เปลี่ยนการแสดงผล
องคมนตรี ประชุมคณะกรรมการที่ปรึกษาผู้ทรงคุณวุฒิฝนหลวง ครั้งที่ 1/2567
7 สิงหาคม 2567 37 ครั้ง
วันที่ 7 สิงหาคม เวลา 09.00 น. ณ ห้องประชุมเทวกุล ชั้น 6 กรมฝนหลวงและการบินเกษตร พลอากาศเอก ชลิต พุกผาสุข องคมนตรี ประธานกรรมการที่ปรึกษาผู้ทรงคุณวุฒิฝนหลวง พร้อมด้วย นายจรัลธาดา กรรณสูต องคมนตรี รองประธานกรรมการที่ปรึกษาผู้ทรงคุณวุฒิฝนหลวง เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการที่ปรึกษาผู้ทรงคุณวุฒิฝนหลวง ครั้งที่ 1/2567 โดยมี นายสุพิศ พิทักษ์ธรรม อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร เป็นผู้รายงานฯ เพื่อติดตามผลการดำเนินงานและรับฟังสรุปรายงานด้านต่าง ๆ ได้แก่ การรายงานแผนและผลการปฏิบัติการฝนหลวง ประจำปี 2567 การดำเนินงานศูนย์ดัดแปรสภาพอากาศอาเซียน การดำเนินงานความร่วมมือด้านวิชาการฝนหลวงกับต่างประเทศ คณะกรรมการที่แต่งตั้งโดยมติคณะรัฐมนตรี การจัดตั้ง “มูลนิธิฝนหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์” และการสรุปภาพรวมผลการดำเนินงานของคณะกรรมการที่ปรึกษาผู้ทรงคุณวุฒิฝนหลวง ประจำปี 2566 รวมถึงการติดตามความก้าวหน้าโครงการก่อสร้างศูนย์ปฎิบัติการฝนหลวงภาคใต้ตอนบนและอาคารพิพิธภัณฑ์พระบิดาแห่งฝนหลวง ความก้าวหน้าการขอใช้พื้นที่ท่าอากาศยานตากเพื่อประโยชน์ในกิจการกรมฝนหลวงและการบินเกษตร และความก้าวหน้าการแต่งตั้งกรรมการที่ปรึกษาผู้ทรงคุณวุฒิฝนหลวงเพิ่มเติม โดยกรมฝนหลวงและการบินเกษตร นอกจากนี้ได้ยังรับฟังการรายงานข้อมูลสภาพอากาศ จากกรมอุตุนิยมวิทยา และการรายงานสถานการณ์น้ำในปัจจุบันและการบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูฝน ปี 2567 จากกรมชลประทาน อีกด้วย
.
ด้าน นายสุพิศ พิทักษ์ธรรม อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร กล่าวว่า สำหรับการปฏิบัติการฝนหลวง ประจำปีงบประมาณ 2567 มีการปฏิบัติภารกิจหลัก คือ ภารกิจบรรเทาปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก Pm2.5 หมอกควันและไฟป่า ภารกิจการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้ง และภารกิจยับยั้งการเกิดพายุลูกเห็บ โดยมีผลปฏิบัติการตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2566 – 25 กรกฎาคม 2567 ปฏิบัติการดัดแปรสภาพอากาศ 188 วัน รวม 2,773 เที่ยวบิน 4,105 ชั่วโมงบิน การปฏิบัติการตักน้ำดับไฟป่าด้วยเฮลิคอปเตอร์ จำนวน 156 เที่ยวบิน 32 ชั่วโมงบิน ปฏิบัติการยับยั้งการเกิดพายุลูกเห็บ จำนวน 36 วัน 15 จังหวัด มีพื้นที่การเกษตรที่ได้รับประโยชน์จากการปฏิบัติการฝนหลวง จำนวน 240 ล้านไร่ ปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนสะสม 519 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยมีรายละเอียดดังนี้
- 1.การปฏิบัติการฝนหลวงในพื้นที่ภาคเหนือ ตั้งแต่วันที่ 8 มกราคม 2567
จากสถานการณ์ในช่วงต้นปี 2567 พื้นที่ภาคเหนือประสบปัญหาหมอกควันข้ามแดนจากประเทศเพื่อนบ้าน ไฟป่า และฝุ่นละอองขนาดเล็กที่มีผลกระทบต่อสุขภาพประชาชน กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ดำเนินการช่วยเหลือพื้นที่ประสบภัยพิบัติโดยการเพิ่ม ความถี่ของการปฏิบัติการฝนหลวงอย่างเร่งด่วน พร้อมทั้งบูรณาการทำงานกับหน่วยงาน ความมั่นคงในพื้นที่เพื่อป้องกันและบรรเทาปัญหาสถานการณ์ไฟป่า หมอกควันและ ฝุ่นละอองขนาดเล็กที่มีผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน โดยมีการตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวง จำนวน 3 หน่วยฯ ได้แก่ หน่วยฯ จ.เชียงใหม่ หน่วยฯ จ.พิษณุโลก และหน่วยฯ จ.แพร่ มีผลปฏิบัติการดัดแปรสภาพอากาศรวม 131 วัน 727 เที่ยวบิน 1,116 ชั่วโมงบิน ปฏิบัติการตักน้ำดับไฟป่าด้วยเฮลิคอปเตอร์ จำนวน 156 เที่ยวบิน 32 ชั่วโมงบิน
.
