เปลี่ยนการแสดงผล
องคมนตรีติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงานฝนหลวง น้อมนำพระราชกระแสรับสั่งของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และศาสตร์พระราชาของรัชกาลที่ 9 ดำเนินการช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนให้ได้มากที่สุด
17 กันยายน 2562 707 ครั้ง

องคมนตรีติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงานฝนหลวง น้อมนำพระราชกระแสรับสั่งของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และศาสตร์พระราชาของรัชกาลที่ 9 ดำเนินการช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนให้ได้มากที่สุด

วันที่ 17 กันยายน 2562 เวลา 13.30 น. พลอากาศเอก ชลิต พุกผาสุข องคมนตรี ประธานกรรมการที่ปรึกษาผู้ทรงคุณวุฒิฝนหลวง เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการที่ปรึกษาผู้ทรงคุณวุฒิฝนหลวงครั้งที่ 2/2562 ณ ห้องประชุมเทวกุล กรมฝนหลวงและการบินเกษตร เพื่อติดตามผลการดำเนินงานในด้านต่างๆ ของกรมฝนหลวงและการบินเกษตร โดยขณะนี้แม้จะมีบางพื้นที่ที่กำลังประสบปัญหาอุทกภัยแต่ยังมีอีกหลายพื้นที่ในภูมิภาคต่างๆ ของประเทศ ยังประสบปัญหาฝนทิ้งช่วง ส่งผลให้มีพื้นที่การเกษตร ขาดแคลนน้ำสำหรับทำการเพาะปลูกและการเจริญเติบโตของพืช และมีบางพื้นที่อาจเสี่ยงต่อการ
ขาดแคลนน้ำสำหรับทำการอุปโภคบริโภคด้วย ซึ่งกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ได้น้อมนำพระราชกระแสรับสั่งของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในการดูแลประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนให้สามารถดำเนินชีวิตได้ตามปกติโดยเร็ว และน้อมนำแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มาประยุกต์ใช้ในการแก้ไขปัญหาให้สอดคล้องกับแต่ละสภาพพื้นที่ โดยกรมฝนหลวงและการบินเกษตร มีแผนการปฏิบัติการฝนหลวงเร่งเติมน้ำให้กับเขื่อนและอ่างเก็บน้ำสำคัญที่มีความต้องการ ด้วยการช่วงชิงสภาพอากาศที่มีความชื้นสัมพัทธ์เอื้อต่อ
การปฏิบัติการฝนหลวง เพื่อให้มีน้ำเพียงพอสำหรับใช้ในช่วงต้นฤดูแล้งที่กำลังจะมาถึงให้มากที่สุด และจากภาพรวมการปฏิบัติการฝนหลวงป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้ง การเติมน้ำต้นทุนให้เขื่อนกักเก็บน้ำ ตลอดจนการบรรเทาปัญหาหมอกควัน ไฟป่า ฝุ่นละอองขนาดเล็ก ยับยั้งการเกิดพายุลูกเห็บ ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม – 15 กันยายน 2562 ที่ผ่านมา กรมฝนหลวงและการบินเกษตร มีการตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงรวมจำนวน 18 หน่วยปฏิบัติการ ขึ้นปฏิบัติการฝนหลวง จำนวน 189 วัน 5,328 เที่ยวบิน มีวันฝนตกจากการปฏิบัติการคิดเป็นร้อยละ 88.88 มีจังหวัดที่มีรายงานฝนตกรวม 58 จังหวัด

