เปลี่ยนการแสดงผล
องคมนตรีประชุมคณะกรรมการที่ปรึกษาผู้ทรงคุณวุฒิฝนหลวง ครั้งที่ 2/2565 เพื่อติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงานโครงการพระราชดำริฝนหลวง
6 มิถุนายน 2565 387 ครั้ง
องคมนตรีประชุมคณะกรรมการที่ปรึกษาผู้ทรงคุณวุฒิฝนหลวง ครั้งที่ 2/2565 เพื่อติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงานโครงการพระราชดำริฝนหลวง
วันนี้ (6 มิถุนายน 2565) เวลา 09.00 น. พลอากาศเอก ชลิต พุกผาสุข องคมนตรี ประธานกรรมการที่ปรึกษาผู้ทรงคุณวุฒิฝนหลวง และนายจรัลธาดา กรรณสูต รองประธานกรรมการที่ปรึกษาผู้ทรงคุณวุฒิฝนหลวง ประชุมคณะกรรมการที่ปรึกษาผู้ทรงคุณวุฒิฝนหลวง ครั้งที่ 2/2565 ณ กรมฝนหลวงและการบินเกษตร เขตจตุจักร โดยติดตามการดำเนินงานโครงการพระราชดำริฝนหลวงในรอบ 6 เดือนที่ผ่านมา ซึ่งมีความก้าวหน้าด้านต่างๆ ได้แก่ ด้านการปฏิบัติการฝนหลวง ภารกิจช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรที่มีความต้องการน้ำ ตั้งแต่วันที่ 15 กุมภาพันธ์ ถึงวันที่ 27 พฤษภาคม 2565 ปฏิบัติการฝนหลวง รวมจำนวน 64 วัน 604 เที่ยวบิน มีวันฝนตกจากการปฏิบัติการ รวม 63 วัน ในพื้นที่ 37 จังหวัด ทำให้มีพื้นที่การเกษตรได้รับประโยชน์จากการปฏิบัติการฝนหลวง จำนวน 84.8 ล้านไร่ และมีฝนตกในพื้นที่ลุ่มรับน้ำเขื่อนและอ่างเก็บน้ำ รวม 33 แห่ง รวมถึงปฏิบัติการฝนหลวงภารกิจยับยั้งการเกิดพายุลูกเห็บ
รวมจำนวน 22 วัน 29 เที่ยวบิน ทำให้ไม่พบรายงานลูกเห็บตกในพื้นที่ที่ช่วยเหลือ เช่น จังหวัดพะเยา เชียงใหม่ พิษณุโลก ลำปาง เลย ชัยภูมิ เป็นต้น
.
ด้านความก้าวหน้าการจัดหาอากาศยาน(ทดแทน) เพื่อใช้ในภารกิจการปฏิบัติการฝนหลวง ระยะ 5 ปี จำนวน 9 ลำ ประกอบด้วย เครื่องบินปีกตรึงขนาดกลาง 4 ลำ เครื่องบินปีกตรึงขนาดเล็ก 2 ลำ และเฮลิคอปเตอร์ จำนวน 3 ลำ เพื่อทดแทนอากาศยานที่มีอายุการใช้งาน 25 ปีขึ้นไป โดยปัจจุบัน ปี 2565 มีการดำเนินการจัดซื้อทดแทน จำนวน 2 ลำ และอยู่ระหว่างการจัดหาอากาศยาน จำนวน 4 ลำ เพื่อทดแทนปี 2566-2570
.
ด้านโครงการวิจัยและพัฒนาจรวดดัดแปรสภาพอากาศ โดยความร่วมมือกับสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ (สทป.) เพื่อใช้สำหรับบรรเทาภัยพิบัติในพื้นที่เสี่ยงเกิดลูกเห็บและเพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบัติการฝนหลวงเมฆเย็น ขณะนี้ดำเนินการอยู่ในระยะที่ 3 คือการทดลองเชิงปฏิบัติการ ซึ่งคาดว่าจะสรุปผลโครงการภายในปี 2567
.
ด้านโครงการวิจัยพัฒนาเครื่องบินเป้าอากาศไร้นักบิน เพื่อสนับสนุนการปฏิบัติการฝนหลวงเมฆอุ่น โดยความร่วมมือกับศูนย์วิจัยพัฒนาวิทยาศาสตร์การบินและอวกาศกองทัพอากาศ (ศวอ.ทอ.) ปัจจุบันดำเนินการอยู่ในระยะที่ 4 คือการบินทดสอบรัศมีปฏิบัติการไม่เกิน 30 กิโลเมตร และทดสอบการบินปฏิบัติการฝนหลวงในพื้นที่จริง ซึ่งจะดำเนินการแล้วเสร็จในเดือนมิถุนายน 2565 และสรุปผลโครงการต่อไป
.
