เปลี่ยนการแสดงผล
องคมนตรีเปิดอาคารศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง พร้อมติดตามสถานการณ์น้ำในพื้นที่ จ.บุรีรัมย์
15 ธันวาคม 2564 713 ครั้ง

วันที่ 15 ธันวาคม 2564 เวลา 10.00 น. พลอากาศเอก ชลิต พุกผาสุข องคมนตรี ประธานคณะกรรมการที่ปรึกษาผู้ทรงคุณวุฒิฝนหลวง ให้เกียรติเป็นประธานเปิดอาคารศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ณ ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ตำบลร่อนทอง อำเภอสตึก จังหวัดบุรีรัมย์ ซึ่งได้จัดตั้งขึ้นเพื่อรองรับและสนับสนุนการปฏิบัติการฝนหลวง การจัดการทรัพยากรน้ำแบบบูรณาการในเขตพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง เพื่อสืบสานศาสตร์ตำราฝนหลวงพระราชทานของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในการช่วยเหลือประชาชน รวมถึงการปฏิบัติภารกิจตามนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยเป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก 2 ชั้น มีพื้นที่ 1,221 ตารางเมตร กำหนดให้มีการเปิดอาคารเพื่อใช้เป็นที่ทำการประสานงานด้านนโยบายและการมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำแบบบูรณาการของประเทศ ปฏิบัติการทำฝนเพื่อเพิ่มปริมาณน้ำในพื้นที่เกษตร ป่าไม้ การเติมน้ำต้นทุนให้กับอ่างเก็บน้ำและเขื่อนต่างๆ บรรเทาปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กในอากาศ PM 2.5 ป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้ง ไฟป่า และภัยพิบัติอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องให้แก่เกษตรกร ประชาชน และผู้ใช้น้ำทั่วไป

สำหรับศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง มีภารกิจปฏิบัติการฝนหลวงในพื้นที่การเกษตรที่รับผิดชอบโดยเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศ ได้แก่ ข้าวหอมมะลิ ข้าวโพด ยางพารา อ้อย  มันสำปะหลัง ในเขตพื้นที่จำนวน 10 จังหวัด ประกอบด้วย ชัยภูมิ นครราชสีมา บุรีรัมย์ มหาสารคาม ยโสธร ร้อยเอ็ด ศรีสะเกษ สุรินทร์ อุบลราชธานี อำนาจเจริญ และรับผิดชอบพื้นที่ลุ่มรับน้ำเขื่อนและอ่างเก็บน้ำ ได้แก่ เขื่อนจุฬาภรณ์ เขื่อนลำตะคอง เขื่อนลำพระเพลิง เขื่อนลำแซะ เขื่อนลำนางรอง เขื่อนลำมูลบน เขื่อนลำปลายมาศ เขื่อนสิรินธร รวมถึงดูแลรับผิดชอบการปฏิบัติการฝนหลวงให้กับลุ่มน้ำโขง ลุ่มน้ำชี ลุ่มน้ำมูล ซึ่งจากผลการปฏิบัติการฝนหลวงตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ – 31 ตุลาคม 2564 ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ได้มีการปฏิบัติการฝนหลวงช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรและพื้นที่ลุ่มรับน้ำที่ประสบปัญหาภัยแล้ง โดยความรับผิดชอบของ 4 หน่วยปฏิบัติการฝนหลวง ได้แก่ หน่วยปฏิบัติการฝนหลวงจังหวัดบุรีรัมย์ อุบลราชธานี นครราชสีมา และสุรินทร์ มีการขึ้นบินปฏิบัติการฯ รวมจำนวน 158 วัน 878 เที่ยวบิน มีวันฝนตกจากการปฏิบัติการฝนหลวง จำนวน 158 วัน คิดเป็นร้อยละ 96.8 มีพื้นที่การเกษตรที่ได้รับประโยชน์ จำนวน 43.0 ล้านไร่ รวมถึงมี  ฝนตกในพื้นที่ลุ่มรับน้ำเขื่อนและอ่างเก็บน้ำ รวม 27 แห่ง สามารถเติมน้ำต้นทุนให้กับเขื่อนและอ่างเก็บน้ำ รวม 14.6 ล้าน ลบ.ม.

