เปลี่ยนการแสดงผล
#ใกล้ไกลก็สื่อสารได้
22 พฤษภาคม 2563 583 ครั้ง

#ใกล้ไกลก็สื่อสารได้
ฮัลโลๆๆๆ หากย้อนอดีตไปสักราวๆสามสิบปีของบ้านเรา ทุกคนยังต้องใช้โทรศัพท์บ้าน หรือตู้โทรศัพท์หยอดเหรียญ ที่องค์การโทรศัพท์เป็นผู้ติดตั้งให้ ในการขอการติดตั้งโทรศัพท์ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเพราะมีเบอร์ค่อนข้างจำกัด ซึ่งคงเกี่ยวข้องกับระบบคู่สาย ที่เราเคยเห็นกันตามเสาไฟฟ้ามีสายระโยงระยางเต็มไปหมด ยิ่งถ้าเข้าไปในพื้นที่ถิ่นทุรกันดารด้วยแล้วอย่าหวังว่าจะติดต่อสื่อสารกันทางโทรศัพท์ได้ เพราะไม่มีคู่สายโทรศัพท์แม้แต่ตู้โทรศัพท์สาธารณะก็ไม่มี การติดต่อสื่อสารที่นิยมในยุคสมัยก่อนจึงเป็นจดหมาย โทรเลข หรือการใช้วิทยุสื่อสารผ่านคลื่นสัญญาณที่ได้รับอนุญาต ที่เรามักจะได้ยินกันบ่อยๆ ที่การเรียกขานใช่อักษรย่อ หรือรหัสเรียกขาน เช่น ว2 ว4 ว8 แล้วพอเวลาตัดคลื่นการสื่อสารทีก็จะได้ยินเสียง"เค๊อะ" เสียงเหมือนเราขากเสมหะ พอนึกออกยังครับ หลังจากนั้นราวๆปี 2530 เริ่มมีโทรศัพท์มือถือเข้ามาบุกตลาดในบ้านเรา แต่ช่วงนั้นเครื่องโทรศัพท์มือถือจะใหญ่มาก มองผิวเผินจะคล้ายกับกระติกน้ำดื่มเลยทีเดียว แถมราคายังแพงหูฉี่อีกด้วย ใครมีโทรศัพท์มือถือใช้ตอนนั้น ถือว่ามีฐานะมาก แต่ในชนบทบางพื้นที่ เอามาประยุกต์เป็นการให้บริการโทรศัพท์คิดเป็นนาทีซึ่งก็ค่อนข้างแพงมากๆ นาทีละกว่า 10 บาทขึ้นกับระยะทางใกล้ไกลอีกเดียว ต่อมาได้มีการพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง จนในปัจจุบันเครื่องก็บางลงเล็กลง แต่ประสิทธิภาพสูงมาก สารพัดประโยชน์ เหมือนรวมเอาทั้งคอมพิวเตอร์ กล้องถ่ายรูป และโทรศัพท์ เข้าไว้ด้วยกันในเครื่องจิ๋วๆนี้เครื่องเดียว ถึงจะพัฒนาไปขนาดไหน แต่ก็มีข้อจำกัด ในระยะที่สัญญาณสามารถส่งถึงเท่านั้น จึงยังไม่สามารถนำมาใช้ในการสื่อสารบนเครื่องบินได้ถ้าไม่มีระบบเสริม การจราจรทางอากาศนับวันจะเพิ่มมากขึ้น แต่มาเจอยุคโควิด-19 ทำให้ชะงักลงอย่างมาก อย่างไรก็ตามเครื่องบินมีความจำเป็น ที่จะต้องติดตั้งอุปกรณ์เครื่องช่วยเดินอากาศ เพื่อทราบเงื่อนไขของสภาพอากาศ สภาพภูมิประเทศ และสภาพการจราจรของน่านฟ้า รวมทั้งอุปกรณ์วิทยุสื่อสารในการติดต่อกับภาคพื้น เพื่อความปลอดภัยในการบิน เริ่มต้นเราคุยเรื่องโทรศัพท์ แล้วต่อด้วยเรื่องอุปกรณ์สื่อสาร บางคนอาจจะเข้าใจว่า คนที่ทำหน้าที่ด้านนี้จะเป็นพวกบักฮัลโล หรือช่างสื่อสาร ที่คอยพูดแต่วิทยุสื่อสารหรือเปล่า บอกเลยว่าไม่ใช่ครับ แต่จะเป็นช่างอิเล็กทรอนิคส์การบิน(Avionics) ซึ่งจะต้องคอยดูแลบำรุงรักษาอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์การบินเหล่านี้ให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน