เปลี่ยนการแสดงผล
กรมฝนหลวงฯ เข้าร่วมการประชุมนานาชาติด้านการเพิ่มปริมาณน้ำฝน
31 มกราคม 2566 358 ครั้ง

 นายภักดี จันทร์เกษ ผู้อำนวยการกองวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีฝนหลวง ได้รับมอบหมายจากอธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ให้เป็นผู้แทนเข้าร่วมการประชุมนานาชาติด้านการเพิ่มปริมาณน้ำฝน (International Rain Enhancement Forum: IREF) ครั้งที่ 6 ระหว่างวันที่ 24 – 29 มกราคม 2566 ณ เมืองอาบูดาบี สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ภายใต้แนวคิด “ร่วมกันเพื่อความมั่นคงด้านน้ำ (United for Water Security)” การประชุมระดับนานาชาติดังกล่าว จัดโดยศูนย์อุตุนิยมวิทยาแห่งชาติ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (National Center of Meteorology) และได้รับเกียรติจากผู้เชี่ยวชาญ นักวิจัย นักวิทยาศาสตร์ และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่มีชื่อเสียงทั้งในระดับระดับชาติและนานาชาติ ร่วมบรรยายและอภิปรายหัวข้อ อันครอบคลุมด้านวิทยาศาสตร์ การเพิ่มปริมาณฝน และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก โดยมีโครงสร้างเชิงกลยุทธ์ที่ประกอบด้วย 5 เสาหลัก ได้แก่ ความร่วมมือ นวัตกรรม การเสริมสร้างศักยภาพ ปัญญาประดิษฐ์ และการวิจัยประยุกต์ เพื่อแสวงหาวิธีแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำอันเป็นปัญหาเร่งด่วน ผ่านการคิดค้นนวัตกรรมใหม่ ๆ ให้เกิดความยั่งยืนร่วมกันต่อไป

 กรมฝนหลวงและการบินเกษตร เข้าร่วมการบรรยายและอภิปรายในวาระการพัฒนาด้านการเพิ่มปริมาณน้ำฝนระดับภูมิภาคและระดับโลก (Regional and Global Development in Rainfall Enhancement) โดยมีหัวข้อการบรรยาย “กิจกรรมดัดแปรสภาพอากาศในประเทศไทย (Weather Modification Activities)” ประกอบด้วยเนื้อหาการปฏิบัติการฝนหลวงของไทยตามตำราฝนหลวงพระราชทานที่มีการปฏิบัติการทั้งเมฆอุ่นและเมฆเย็น เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้ง รวมทั้งบรรเทาภัยพิบัติธรรมชาติ ได้แก่ ไฟป่า หมอกควัน และลูกเห็บ เป็นต้น อันสร้างความเสียหายต่อพื้นที่และผลผลิตทางการเกษตรซึ่งเป็นระบบเศรษฐกิจสำคัญของประเทศ ทั้งนี้ กรมฝนหลวงและการบินเกษตร จำเป็นต้องปรับตัวและพัฒนาอย่างไม่หยุดนิ่ง โดยได้จัดทำแนวทางการดำเนินงาน (Road Map) ด้านการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการดัดแปรสภาพอากาศ เพื่อให้สอดรับและเหมาะสมกับการทำงานเชิงพื้นที่ เทคโนโลยีดิจิทัลที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง อย่างพลิกผัน การคำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และการสร้างความเชื่อมั่นและมีส่วนร่วมของ ภาคประชาชน

 การประชุมดังกล่าว ถือเป็นเวทีแห่งการเสริมสร้างความเข้มแข็งของการแก้ไขปัญหาการขาดแคลน้ำ ที่ทั่วโลกต่างต้องเผชิญ เพื่อหาแนวทางบรรลุเป้าหมายในการสร้างความมั่นคงด้านน้ำร่วมกัน โดยได้แบ่งปัน และเปิดกว้างทั้งความคิด และความเชี่ยวชาญ ตลอดจนเป็นการขยายเครือข่ายการทำงาน อันเป็นประโยชน์ต่อกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ในการนำแนวคิด องค์ความรู้ และประสบการณ์ทางวิชาการด้านการดัดแปรสภาพอากาศ การบริหารจัดการน้ำ รวมทั้งเทคโนโลยีที่ก้าวหน้า และทันสมัยของแต่ละประเทศมาพัฒนาต่อยอดการดำเนินงานต่อไป

 

ภาพและวีดีโอ