เปลี่ยนการแสดงผล
จำนวนผู้เยี่ยมชมเว็บไซด์
วันนี้
7982
เดือนนี้
5596702
เมื่อวาน
231055
เดือนที่แล้ว
6919354
กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ร่วมประชุมหารือเพื่อวางแผนการปฏิบัติการฝนหลวงและรับมือสถานการณ์ภัยแล้งในพื้นที่ จ.เพชรบูรณ์
13 กันยายน 2566 157 ครั้ง
เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2566 เวลา 09.00 น. นายสุพิศ พิทักษ์ธรรม อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร มอบหมายให้ นางสาววาสนา วงษ์รัตน์ ผู้อำนวยการกองปฏิบัติการฝนหลวง พร้อมด้วย นางสาวเครือวัลย์ แสงโพธิ์ ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคเหนือตอนล่าง เข้าร่วมประชุมหารือเพื่อวางแผนการปฏิบัติการฝนหลวงและรับมือสถานการณ์ภัยแล้งในพื้นที่ จ.เพชรบูรณ์ ณ ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคเหนือตอนล่าง จ.พิษณุโลก โดยมี นายชัชวาลย์ เบญจสิริวงศ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์ พร้อมด้วยนางสาวอุไรรัตน์ คำชื่นวงศ์ เกษตรและสหกรณ์จังหวัดเพชรบูรณ์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม ซึ่งจากข้อมูลสถานการณ์ปริมาณน้ำที่ไหลเข้าสู่อ่างเก็บน้ำจำนวน 11 แห่ง สะสมระหว่างวันที่ 1 - 8 กันยายน 2566 มีปริมาณรวม 11,920 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งถือว่าเป็นปริมาณที่ต่ำกว่าเกณฑ์ที่สามารถกักเก็บได้ จึงได้มีการประชุมหารือและขอความอนุเคราะห์ให้ กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ปฏิบัติการฝนหลวงในพื้นที่
จ.เพชรบูรณ์ เพื่อเพิ่มปริมาณน้ำให้อ่างเก็บน้ำขนาดกลางทั้ง 11 แห่ง ให้มีเพียงพอและมีสำรองไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้งเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนในพื้นที่และเพื่อให้เตรียมรับสถานการณ์ที่อาจเกิดสาวะขาดแคลนน้ำจากฝนทิ้งช่วงได้ ซึ่งขณะนี้ กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ได้มีการตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงทั่วประเทศ จำนวน 11 หน่วยฯ มาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2566 และในส่วนของพื้นที่ภาคเหนือ มีการตั้งหน่วยปฏิบัติการ จำนวน 3 หน่วยฯ ที่ จ.เชียงใหม่ ใช้เครื่องบินขนาดกลาง จำนวน 2 ลำ จ.ตาก ใช้เครื่องบินขนาดกลาง จำนวน 2 ลำ และ จ.พิษณุโลก ใช้เครื่องบินขนาดกลาง จำนวน 2 ลำ และเครื่องบิน Super King Air 350 จำนวน 1 ลำ โดยทั้ง 3 หน่วยฯ จะร่วมกันวางแผนและผสานกำลังในการปฏิบัติการทำฝนโดยกำหนดลำดับความสำคัญของพื้นที่เป้าหมายในแต่ละวันร่วมกัน เพื่อปฏิบัติภารกิจหลักในการช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรและเพิ่มปริมาณน้ำเก็บกักให้เขื่อนและอ่างเก็บน้ำในพื้นที่เพื่อบรรเทาปัญหาภัยแล้งให้ได้มากที่สุด สำหรับหน่วยปฏิบัติการฝนหลวง จ.พิษณุโลก รับผิดชอบดูแลพื้นที่ 8 จังหวัด ได้แก่ แพร่ น่าน อุตรดิตถ์ กำแพงเพชร สุโขทัย เพชรบูรณ์ พิจิตร และพิษณุโลก เขื่อนขนาดใหญ่ 2 แห่ง อ่างเก็บน้ำขนาดกลาง จำนวน 20 แห่ง และอ่างเก็บน้ำขนาดเล็ก จำนวน 6 แห่ง
ภาพและวีดีโอ