ด้านความก้าวหน้าการดำเนินการปรับโครงสร้างอัตรากำลังกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ขณะนี้อยู่ระหว่างคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน นำเสนอคณะกรรมการกำหนดเป้าหมายและนโยบายกำลังคนภาครัฐ (คปร.) เพื่อพิจารณา โดยหากมีมติเห็นควรให้เพิ่มอัตรากำลังตั้งใหม่ จะต้องดำเนินการเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอนุมัติต่อไป ด้านความก้าวหน้าการดำเนินกิจกรรมเนื่องในโอกาสพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562 การจัดทำหนังสือเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว อยู่ระหว่างการดำเนินการรวบรวมเนื้อหาข้อมูลเพื่อจัดทำหนังสือฉบับร่าง และพิจารณาความถูกต้องโดยคณะกรรมการโครงการผลิตหนังสือที่ระลึกเฉลิมพระเกียรติฯ สำหรับโครงการปลูกป่าและไม้ยืนต้นสร้างความชื้นสัมพัทธ์ในอากาศเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบัติการฝนหลวง สืบสานศาสตร์พระราชาและพระราชินี เฉลิมพระเกียรติเนื่องในโอกาสมหามงคลพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ในกิจกรรมการปลูกป่าและไม้ยืนต้น ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ ส่วนราชการ ประชาชน และเกษตรกร ตั้งแต่เดือนมิถุนายน – สิงหาคม 2562 ได้ดำเนินการปลูกพันธุ์กล้าไม้ จำนวน 832,734 ต้น ส่วนกิจกรรมโปรยเมล็ดพันธุ์พืชทางอากาศ ได้ดำเนินการโปรยเมล็ดพันธุ์พืชบริเวณพื้นที่ผืนป่าและพื้นที่รักษาพันธุ์สัตว์ป่า โดยใช้เมล็ดพันธุ์ชนิดที่เหมาะสมกับพื้นที่ เช่น สมอไทย สัก ไผ่ป่า ประดู่ มะขามป้อม มะค่าแต้ มะค่าโมง รวมจำนวน 459.69 กิโลกรัม (566,810 เมล็ด)

นอกจากนี้ กรมฝนหลวงและการบินเกษตร จะดำเนินการจัดงานน้อมรำลึกถึงพระบาทสมเด็จ-พระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร “องค์พระบิดาแห่งฝนหลวง” เพื่อน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงมีต่อกรมฝนหลวงและการบินเกษตร โดยจะดำเนินการ 4 กิจกรรม ประกอบด้วย

1. พิธีน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณฯ เนื่องในโอกาสวันเทคโนโลยีของไทย (ครั้งเสด็จพระราชดำเนินทรงบัญชาการการปฏิบัติการฝนหลวง เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2515) กำหนดจัดขึ้นในวันที่ 19 ตุลาคม 2562 ณ เขื่อนแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี
2. พิธีน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ เนื่องในโอกาสวันพระบิดาแห่งฝนหลวง ประจำปี 2562 กำหนดจัดขึ้นในวันที่ 11-15 พฤศจิกายน 2562 ณ ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ แจ้งวัฒนะ
3. พิธีน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ (ตามรอยครั้งเสด็จพระราชดำเนินเปิดสถานีเรดาร์ฝนหลวงแห่งแรก เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2535) วันที่ 23 มีนาคม 2563 ณ สถานีเรดาร์ฝนหลวงอมก๋อย อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่
4. พิธีน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ (ตามรอยฐานปฏิบัติการค้นคว้าและทดลองโครงการฝนหลวงแห่งแรก เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2512) วันที่ 20 สิงหาคม 2563 ณ ศูนย์ฝนหลวงหัวหิน อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์

ทั้งนี้ สำหรับความก้าวหน้าการดำเนินการปรับปรุงสนามบินท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี ขณะนี้ ทางกองทัพอากาศออกแบบเสร็จเรียบร้อยแล้ว และสำนักงบประมาณจะพิจารณาแนวทางการขอใช้งบประมาณ โดยให้ใช้เงินเหลือจ่ายจากกรมฝนหลวงและการบินเกษตร หรือกองทัพอากาศเสนอขอสนับสนุนงบประมาณโดยตรง ส่วนการดำเนินการโครงการศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีฝนหลวง อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนที่กรมธนารักษ์อนุญาตให้กรมฝนหลวงและการบินเกษตรใช้ประโยชน์พื้นที่ดังกล่าว หลังจากนั้นจะเตรียมการสำรวจ ออกแบบอาคาร สิ่งก่อสร้าง จัดทำแผนแม่บท และสถาปัตยกรรมเพื่อขอตั้งงบประมาณปี 2564-2567 จำนวนรวม 425 ล้านบาท โดยขอความอนุเคราะห์จากหน่วยงานภาครัฐ หากไม่ได้รับการอนุเคราะห์จะทำการจ้างสำรวจและออกแบบต่อไป

 

ภาพและวีดีโอ