เปลี่ยนการแสดงผล
องคมนตรี ลงพื้นที่ตรวจติดตามความก้าวหน้าการก่อสร้างอาคารศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคเหนือจังหวัดตาก พร้อมรับฟังสรุปผลการปฏิบัติการฝนหลวง
15 กันยายน 2565 470 ครั้ง
องคมนตรี ลงพื้นที่ตรวจติดตามความก้าวหน้าการก่อสร้างอาคารศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคเหนือจังหวัดตาก พร้อมรับฟังสรุปผลการปฏิบัติการฝนหลวง
วันที่ 14 กันยายน 2565 เวลา 09.30 น. พลอากาศเอก ชลิต พุกผาสุข องคมนตรี ประธานกรรมการที่ปรึกษาผู้ทรงคุณวุฒิฝนหลวง ลงพื้นที่ตรวจติดตามความก้าวหน้าการก่อสร้างอาคารศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคเหนือจังหวัดตาก ณ ตำบลน้ำรึม อำเภอเมืองตาก จังหวัดตาก โดยมีนายสมชัย กิจเจริญรุ่งโรจน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดตาก ให้การต้อนรับ ซึ่งอาคารศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคเหนือจังหวัดตาก สร้างขึ้นเพื่อเป็นศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงเพื่อแก้ไขปัญหาภัยแล้งและบรรเทาภัยพิบัติ ใน 7 จังหวัดภาคเหนือ ได้แก่ จังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ ตาก แม่ฮ่องสอน พะเยา ลำปาง และ ลำพูน การทำฝนเพื่อเติมน้ำต้นทุนให้กับเขื่อนและอ่างเก็บน้ำ ได้แก่ เขื่อนภูมิพล จ. ตาก เขื่อนแม่กวงอุดมธารา และเขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล จ. เชียงใหม่ เขื่อนกิ่วลม เขื่อนกิ่วคอหมา และเขื่อนแม่มอก จ. ลำปาง โดยกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ได้ขอใช้พื้นที่ราชพัสดุจากกรมธนารักษ์ จัดสร้างศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคเหนือจังหวัดตาก มีกำหนดแล้วเสร็จภายในปี 2565 และกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ยังมีแผนในการพัฒนาพื้นที่ดังกล่าวเป็นศูนย์การบินดัดแปรสภาพอากาศตามตำราฝนหลวงพระราชทาน อีกด้วย
 
นอกจากนี้ นายสำเริง แสงภู่วงค์ อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ได้บรรยายสรุปผลการปฏิบัติการฝนหลวงประจำปี 2565 นับตั้งแต่เริ่มเปิดหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงเพื่อแก้ไขปัญหาภัยแล้ง เดือนกุมภาพันธ์ 2565 เป็นต้นมา โดยมีการขึ้นบินปฏิบัติการฝนหลวงทั้งสิ้น 145 วัน จำนวนเที่ยวบิน รวม 1,702 เที่ยวบิน พบว่ามีฝนตกจากการปฏิบัติการ คิดเป็นร้อยละ 97.5 พื้นที่ที่ได้รับประโยชน์จากการปฏิบัติการฝนหลวง 174.3 ล้านไร่ มีฝนตกในพื้นที่ลุ่มรับน้ำเขื่อนและอ่างเก็บน้ำรวม 58 แห่ง ปริมาณน้ำทั้งสิ้นรวม 142.9 ล้าน ลบ.