ต่อจากนั้นในช่วงบ่าย พลอากาศเอก ชลิต พุกผาสุข องคมนตรี เข้าร่วมประชุมคณะกรรมการที่ปรึกษาผู้ทรงคุณวุฒิฝนหลวง ครั้งที่ 3/2564 ณ ห้องประชุมศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง จังหวัดบุรีรัมย์ เพื่อติดตามความก้าวหน้าการจัดตั้งศูนย์ถ่ายทอดด้านการดัดแปรสภาพอากาศ ตามศาสตร์ตำราฝนหลวงพระราชทาน ซึ่งประกอบด้วยการสร้างศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคใต้ตอนบน และพิพิธภัณฑ์พระบิดาแห่งฝนหลวง โดยในระยะที่ 1 กำหนดลงนามสัญญาก่อสร้างภายในไตรมาสที่ 2 ของปีงบประมาณ 2565 และในระยะที่ 2 กำหนดถอดแบบโครงสร้างภายในและประเมินราคาสำหรับขอตั้งงบประมาณปี 2566-2568 ต่อไป

ด้านความก้าวหน้าการดำเนินการก่อสร้างศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคเหนือ จังหวัดตาก ในขณะนี้ได้ดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จไปแล้วร้อยละ 48.97 ประกอบด้วย โรงบดสารฝนหลวงดำเนินการเรียบร้อยแล้ว และตัวอาคารสำนักงานอยู่ระหว่างดำเนินการ ซึ่งคาดว่าแล้วเสร็จทั้งหมดภายในปี 2565 ส่วนความก้าวหน้าด้านความร่วมมือด้านฝนหลวงต่างประเทศ ในปี 2564 ที่ผ่านมา กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ได้มีการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) กับประเทศจีน มองโกเลีย และอินโดนีเซีย เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้การวิจัยร่วมกัน และการถ่ายทอดเทคโนโลยีฝนหลวง นอกจากนี้ ประเทศไทยยังได้เป็นผู้ประสานงานหลักในการจัดตั้งศูนย์การดัดแปรสภาพอากาศอาเซียนอีกด้วย ในส่วนของความก้าวหน้าการก่อสร้างสนามบินท่าใหม่ อำเภอท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี ขณะนี้กำลังดำเนินงานอยู่ในระยะที่ 2 ประกอบด้วย การปูยาง A/C Hot Mixed ไหล่ทางวิ่ง การปูยาง A/C Hot Mixed ผิวทางขับ งานลานคอนกรีต ทาสีตีเส้นจราจร งานระบบไฟฟ้าสนามบิน และระบบไฟฟ้าภายใน ทั้งนี้จะมีการสร้างถนนเลี่ยงทางวิ่ง สร้างรั้ว AIRSIDE และรั้วแนวเขต ในระยะที่ 3 ต่อไป

หลังจากนั้น พลอากาศเอก ชลิต พุกผาสุข องคมนตรี ได้ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำโครงการแก้มลิงกุดน้ำใส-หนองบัว-หนองยาว อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตำบลสะแก อำเภอสตึก จังหวัดบุรีรัมย์ ซึ่งเป็นโครงการที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ รับเป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2554 เพื่อช่วยเหลือราษฎรที่ประสบความเดือดร้อนจากการขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค และทำการเกษตร ซึ่งกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ได้น้อมนำแนวพระราชดำริตามศาสตร์ตำราฝนหลวงพระราชทานมาเป็นแนวทางการปฏิบัติการฝนหลวงในการเติมน้ำให้แก่โครงการดังกล่าว และสามารถช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ตำบลสะแก อำเภอสตึกจังหวัดบุรีรัมย์ จำนวนกว่า 700 ครัวเรือน พื้นการเกษตร จำนวนกว่า 1,500 ไร่ อันเป็นการดำเนินงานตามพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จเจ้าอยู่หัวเพื่อทรงสืบสาน รักษา และต่อยอด ในการบำบัดทุกข์บำรุงสุขแก่ราษฎรต่อไป
**************************
กรมฝนหลวงและการบินเกษตร
15 ธันวาคม 2564

ภาพและวีดีโอ