เปลี่ยนการแสดงผล
องคมนตรี เป็นประธานในพิธีน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร
19 ตุลาคม 2562 653 ครั้ง

องคมนตรี เป็นประธานในพิธีน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร น้อมนำศาสตร์พระราชา สืบสาน รักษา ต่อยอดโครงการฝนหลวง

วันที่ 19 ตุลาคม 2562 เวลา 09.30 น. พลอากาศเอก ชลิต พุกผาสุข องคมนตรี  ประธานกรรมการที่ปรึกษาผู้ทรงคุณวุฒิฝนหลวง พร้อมด้วยนายจรัลธาดา กรรณสูต องคมนตรี รองประธานกรรมการที่ปรึกษาผู้ทรงคุณวุฒิฝนหลวง ร่วมเป็นประธานในพิธีน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ณ เขื่อนแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี โดยกรมฝนหลวงและการบินเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้จัดขึ้นเพื่อเผยแพร่ประวัติศาสตร์ความเป็นมาของโครงการฝนหลวง เมื่อครั้งที่เสด็จพระราชดำเนินปฏิบัติพระราชกรณียกิจ ทรงอำนวยการสาธิตการทำฝนหลวงให้แก่ผู้แทนรัฐบาลสาธารณรัฐสิงคโปร์ได้ชม เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม พุทธศักราช 2515 ณ เขื่อนแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี พร้อมร่วมปล่อยพันธุ์ปลา ถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร จำนวน 100,000 ตัว ประกอบด้วย ปลาตะเพียนและปลาสวาย และร่วมกิจกรรมบำเพ็ญสาธารณประโยชน์ จิตอาสาทำความสะอาดและเก็บเศษวัชพืช ณ บริเวณสันเขื่อนแก่งกระจาน

โดยเหตุการณ์สำคัญในพุทธศักราช 2515 สาธารณรัฐสิงคโปร์ประสบภาวะภัยแล้งรุนแรง ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำต่ำถึงขั้นวิกฤติ ด้วยกิตติศัพท์ความสำเร็จในการค้นคว้าทดลองและปฏิบัติการทำฝนในประเทศไทยเผยแพร่ออกไป รัฐบาลสาธารณรัฐสิงคโปร์จึงขอส่งนักวิทยาศาสตร์มาสังเกตการณ์และขอรับการถ่ายทอดความรู้จากประเทศไทย พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงอำนวยการสาธิตการทำฝนหลวงในครั้งนี้ด้วยพระองค์เอง โดยใช้วิธีทางวิทยาศาสตร์ ทำให้ฝนตกลงตรงเป้าหมายที่มีพื้นที่ผิวน้ำเพียง 46.5 ตารางกิโลเมตร หรือ 1,162.5 ไร่ เป็นพื้นที่เป้าหมายหวังผลในการปฏิบัติการทำฝนสาธิต ซึ่งเขื่อนแก่งกระจานเป็นพื้นที่ที่มีสภาพภูมิประเทศและสภาพภูมิอากาศคล้ายคลึงกับเกาะสิงคโปร์ โดยใช้เครื่องบินที่ใช้ในการปฏิบัติการสาธิต มีจำนวน 9 ลำ ประกอบด้วยเครื่องบินคาลิบู ขนาดกลาง 2 เครื่องยนต์ และเครื่องบินสกายแวน ขนาดกลาง 2 เครื่องยนต์ จากการสนับสนุนของกองบินตำรวจ และเครื่องบินแอร์ทรัค ขนาดเล็ก เครื่องยนต์เดียว 2 เครื่อง เครื่องบินเฟรทเช่อร์ ขนาดเล็กเครื่องยนต์เดียว 2 เครื่อง สำหรับสารทำฝน ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ใช้สารฝนหลวง ประกอบด้วย สูตร 1 ผงเกลือแป้ง เป็นสูตรแกนกลั่นตัว (Cloud Condensation Nuclei) สูตร 3 น้ำแข็งแห้ง เป็นสูตรเย็นจัด (Super Cooled) สูตร 4 ผงยูเรีย เป็นสูตรเย็น (Endothermic) และสูตร 6 ผงแคลเซียมคลอไรด์ เป็นสูตรร้อน (Exothermic) โดยในการปฏิบัติการใช้เวลาทำการเพียง 5 ชั่วโมง จึงประสบผลสำเร็จเป็นที่น่าอัศจรรย์และประจักษ์แก่สายตานักวิทยาศาสตร์สาธารณรัฐสิงคโปร์ บรรดาแขกเมือง ข้าราชการและข้าราชบริพารที่เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทสังเกตการณ์อยู่ ณ ที่นั้น ได้เห็นฝนตกเป็นที่ตะลึงโจษขานถึงความอัศจรรย์กันทั่วหน้า ต่างประทับใจในพระมหากรุณาธิคุณและพระปรีชาสามารถของพระองค์ท่าน นับเป็นความสำเร็จอันยอดเยี่ยมของมนุษย์ในการใช้เทคโนโลยีบังคับธรรมชาติ

การสาธิตการทำฝนในครั้งนั้น ถือเป็นต้นกำเนิดเทคโนโลยีฝนหลวงที่พัฒนาเป็นการทำฝนมาถึงปัจจุบัน โดยในวันที่ 12 ธันวาคม พุทธศักราช 2543 คณะรัฐบาลจึงมีมติให้เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงเป็น "พระบิดาแห่งเทคโนโลยีของไทย" และกำหนดให้วันที่ 19 ตุลาคมของทุกปีเป็น "วันเทคโนโลยีของไทย" เพื่อเป็นการแสดงความจงรักภักดีและรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ ที่ทรงมีต่อพสกนิกรชาวไทยมาโดยตลอด และจารึกไว้เป็นเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์ของชาติไทย ซึ่งกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ได้น้อมนำศาสตร์พระราชามาเป็นแนวทางในการปฏิบัติการฝนหลวง เพื่อสนองพระราชปณิธานของพระองค์ท่าน อีกทั้งเป็นการสืบสาน รักษา และต่อยอด ตามพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ในการช่วยบรรเทาความเดือดร้อนจากวิกฤตภัยแล้งให้แก่พี่น้องประชาชนด้วย

 

 

ภาพและวีดีโอ