ม. จึงเห็นได้ว่าจากการปฏิบัติการฝนหลวงดังกล่าว สามารถที่จะบรรเทาปัญหาภัยแล้งให้แก่ราษฎรในห้วงระยะเวลาที่ผ่านมาได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งเป็นไปตามพระบรมราโชบายของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่ ที่ให้คำนึงถึงปัญหาภัยแล้งเป็นเรื่องสำคัญ แต่ด้วยสถานการณ์ในปัจจุบันมีฝนตกชุกหนาแน่นและมีพื้นที่ที่ประสบปัญหาน้ำท่วมขัง กรมฝนหลวงและการบินเกษตร จึงได้ทำการปิดหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงทั้งหมดเร็วขึ้น ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2565 ให้สอดคล้องกับสถานการณ์
แต่เพื่อให้การปฏิบัติการฝนหลวงซึ่งต้องอาศัยปัจจัยความชื้นสัมพัทธ์เป็นสิ่งสำคัญและให้การปฏิบัติการเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ กรมฝนหลวงและการบินเกษตร จะยังคงหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงเคลื่อนที่เร็วไว้ จำนวน 2 ชุด ณ สนามบินนครสวรรค์ ตั้งแต่วันที่ 15 ตุลาคม 2565 โดยใช้เครื่องบิน Casa จำนวน 2 ลำ และเครื่องบิน Caravan จำนวน 2 ลำ ให้มีความพร้อมในการปฏิบัติการฝนหลวงเพิ่มปริมาณน้ำเหนือเขื่อนและอ่างเก็บน้ำ ซึ่งแม้ขณะนี้ฝนจะตกชุกหนาแน่น แต่ปริมาณน้ำในเขื่อนภูมิพล หรือเขื่อนอื่นๆ ยังมีปริมาณไม่มากนัก เพื่อสำหรับเก็บกักไว้ให้รองรับกับความต้องการใช้น้ำของประชาชนในการอุปโภคบริโภคและทำการเกษตรในช่วงฤดูแล้งที่จะมาถึงหลังจากสิ้นสุดฤดูฝนในปีนี้
จากนั้น เวลาประมาณ 11.45 น. ได้เดินทางไปยังบริเวณเขื่อนภูมิพล อำเภอสามเงา จังหวัดตาก เพื่อติดตามสถานการณ์น้ำเขื่อนภูมิพล พร้อมรับฟังรายงานการบริหารจัดการน้ำและการเกษตร ซึ่งขณะนี้เขื่อนภูมิพลมีปริมาณน้ำเก็บกักอยู่ประมาณ 53% และปริมาณน้ำใช้การ 36% สามารถรองรับปริมาณน้ำได้อีกมาก เนื่องจากเป็นเขื่อนขนาดใหญ่ จึงยังคงมีความต้องการน้ำเพื่อเก็บกักไว้สำหรับฤดูแล้งที่จะมาถึงในปี 2566 และในเวลาประมาณ 14.30 น. องคมนตรีพร้อมด้วยคณะ ได้เดินทางมายังศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) อำเภอเมืองตาก จังหวัดตาก เพื่อติดตามการดำเนินงานของเครือข่ายอาสาสมัครฝนหลวง จังหวัดตาก และรับฟังผลการดำเนินงานของ ศพก. พร้อมพบปะเกษตรกร ประชาชนผู้ใช้น้ำ และอาสาสมัครฝนหลวง ปัจจุบัน ศพก. มีสมาชิกจำนวน 258 ราย มีพื้นที่ปลูกข้าวอินทรีย์ 1,888 ไร่ ได้แก่ พันธุ์ข้าวขาวดอกมะลิ 105 และพันธุ์พิษณุโลก 80 โดยพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่นอกเขตชลประทาน และได้รับประโยชน์จากการปฏิบัติการฝนหลวงโดยประสานผ่านเครือข่ายอาสาสมัครฝนหลวงจังหวัดตากเป็นประจำทุกปี
สำหรับกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ได้น้อมนำแนวพระราชดำริ “ตำราฝนหลวงพระราชทาน” มาเป็นแนวทางในการปฏิบัติการฝนหลวง เพื่อสนองพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ทรงสืบสาน รักษา และต่อยอด ในการที่จะช่วยเหลือราษฎรที่ประสบกับความเดือดร้อนขาดแคลนน้ำ “โดยให้คำนึงถึงการแก้ไขปัญหาภัยแล้งเป็นเรื่องสำคัญ”
ภาพและวีดีโอ