ กองปฏิบัติการฝนหลวง 
หนังสือ 9 ใน 9 สิ่งสำคัญสัมพันธ์ฝนหลวง

ภาพและวีดีโอ