ทำการตรวจสอบตามคู่มือของโรงงานผู้ผลิตทุกๆ 100 ชั่วโมง หรือ 150 ชั่วโมง หรือ 200 ชั่วโมง ขึ้นกับชนิดของอุปกรณ์ และอุปกรณ์แต่ละตัวก็เป็นระบบอิเล็กทรอนิกส์ที่มีความละเอียดอ่อนมาก ต้องคนใจเย็นจึงจะทำงานด้านนี้ได้ อย่างที่ทราบกันดีครับว่า เครื่องบินที่ใช้ในการล่าเมฆนั้น สมบุกสมบันกับการทำงานเข้าเมฆแถมยังต้องเจอกับสารฝนหลวงที่ละเอียดเป็นฝุ่นผง ในการโปรยแต่ละครั้งย่อมมีการฟุ้งกระจายบ้าง ซึ่งจะส่งผลต่ออุปกรณ์เหล่านี้ได้ ทุกปีในช่วงฤดูการปิดหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงประจำปี ช่วงเดือนพฤศจิกายน-มกราคม พวกพี่ๆชาวบักฮัลโหล เอ้ย ชาวช่างอิเล็กทรอนิกส์การบินของเราจะทำการตรวจสอบแต่ละอุปกรณ์อย่างเข้มข้นมากกว่าการตรวจสอบตามคู่มือของโรงงานผู้ผลิต โดยถอดทำความสะอาด ขัดสีฉวีวรรณขจัดคราบสารต่างๆ ตรวจสอบปรับค่าอุปกรณ์ทุกชิ้นให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน ตรวจสอบระบบสายของอุปกรณ์(wiring)ที่จุดพักสาย และสายอากาศ เพื่อยืดอายุการใช้งาน การตรวจสอบซ่อมบำรุงที่กล่าวมานั้น พวกพี่ๆช่างอิเล็กทรอนิกส์การบินของเราดำเนินการเองทั้งสิ้นเลยครับ แต่หากมันเสียจนหมดปัญญาจริงๆก็จะต้องส่งโรงงานผู้ผลิตทำการซ่อม ถ้าซ่อมไม่ได้แล้วหรือซ่อมไม่คุ้มค่าก็ต้องซื้อมาเปลี่ยนครับ และไม่อยากจะคุย ถือว่าแค่กระซิบเล่าสู่กันฟังแล้วกันนะครับว่า มีบางหน่วยงานต้องแอบเอาอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์การบินมาให้พี่ๆช่างอิเล็กทรอนิกส์การบินของเราช่วยซ่อมให้เลยครับ พวกพี่ๆของเราเจ๋งมั้ยล่ะครับ พวกพี่ๆช่างอิเล็กทรอนิกส์การบินของเราก็ต้องออกไปปฏิบัติงานกับทีมนักล่าเมฆเป็นเวลาอย่างน้อย 8 เดือนเต็มไม่มีวันหยุดอย่างที่รู้กันแล้ว เพื่อคอยตรวจสอบอุปกรณ์ดังกล่าว โดยเฉพาะเวลาระหว่างทำการบินทำฝนหากอุปกรณ์เกิดการขัดข้องจะได้ช่วยดำเนินการแก้ไขในเบื้องต้นได้ และทีมพี่ๆช่างอิเล็กทรอนิกส์การบินของเราไม่ใช่มีเฉพาะผู้ชายนะครับ ยังมีผู้หญิงด้วยครับ เรียกว่าใจต้องรักจริงๆไม่งั้นคงทำไม่ได้จริงมั้ยครับ
ช่างอิเล็กทรอนิกส์การบินเลยเป็นอีกหนึ่งทีม ที่ต้องร่วมกันในการล่าเมฆ เพื่อคอยดูแลเครื่องช่วยอำนวยความสะดวก และการสื่อสารในด้านการบินให้กับนักบินที่จะนำพาทุกคนในเครื่องไปทำฝนได้อย่างมีประสิทธิภาพและความปลอดภัยไงครับ...
#ทีมที่ดีทุกคนต้องสมบูรณ์ในหน้าที่
#SaveThailand
#SaveRainmakingTeam
#Saveบุคลากรทางการแพทย์
#แล้งนี้ต้องรอด
#โควิด19พวกเราต้องรอด
เขียนโดย "ฟ้าโปรย"

ภาพและวีดีโอ