2.การปฏิบัติการฝนหลวงในพื้นที่ภาคกลาง ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2567
ภารกิจปฏิบัติการฝนหลวงช่วยเหลือพื้นที่การเกษตร โดยเฉพาะพื้นที่เพาะปลูกอ้อยและเติมน้้าต้นทุนให้กับเขื่อนและอ่างเก็บน้ำ โดยมีการตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวง จำนวน 3 หน่วยฯ ได้แก่ หน่วยฯ จ.กาญจนบุรีหน่วยฯ จ.นครสวรรค์ และ หน่วยฯ จ.ลพบุรี มีผลปฏิบัติการดัดแปรสภาพอากาศ รวม 97 วัน 550 เที่ยวบิน 475 ชั่วโมงบิน ปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนสะสมจากการปฏิบัติการฝนหลวง 188 ลบ.ม.
.
3.การปฏิบัติการฝนหลวงในพื้นที่ภาคตะวันออก ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2567 ภารกิจการปฏิบัติการฝนหลวงช่วยเหลือพื้นที่การเกษตร โดยเฉพาะพื้นที่การเกษตรที่เพาะปลูกไม้ผลที่สำคัญและเป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญของประเทศ โดยมีการตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวง จำนวน 2 หน่วยฯ ได้แก่
หน่วยฯ จ.จันทบุรี หน่วยฯ จ.สระแก้ว มีผลปฏิบัติการดัดแปรสภาพอากาศ 86 วัน รวม 79 เที่ยวบิน 334 ชั่วโมงบิน ปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนสะสมจากการปฏิบัติการฝนหลวง 29 ล้าน ลบ.ม.
.
4.การปฏิบัติการฝนหลวงในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2567 ภารกิจการปฏิบัติการฝนหลวงช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้
โดยมีการตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวง จำนวน 3 หน่วยฯ ได้แก่ หน่วยฯ จ.อุดรธานี หน่วยฯ จ.นครราชสีมา และ หน่วยฯ จ.สุรินทร์ มีผลปฏิบัติการดัดแปรสภาพอากาศ 66 วัน 366 เที่ยวบิน 531 ชั่วโมงบิน
.
5.การปฏิบัติการฝนหลวงในพื้นที่ภาคใต้ ตั้งแต่วันที่ 12 มีนาคม 2567
ภารกิจการปฏิบัติการฝนหลวงช่วยเหลือพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้ง เนื่องจากสภาพภูมิอากาศ ในพื้นที่เปลี่ยนแปลงไปจากสภาวะเอลนีโญและความล่าช้าของฝนตกในพื้นที่ ทำให้เกิดความขาดแคลนน้ำสำหรับทำการเกษตรและน้ำที่ใช้สำหรับอุปโภค-บริโภค โดยมีการตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวง จำนวน 4 หน่วยฯ ได้แก่ หน่วยฯ จังหวัดสงขลา หน่วยฯ จังหวัดสุราษฎร์ธานี หน่วยฯ จังหวัดชุมพร และหน่วยฯ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ มีผลปฏิบัติการดัดแปรสภาพอากาศรวม 92 วัน 408 เที่ยวบิน 627 ชั่วโมงบิน ปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนสะสมจากการปฏิบัติการฝนหลวง 63 ล้าน ลบ.ม. ร่วมถึงปฏิบัติการตักน้ำดับไฟป่าในพื้นที่ป่าไม้ ณ ภูเขาปากเบนจังหวัดกระบี่ ซึ่งเป็นการร่วมบูรณาการกับหน่วยงานในพื้นที่เพื่อบรรเทาปัญหาไฟป่าและ หมอกควันในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง
.
