เปลี่ยนการแสดงผล
เมฆสวยเพราะมือเรา
17 พฤษภาคม 2563 812 ครั้ง

#เมฆสวยเพราะมือเรา
ฟ้าสีครามเมฆปุยขาวมีสองปุย 
สวยทั้งสองปุยอยู่ที่เขาที่เราคุย 
ฟ้าที่แสนงาม แขวนเมฆขาวเป็นร้อยปุย 
ปุยทุกปุยปุยจะสดสวยเพราะเราดู 
เมฆที่สดสวยที่ทั้งเกษตรกร และชาวฝนหลวงต่างคอยดู และพูดคุยนั้นเป็นเมฆที่ปุยๆ พร้อมจะกลายเป็นเมฆฝน แล้วจะทำอย่างไรให้เกิดเมฆได้ เราต้องมาทำความเข้าใจเรื่องเมฆกันก่อนดีกว่าครับ
เมฆสามารถเกิดขึ้นเองได้ตามธรรมชาติ เกิดจากการที่ไอน้ำในอากาศที่มาจากการระเหยของแหล่งน้ำต่างๆ เช่น ทะเล แม่น้ำ ลำคลอง และจากการคายน้ำของต้นไม้โดยเฉพาะป่า เกิดการควบแน่นในอากาศ  รวมตัวกันด้วยอณูเล็กๆ โดยอาศัย  ฝุ่น  ละอองที่ลอยอยู่ในอากาศ  เป็นแกนกลั่นตัว ซึ่งเป็นตัวช่วยให้เกิดการรวมตัวกันของไอน้ำที่เพิ่มมากขึ้น  จนกลายเป็นก้อนเมฆขนาดใหญ่บ้างเล็กบ้าง 
นักอุตุนิยมวิทยาแบ่งเมฆตามรูปร่างของเมฆเป็น 2 ลักษณะ และเรียกชื่อเมฆตามภาษาละติน คือ เมฆก้อนและเมฆแผ่น  เมฆก้อนเรียกว่า เมฆคิวมูลัส(Cumulus) และเมฆแผ่นเรียกว่า เมฆสตราตัส(Stratus) หากเมฆก้อนลอยชิดติดกัน เรานำชื่อทั้งสองมาต่อกันเรียกว่า เมฆสตราโตคิวมูลัส (Stratocumulus)  ในกรณีที่เป็นเมฆฝนจะเพิ่มคำว่า นิมโบ หรือ นิมบัส ซึ่งแปลว่าฝน เข้าไป  โดยเรียกเมฆก้อนที่ทำให้เกิดพายุฝนฟ้าคะนองว่าเมฆคิวมูโลนิมบัส(Cumulonimbus) และเรียกเมฆแผ่นที่มีฝนตกปรอยๆ อย่างสงบว่า เมฆนิมโบสตราตัส(Nimbostratus) 
หากจำแนกตามลักษณะของฐานเมฆ จะแบ่งออกเป็น 3 ระดับ คือ เมฆชั้นต่ำ เมฆชั้นกลาง และเมฆชั้นสูง 
เมฆชั้นต่ำ อยู่สูงจากพื้นดินไม่เกิน 2 กิโลเมตร มี 5 ชนิด ได้แก่ เมฆสตราตัส เมฆคิวมูลัส เมฆสตราโตคิวมูลัส เมฆนิมโบสตราตัส และเมฆคิวมูโลนิมบัส  โดยเมฆคิวมูลัสและเมฆคิวมูโลนิมบัส เป็นเมฆก่อตัวในแนวดิ่ง ซึ่งมีฐานเมฆอยู่ในระดับเมฆชั้นต่ำ แต่ยอดเมฆอาจอยู่ในระดับของเมฆขั้นกลาง และชั้นสูงซึ่งจะเป็นเมฆฝนที่ดี
เมฆชั้นกลาง เกิดขึ้นที่ระดับสูง 2 - 6 กิโลเมตร ในการเรียกชื่อจะเติมคำว่า อัลโต ซึ่งแปลว่า ชั้นกลาง ไว้ข้างหน้า เช่น เมฆแผ่นชั้นกลางเรียกว่า เมฆอัลโตสตราตัส(Altostratus) เมฆก้อนชั้นกลางคือ เมฆอัลโตคิวมูลัส(Altocumulus)  เมฆชั้นกลางมีความหนาแน่นพอที่จะบดบังดวงอาทิตย์ ทำให้เกิดเงา บางครั้งมองเห็นเป็นสีเทา ซึ่งจะเป็นอุปสรรคต่อชาวฝนหลวง ที่ทำให้เมฆที่ก่อไว้จะมีการพัฒนาตัวในแนวตั้งได้ยาก
เมฆชั้นสูง เกิดขึ้นที่ระดับความสูงมากกว่า 6 กิโลเมตร  ในการเรียกชื่อจะเติมคำว่า เซอโร ซึ่งแปลว่าชั้นสูง ไว้ข้างหน้า เช่น เมฆแผ่นชั้นสูงเรียกว่าเมฆเซอโรสตราตัส(Cirrostratus) เมฆก้อนชั้นสูงเรียกว่า เมฆเซอโรคิวมูลัส(Cirrocumulus) นอกจากนั้นยังมีเมฆชั้นสูงที่มีรูปร่างเหมือนขนนก เรียกว่า เมฆเซอรัส(Cirrus) เนื่องจากอากาศข้างบนบางมาก เมฆชั้นสูงไม่มีความหนาแน่นมากพอที่จะบดบังดวงอาทิตย์ จึงมองเห็นเป็นสีขาวเท่านั้น 
