เปลี่ยนการแสดงผล
ฝนหลวงฯ จัดอบรมหลักสูตรเทคโนโลยีการดัดแปรสภาพอากาศ สำหรับบุคลากรของไทยและมองโกเลีย ระหว่างวันที่ 25 – 28 เมษายน 2565
25 เมษายน 2565 495 ครั้ง
ฝนหลวงฯ จัดอบรมหลักสูตรเทคโนโลยีการดัดแปรสภาพอากาศ สำหรับบุคลากรของไทยและมองโกเลีย ระหว่างวันที่ 25 – 28 เมษายน 2565
กรมฝนหลวงและการบินเกษตร จัดโครงการฝึกอบรมหลักสูตรเทคโนโลยีการดัดแปรสภาพอากาศ สำหรับบุคลากรของไทยและมองโกเลีย ประจำปี 2565 ระหว่างวันที่ 25- 28 เมษายน 2565 เพื่อเพิ่มพูนความรู้ ทักษะ เกี่ยวกับเทคโนโลยีฝนหลวงและเทคโนโลยีการดัดแปรสภาพอากาศ และส่งเสริมความสัมพันธ์อันดีระหว่างประเทศไทยกับประเทศมองโกเลีย ผ่านระบบ zoom meeting cloud จากกรมฝนหลวงและการบินเกษตร
วันที่ 25 เมษายน 2565 เวลา 08.30 น. กรมฝนหลวงและการบินเกษตร จัดโครงการฝึกอบรมหลักสูตรเทคโนโลยีการดัดแปรสภาพอากาศ สำหรับบุคลากรของไทยและมองโกเลีย ประจำปี 2565 ระหว่างวันที่ 25 – 28 เมษายน 2565 ผ่านระบบ zoom meeting cloud โดยมี นายภักดี จันทร์เกษ ผู้อำนวยการกองวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีฝนหลวง เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการฯ ซึ่งโครงการดังกล่าวอยู่ภายใต้กรอบความร่วมมือทางวิชาการด้านการดัดแปรสภาพอากาศ (Joint Action Programme: JAP) ลงนามเมื่อวันที่ 27 กันยายน 2564 มีวัตถุประสงค์เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ด้านการดัดแปรสภาพอากาศ เสริมสร้างขีดความสามารถการดัดแปรสภาพอากาศ และลดความเสี่ยงต่อภัยธรรมชาติ ตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร สำหรับใช้บรรเทาปัญหาการขาดแคลนน้ำของราษฎร โดยการอบรมครั้งนี้เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และเพิ่มพูนทักษะเกี่ยวกับเทคโนโลยีฝนหลวง ตลอดจนเทคโนโลยีการดัดแปรสภาพอากาศ โดยมุ่งเน้นให้สามารถนำไปประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับบริบทของทั้งสองประเทศ และเป็นการส่งเสริมความสัมพันธ์อันดีระหว่างประเทศไทยกับมองโกเลีย และการอบรมครั้งนี้ได้มีนักวิชาการด้านอุตุนิยมวิทยาและการดัดแปรสภาพอากาศของกรมอุตุนิยมวิทยาและติดตามสภาพอากาศแห่งประเทศมองโกเลีย เข้าร่วมจำนวน 22 คน และนักวิทยาศาสตร์ กรมฝนหลวงและการบินเกษตร จำนวน 55 คน ด้วยเช่นกัน
สำหรับเนื้อหาในการให้ความรู้ครั้งนี้ประกอบด้วย ประวัติความเป็นมาของกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ประวัติของเทคโนโลยีฝนหลวง ขั้นตอนการปฏิบัติการฝนหลวงในประเทศไทย คุณลักษณะทางฟิสิกส์ของเมฆในประเทศไทย การเลือกเมฆเพื่อการปฏิบัติการฝนหลวง การตัดสินใจเพื่อการปฏิบัติการฝนหลวง การพัฒนาระบบประเมินผลการปฏิบัติการฝนหลวง ระบบประเมินพื้นที่ได้รับประโยชน์จากการปฏิบัติการฝนหลวง และวิธีการประเมินคุณภาพน้ำฝนจากการปฏิบัติการฝนหลวง โดยมีนายภักดี จันทร์เกษ ผู้อำนวยการกองวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีฝนหลวง ในฐานะหัวโครงการฯ พร้อมด้วยนายฉันติ เดชโยธิน ผู้เชี่ยวชาญด้านวิจัยและพัฒนาวิทยาศาสตร์บรรยากาศประยุกต์ และคณะ เป็นวิทยากรในครั้งนี้ ซึ่งประโยชน์สำหรับการอบรมครั้งนี้บุคลากรของไทยและมองโกเลีย จะได้รับความรู้ที่สามารถนำไปใช้พัฒนาเทคโนโลยีการดัดแปรสภาพอากาศของประเทศตนเอง เพื่อบรรเทาปัญหาการขาดแคลนน้ำของราษฎร รวมถึงการสร้างเครือข่ายความมือด้านการดัดแปรสภาพอากาศระหว่างประเทศไทยกับประเทศมองโกเลีย ซึ่งนับว่าเป็นอีกหนึ่งความร่วมมือระหว่างประเทศที่ได้น้อมนำแนวทางศาสตร์ฝนหลวงพระราชทาน เพื่อบรรเทาภัยแล้งให้แก่ชาวต่างประเทศ
ภาพและวีดีโอ