เปลี่ยนการแสดงผล
รมช.ธรรมนัส ประชุมติดตามสถานการณ์ภัยแล้งและการปฏิบัติการฝนหลวง กำชับช่วยเหลือพี่น้องประชาชนอย่างทั่วถึง พร้อมเตรียมรับมือภาวะฝนทิ้งช่วง
20 พฤษภาคม 2563 376 ครั้ง
รมช.ธรรมนัส ประชุมติดตามสถานการณ์ภัยแล้งและการปฏิบัติการฝนหลวง กำชับช่วยเหลือพี่น้องประชาชนอย่างทั่วถึง พร้อมเตรียมรับมือภาวะฝนทิ้งช่วง
วันที่ 20 พฤษภาคม 2563 เวลา 09.30 น. ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานการประชุม VDO conference ติดตามการแก้ไขปัญหาสถานการณ์ภัยแล้งของกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ณ ห้องประชุมเทวกุล กรมฝนหลวงและการบินเกษตร โดยมีผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ของกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ในส่วนกลางและส่วนภูมิภาคจากหน่วยปฏิบัติการฝนหลวง 11 หน่วยฯ ทั่วประเทศเข้าร่วมด้วย โดยเปิดเผยว่าในขณะนี้ประเทศไทยได้เข้าสู่ช่วงฤดูฝนอย่างเป็นทางการแล้วจากการประกาศของ
กรมอุตุนิยมวิทยา ซึ่งส่งผลให้ประเทศไทยเกิดพายุฝนฟ้าคะนอง และลมกระโชกแรงในบางพื้นที่ อย่างไรก็ตาม ยังคงมีบางพื้นที่ที่ยังมีความต้องการน้ำฝน เพื่อการเกษตร รวมถึงน้ำเพื่อการอุปโภคและบริโภคเนื่องด้วยการกระจายตัวของฝนที่ตกลงมาไม่ทั่วทุกพื้นที่อาจเกิดสภาวะฝนทิ้งช่วง จึงได้สั่งการให้กรมฝนหลวงและการบินเกษตรเตรียมพร้อมรับมือติดตามสภาพอากาศและวางแผนปฏิบัติการฝนหลวงช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกรและประชาชนที่ประสบปัญหาภัยแล้ง มีความต้องการน้ำ และพื้นที่ลุ่มรับน้ำที่มีปริมาณน้ำใช้การไม่เพียงพอ โดยให้เร่งปฏิบัติการฝนหลวงตามข้อมูลที่มีการติดตามสถานการณ์เป็นประจำทุกวันและจากข้อมูลการขอรับบริการฝนหลวงตลอดจนการเฝ้าระวังสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง หากสภาพอากาศเอื้ออำนวยให้ปฏิบัติการฝนหลวงได้ในทันที 
ด้านนายสุรสีห์ กิตติมณฑล อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า ในส่วนของการปฏิบัติการฝนหลวง ตั้งแต่ 3 กุมภาพันธ์ - 17 พฤษภาคม 2563 มีการตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวง 11 หน่วยฯ ทั่วประเทศ ซึ่งประกอบด้วย ภาคเหนือ ตั้งหน่วยปฏิบัติการที่ จ.เชียงใหม่ และจ.พิษณุโลก ภาคกลาง ที่ จ.ลพบุรี และ จ.ราชบุรี ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่ จ.ขอนแก่น อุดรธานี บุรีรัมย์ และจ.นครราชสีมา ภาคตะวันออก ที่ จ.จันทบุรี ภาคใต้ ที่ จ.ประจวบคีรีขันธ์ (หัวหิน) และจ.