ในหลวงร.9 ทรงศึกษา และเข้าใจลึกซึ้งกับกระบวนการเกิดเมฆ เกิดฝนตามธรรมชาติ พระองค์จึงทรงก่อตั้งโครงการฝนหลวงขึ้นมาเพื่อช่วยบำบัดทุกข์ บำรุงสุข ให้พี่น้องประชาชนที่ขาดแคลนน้ำ
มาถึงตอนนี้ทุกท่านได้เข้าใจกระบวนการเกิดเมฆกันแล้วว่า ต้องมี ฝุ่น หรือละอองในอากาศ ที่จะเป็นตัวช่วยให้ไอน้ำในอากาศรวมตัวกันเป็นหยดน้ำรวมกันเป็นเมฆ
ในหลวงร.9 ทรงเลือกเกลือบดละเอียดเป็นฝุ่นผง ไปโปรยในอากาศเป็นแกนกลั่นตัว เพราะเกลือมีคุณสมบัติดูดความชื้นได้ดี แต่ความชื้นสัมพัทธ์ในอากาศต้องมีค่ามากกว่า 60 % อนุภาคเกลือเหล่านั้นจึงจะช่วยให้ความชื้นมาเกาะเป็นเม็ดน้ำได้ และเรายังได้เรียนรู้กันแล้วว่า เมฆที่จะพัฒนาไปเป็นเมฆฝนได้ดีเป็นเมฆชั้นต่ำ จึงต้องบินไปก่อเมฆที่ระดับประมาณ 6,000 ฟุต กรมฝนหลวงจึงต้องมีการตรวจวัดสภาพอากาศชั้นบนทุกวัน เพื่อใช้ข้อมูลต่างๆโดยเฉพาะค่าความชื้นสัมพัทธ์ในอากาศ มาประกอบการตัดสินใจในการขึ้นบินก่อเมฆให้เกิดเมฆเร็วขึ้นกว่าปล่อยให้เกิดเองตามธรรมชาติ
บ้านเรานับว่าโชคดีที่มีทะเลขนาบถึงสองฝั่งได้แก่ทะเลจีนใต้และมหาสมุทรอินเดีย ถ้าลมพัดมาจากทางทะเล จะนำความชื้นเข้ามาสู่แผ่นดิน ทำให้ฤดูฝนของบ้านเราจะเป็นช่วงที่ลมมาจากทิศตะวันตกเฉียงใต้ที่หอบนำความชื้นมาจากมหาสมุทรอินเดีย และบางครั้งเป็นลมตะวันออกเฉียงใต้ก็จะหอบนำความชื้นมาจากทะเลจีนใต้ก็จะทำให้เกิดฝนได้เช่นกัน
ต้นไม้ก็เป็นส่วนหนึ่งของการสร้างความชุ่มชื้นและรักษาอุณหภูมิไม่ให้ร้อนมาก โดยต้นไม้จะมีการสังเคราะห์แสงและคายน้ำในเวลากลางวันทางปากใบ นั่นหมายความว่ายิ่งมีต้นไม้ยืนต้นมากเท่าใดก็ยิ่งช่วยสร้างความชุ่มชื้นในอากาศได้มากเท่านั้น และต้นไม้ยังมีประโยชน์อีกมากมาย เช่น ช่วยฟอกอากาศ เป็นแหล่งอาหาร พักผ่อนหย่อนใจ ชะลอการไหลของน้ำป่า ทุกๆปีกรมฝนหลวงจะร่วมกับพี่น้องประชาชน และภาคส่วนต่างๆร่วมกันปลูกต้นไม้ยืนต้น เพื่อเพิ่มความชื้นสัมพัทธ์ในอากาศ และกรมฝนหลวงยังมีโครงการโปรยเมล็ดพันธุ์ทางอากาศเพื่อเสริมสร้างผืนป่าร่วมกับกรมป่า กรมอุทยานแห่งชาติฯ และมณฑลทหารบกในพื้นที่ที่ศูนย์ฝนหลวงสังกัดอยู่อีกด้วย
เห็นมั้ยครับต้นไม้มีประโยชน์มากมายขนาดไหน วันนี้ผมคงต้องปลูกต้นไม้เพิ่มอีกสักหนึ่งต้น และขอเชิญชวนพี่ๆเพื่อนๆทุกท่านมาร่วมกันปลูกต้นไม้ เพื่อเพิ่มความชื้นสัมพัทธ์ในอากาศให้เมฆสวยได้ทุกๆปุยกันไปเลยนะครับ...
#ความสุขร่วมกันสร้างได้
#SaveThailand
#SaveRainmakingTeam
#Saveบุคลากรทางการแพทย์
#แล้งนี้ต้องรอด
#โควิด19พวกเราต้องรอด
เขียนโดย "ฟ้าโปรย"

ภาพและวีดีโอ