เปลี่ยนการแสดงผล
#การพยากรณ์
16 พฤษภาคม 2563 488 ครั้ง

#การพยากรณ์

ในยุคพ.ศ.นี้ คงไม่มีใครไม่รู้จักหมอดูอีที หมอลักษณ์ฟันธง หมอช้าง หมอโสรัจจะ หรือโหรวารินทร์ และยังอีกหลายๆหมอ แต่ละท่านก็มีหลักการในการทำนายดวงที่แตกต่างกันบ้าง แต่หลักๆคงเหมือนกันด้วยการใช้หลักโหราศาสตร์ การทำนายนั้นก็มีทั้งถูกและผิดบ้าง ไม่ได้ถูกต้อง 100% ทุกครั้งไปเพราะชื่อก็บอกอยู่แล้วว่าเป็นการทำนาย หรือพยากรณ์ นั่นคือการคาดเดาจากความน่าจะเป็นที่จะเกิดขึ้น ซึ่งตามหลักคณิตศาสตร์แล้วความน่าจะเป็นจะถูกต้องแม่นยำยิ่งขึ้น เมื่อมีการวิเคราะห์จากสถิติมากพอ

แล้วการพยากรณ์อากาศล่ะมีความแม่นยำแค่ไหน หลายๆท่านก็คงข้องใจว่าทำไมบ้านเราการพยากรณ์อากาศ บางครั้งจะคลาดเคลื่อนค่อนข้างมาก เช่น พื้นที่ที่กรมอุตุนิยมวิทยาคาดหมายว่าจะมีฝนตก แต่อาจจะไม่ตก หรือพื้นที่คาดหมายไม่มีฝนตก แต่กรมฝนหลวงทำฝนตกได้ แต่ต้องทำอย่างไร อาศัยอะไรเข้าช่วยบ้างจึงจะทำฝนให้ตกได้ วันนี้มาพูดคุยเรื่องนี้กันครับ

ก็บอกแล้วตั้งแต่ต้นว่าการทำนาย การพยากรณ์ เป็นการคาดการโอกาสที่จะเกิดขึ้นซึ่งอาจจะไม่ได้ถูกต้อง 100% แต่หลายคนข้องใจแล้วทำไมประเทศเขตอบอุ่น เช่น ประเทศญี่ปุ่น จึงพยากรณ์ได้ค่อนข้างแม่นยำ ต้องมาทำความเข้าใจเกี่ยวกับขบวนการการเกิดฝนกันครับ

การเกิดฝนในเขตอบอุ่นจะเกิดตามแนวปะทะอากาศ ที่มวลอากาศมีคุณสมบัติต่างกันมาปะทะกัน และแนวปะทะนั้นมีขนาดใหญ่มาก ทำให้ตรวจพบได้โดยง่าย มีทิศทางการเคลื่อนที่และความเร็วค่อนข้างคงที่ รูปแบบของการเกิดฝนที่ชัดเจนแน่นอน จึงทำให้การพยากรณ์ทั้งพื้นที่และเวลาที่เกิดฝนทำได้ไม่ยาก และค่อนข้างแน่นอน

ส่วนการเกิดฝนในเขตร้อน เช่น บ้านเรา เกิดจากการลอยตัวของอากาศร้อนชื้นทำให้เกิดเมฆเป็นก้อนๆ และมีฝนตกเป็นบริเวณที่ไม่ต่อเนื่องกัน และค่อนข้างที่สลายตัวเร็ว มีรูปแบบและการเคลื่อนตัวที่ไม่แน่นอน เนื่องจากอิทธิพลจากพลังงานแสงอาทิตย์ และอิทธิพลของแนวลมต่างๆ จึงทำให้สภาพอากาศเปลี่ยนแปลงได้ง่าย การพยากรณ์พื้นที่ และเวลาการเกิดฝนจึงยากลำบาก และแม่นยำน้อยกว่า การพยากรณ์เขตอบอุ่น

ตอนนี้เข้าใจกันแล้วนะครับว่าไม่ใช่หน่วยงานของบ้านเราที่รับผิดชอบในการพยากรณ์อากาศไม่เก่ง แต่เป็นเพราะมีปัจจัยมากมายที่ควบคุมไม่ได้ ยิ่งการพยากรณ์ระยะยาวจะยิ่งมีโอกาสคลาดเคลื่อนสูง

ในการทำฝนถึงแม้เราจะใช้ข้อมูลการพยากรณ์อากาศจากกรมอุตุนิยมวิทยาในการวิเคราะห์เบื้องต้นในโอกาสการเกิดฝน แต่เรายังต้องตรวจวัดสภาพอากาศจากพื้นผิวโลกจนถึงระดับสูงกว่า 20,000 ฟุต เพื่อใช้ข้อมูลมาวิเคราะห์โอกาสในการทำฝนในแต่ละพื้นที่ โดยการปล่อยบอลลูนตรวจสภาพอากาศขึ้นไปทุกเช้าในเวลาประมาณ 7.00 น. แถมยังต้องอาศัยพี่น้องอาสาสมัครฝนหลวงในพื้นที่ช่วยส่งข้อมูลและภาพถ่ายสภาพท้องฟ้าในพื้นที่ให้เราด้วย เพื่อประกอบการตัดสินใจในการทำฝนแต่ละขั้นตอนให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด เพราะการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศในภูมิภาคบ้านเราค่อนข้างรวดเร็ว ทำให้การคาดการณ์ค่อนข้างยาก อาจจะยากยิ่งกว่าหมอลักษณ์ฟันธงดวงของชาวราศีต่างๆเสียอีกครับ

#สามัคคีคือพลังพิชิตความยาก
#SaveThailand
#SaveRainmakingTeam
#Saveบุคลากรทางการแพทย์
#แล้งนี้ต้องรอด
#โควิด19พวกเราต้องรอด

เขียนโดย "ฟ้าโปรย"

 

ภาพและวีดีโอ