นอกจากนี้ ยังมีการดำเนินการจัดตั้งศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านการดัดแปรสภาพอากาศ ตามตำราฝนหลวงพระราชทาน อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี ซึ่งเป็นสถานที่ตั้งของศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคใต้ตอนบน และอาคารพิพิธภัณฑ์พระบิดาแห่งฝนหลวง โดยมีความก้าวหน้าอยู่ระหว่างการประกวดราคา เพื่อหาผู้รับจ้าง และในเดือนกรกฎาคม 2565 จะดำเนินการจัดพิธีวางศิลาฤกษ์อีกด้วย สำหรับความก้าวหน้าการดำเนินการก่อสร้างศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคเหนือ จังหวัดตาก ปัจจุบันคงเหลือการก่อสร้างอีก 24.26 %
.
ความก้าวหน้าการดำเนินการปรับปรุงสนามบินท่าใหม่ อำเภอท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี ขณะนี้ดำเนินการอยู่ในระยะที่ 2 ประกอบด้วย การปูยาง A/C Hot Mixed ไหล่ทางวิ่ง การปูยาง A/C Hot Mixed ผิวทางขับ งานลานคอนกรีต ทาสีตีเส้นจราจร งานระบบไฟฟ้าสนามบิน และระบบไฟฟ้าภายใน ซึ่งมีกำหนดแล้วเสร็จในปลายปี 2565 และสำหรับการดำเนินงานในระยะที่ 3 คือ การสร้างถนนเลี่ยงทางวิ่ง สร้างรั้ว AIRSIDE และรั้วแนวเขต กำหนดแล้วเสร็จภายในปี 2566 เพื่อดำเนินการปรับปรุงระยะที่ 4 ในปี 2567 และความก้าวหน้าการขอใช้พื้นที่ตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวง จังหวัดกาญจนบุรีและจังหวัดลพบุรี ขณะนี้ได้หารือร่วมกับกองพลทหาราบที่ 9 จังหวัดกาญจนบุรีเรียบร้อยแล้ว และอยู่ระหว่างการออกแบบปรับปรุงและประมาณราคา ส่วนที่จังหวัดลพบุรี อยู่ระหว่างการขอความอนุเคราะห์ใช้พื้นที่กองทัพอากาศ
.
อย่างไรก็ตาม กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ยังมีกิจกรรมโครงการโปรยเมล็ดพันธุ์พืชทางอากาศ สร้างความชื้นสัมพัทธ์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบัติการฝนหลวง เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 28 กรกฎาคม 2565 และพิธีน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ณ ศูนย์ฝนหลวงหัวหิน สนามบินบ่อฝ้าย อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เพื่อเป็นการรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงมีต่อโครงการพระราชดำริฝนหลวง
.
โดยศูนย์ฝนหลวงหัวหิน สนามบินบ่อฝ้าย เป็นสถานที่ประวัติศาสตร์สำคัญเกี่ยวข้องกับโครงการพระราชดำริฝนหลวง ได้แก่ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ใช้เป็นฐานปฏิบัติการหลักในการวิจัย การค้นคว้าทดลองเพื่อพัฒนาขั้นตอนกรรมวิธีและเทคนิคในการปฏิบัติการฝนหลวงมาตั้งแต่ พ.ศ. 2512 และเสด็จพระราชดำเนินมาทรงประกอบพระราชกรณียกิจดังกล่าวด้วยพระองค์เอง ทั้งระหว่างที่ทรงแปรพระราชฐานมาประทับ ณ พระราชวังไกลกังวล หรือทรงบัญชาการมาจากพระตำหนักจิตรลดารโหฐานผ่านข่ายวิทยุตำรวจ โดยกรมการบินพาณิชย์ได้จัดอาคารท่าอากาศยานในขณะนั้นให้เป็นสถานที่ทรงงาน และเรียกว่า “ศาลาที่ประทับ” ตั้งแต่นั้นมา และเป็นสถานที่ที่เคยเสด็จพระราชดำเนินมาทรงตรวจเยี่ยมศูนย์ฝนหลวงหัวหิน และคณะปฏิบัติการฝนหลวงพิเศษเคลื่อนที่เร็วติดตามพระองค์ เพื่อทรงบรรยายและสาธิตการทำฝนหลวงแก่นักเรียนไกลกังวลในรายการศึกษาทัศน์ของมูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2544 อีกด้วย โดยในปัจจุบันสถานที่ดังกล่าวยังได้รับการบำรุงรักษาอยู่ภายในหอเฉลิมพระเกียรติพระบิดาแห่งฝนหลวง ทั้งนี้ การดำเนินงานดังกล่าวทั้งหมด กรมฝนหลวงและการบินเกษตร มีความมุ่งมั่นที่จะดำเนินตามพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จเจ้าอยู่หัว ที่ทรงมีพระราชปณิธานในนการสืบสาน รักษา และต่อยอด บำบัดทุกข์บำรุงสุขแก่ราษฎรต่อไป
ภาพและวีดีโอ