สุราษฎร์ธานี ซึ่งได้มีการขึ้นบินปฏิบัติการฝนหลวง รวมเป็นจำนวน 93 วัน 2,110 เที่ยวบิน มีฝนตกจากการปฏิบัติการฝนหลวงคิดเป็นร้อยละ 97.85 และจังหวัดที่มีรายงานฝนตกรวม 65 จังหวัด มีพื้นที่การเกษตรที่ได้รับประโยชน์จากการปฏิบัติการฝนหลวง จำนวน 154.31 ล้านไร่ พื้นที่ลุ่มรับน้ำเขื่อนและอ่างเก็บน้ำ รวม 98 แห่ง เป็นเขื่อนขนาดใหญ่ 30 แห่ง และอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง 68 แห่ง คิดเป็นปริมาณน้ำต้นทุนที่สามารถเติมได้ รวม 234.56 ล้าน ลบ.ม. รวมถึงภารกิจยับยั้งและบรรเทาการเกิดพายุลูกเห็บ โดยหน่วยปฏิบัติการฝนหลวง จ.เชียงใหม่ พิษณุโลก และจ.อุดรธานี ได้ขึ้นบินปฏิบัติการฝนหลวงเพื่อบรรเทาและยับยั้งการเกิดพายุลูกเห็บ รวมเป็นจำนวน 32 วัน 43 เที่ยวบิน ใช้พลุซิลเวอร์ไอโอไดด์ จำนวน 1,740 นัด ผลการปฏิบัติการฝนหลวง พบว่า ไม่พบรายงานลูกเห็บตกในพื้นที่เป้าหมายขณะปฏิบัติการ จำนวน 26 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ ตาก ลำปาง กำแพงเพชร พิจิตร อุตรดิตถ์ พิษณุโลก น่าน แพร่ เพชรบูรณ์ ลพบุรี นครสวรรค์ กาฬสินธุ์ ขอนแก่น นครพนม บึงกาฬ มุกดาหาร เลย สกลนคร หนองบัวลำภู อุดรธานี ชัยภูมิ นครราชสีมา ยโสธร เชียงราย พะเยา ทั้งนี้ กรมฝนหลวงฯ ยังมีการปฏิบัติภารกิจเพิ่มความชุ่มชื้นให้กับพื้นที่ป่ารอยต่อ 5 จังหวัด ภายใต้โครงการพัชรสุธาคชานุรักษ์ ป่าพรุควนเคร็ง เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง อุทยานแห่งชาติแม่วงก์ ช่วยลดผลกระทบจากปัญหาความเค็มทะเลสาบสงขลา และการสนับสนุนเฮลิคอปเตอร์ในการปฏิบัติภารกิจตักน้ำดับไฟป่า บริเวณพื้นที่ อ.สะเมิง อ.กัลยานิวัฒนา จ.เชียงใหม่ และภารกิจส่งถุงน้ำ (Big Bag) ให้กับเจ้าหน้าที่ดับไฟป่า บริเวณพื้นที่ อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ เพื่อนำน้ำไปปฏิบัติภารกิจดับไฟป่าด้วย
อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่เดือน มิถุนายน 2563 เป็นต้นไป กรมฝนหลวงและการบินเกษตรจะมีการปรับแผนปฏิบัติการดัดแปรสภาพอากาศ ประจำปี 2563 โดยจะดำเนินการเปิดหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงเพิ่มเติมเป็น จำนวน 12 หน่วยฯ ได้แก่ หน่วยปฏิบัติการฝนหลวง จ.แพร่ ตาก ลพบุรี ราชบุรี อุดรธานี ขอนแก่น สุรินทร์ นครราชสีมา ระยอง ชุมพร สุราษฏร์ธานี และสงขลา ใช้อากาศยานของกรมฝนหลวงและการบินเกษตร จำนวน 21 ลำ ได้แก่ ชนิด CN 1 ลำ CASA 9 ลำ CARAVAN 9 ลำ Super King Air 2 ลำ และอากาศยานที่ได้รับการสนับสนุนจากกองทัพอากาศ จำนวน 5 ลำ ได้แก่ ชนิด BT 3 ลำ และ AU 2 ลำ และเปิดฐานเติมสารฝนหลวง จำนวน 4 ฐาน ที่ จ.เชียงใหม่ พิษณุโลก นครสวรรค์ และบุรีรัมย์ นายสุรสีห์ กล่าวทิ้งท้าย

ภาพและวีดีโอ