นายสุพิศ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับในช่วงนี้ประเทศไทยเข้าสู่ฤดูฝน กรมฝนหลวงและการบินเกษตร จึงได้มีการปรับเปลี่ยนแผนการดำเนินการเพื่อให้สอดคล้องกับสภาพอากาศ โดยเน้นย้ำการปฏิบัติการฝนหลวงในภารกิจการเพิ่มปริมาณน้ำให้กับเขื่อน อ่างเก็บน้ำขนาดกลางและขนาดเล็กที่อยู่นอกเขตชลประทาน เพื่อเตรียมกักเก็บน้ำไว้สำรองใช้ในฤดูแล้งที่จะมาถึง รวมถึงปฏิบัติการทำฝนช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรที่มีฝนตกไม่ทั่วถึงและมีประชาชนร้องขอฝนเข้ามา โดยได้มีการเปิดหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงในเดือนสิงหาคม 2567 จำนวน 3 หน่วยปฏิบัติการ ได้แก่
.
1.หน่วยปฏิบัติการฝนหลวง จ.นครราชสีมา โดยใช้เครื่องบิน CASA จำนวน 2 ลำ และ CN จำนวน 1 ลำ เพื่อปฏิบัติการทำฝนในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
.
2.หน่วยปฏิบัติการฝนหลวง จ.นครสวรรค์ โดยใช้เครื่องบิน CASA จำนวน 2 ลำ และ CARAVAN จำนวน 2 ลำ เพื่อปฏิบัติการทำฝนในพื้นที่ภาคกลาง
.
3.หน่วยปฏิบัติการฝนหลวง จ.ประจวบคีรีขันธ์ โดยใช้เครื่องบิน CARAVAN จำนวน 3 ลำ เพื่อปฏิบัติการทำฝนในพื้นที่ภาคใต้ตอนบน
.
ซึ่งจากการวางแผนการปฏิบัติการฝนหลวงดังกล่าว สามารถช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งเป็นไปตามพระบรมราโชบายของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่ ที่ให้คำนึงถึงปัญหาภัยแล้งเป็นเรื่องสำคัญ แม้ว่าสถานการณ์ในปัจจุบันมีฝนตกชุกหนาแน่นและมีพื้นที่ที่ประสบปัญหาน้ำท่วมขังในบางพื้นที่ แต่อยากให้พี่น้องประชาชนมั่นใจว่า กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ได้มีการวางแผนในการปฏิบัติการฝนหลวงอย่างรัดกุม เพื่อไม่ให้กระทบกับพื้นที่ที่มีน้ำฝนเพียงพออยู่แล้ว และจะดำเนินการเพิ่มปริมาณน้ำในเขื่อนและอ่างเก็บน้ำขนาดกลางและขนาดเล็กที่ขณะนี้ยังมีปริมาณไม่มากนัก เพื่อเก็บกักไว้ให้รองรับกับความต้องการใช้น้ำของประชาชนในการอุปโภคบริโภคและทำการเกษตรในช่วงฤดูแล้งที่จะมาถึงหลังจากสิ้นสุดฤดูฝนในปีนี้ ทั้งนี้การปฏิบัติการฝนหลวงนั้นต้องอาศัยสภาพอากาศ ความชื้นสัมพัทธ์เป็นสิ่งสำคัญเพื่อให้การทำงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ในการแก้ไขปัญหาให้พี่น้องประชาชนได้อย่างถูกที่ถูกเวลา เพื่อเป็นอีกทางเลือกหนึ่งเพื่อช่วยเหลือปัญหาการขาดแคลนน้ำในการทำการเกษตร อันเป็นการดำเนินงานตามพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อทรงสืบสาน รักษา และต่อยอด ในการบำบัดทุกข์บำรุงสุขแก่ราษฎรต่อไป
ภาพและวีดีโอ