เปลี่ยนการแสดงผล
#แข็งแรงอย่างเดียวไม่พอ
23 พฤษภาคม 2563 229 ครั้ง

#แข็งแรงอย่างเดียวไม่พอ
วันนี้แหงนมองขึ้นไปบนท้องฟ้าเห็นเครื่องบินขาวเขียวมีการพ่นผงสีขาวออกมาเหมือนเป็นหางยาวเลย จากการสอบถามจากผู้รู้เลยทราบว่าสิ่งที่เห็นนั้นคือสารฝนหลวงที่ละเอียดเป็นผงถูกโปรยมาจากกรวยที่ติดอยู่ใต้ท้องเครื่องบินที่ใช้ทำฝนหลวง ซึ่งเรารู้จักกันดีใน 3 ขั้นตอนได้แก่ ก่อกวน เลี้ยงให้อ้วน โจมตี โดยในแต่ละขั้นตอนใช้สารแตกต่างกัน ในขั้นตอนก่อกวนจะใช้ผงโซเดียมคลอไรด์หรือเกลือแป้ง ขั้นตอนที่ 2 ใช้ผงแคลเซียมคลอไรด์หรือแคลเซียมออกไซด์ และขั้นตอนที่ 3 ใช้ผงยูเรีย และใช้น้ำแข็งแห้งบดเป็นก้อนเล็กๆช่วยด้วยในบางกรณี การขึ้นไปล่าเมฆนั้น ต้องนำสารฝนหลวงไปจัดการปั่นป่วนเทวดาเพื่อให้เกิดเมฆ เกิดฝน ท้องฟ้าก็ช่างกว้างใหญ่ จึงต้องใช้สารจำนวนมาก มากถึง 2 ตัน หรือ 2,000 กิโลกรัมเลยทีเดียวในแต่ละครั้ง แต่ก็ได้ฝนตกลงมาในพื้นที่กว้างใหญ่เช่นกัน การทำงานของพวกเราเลยต้องไปกันเป็นหมู่คณะ เพราะอากาศยานของเรามี 3 ขนาดด้วยกัน ขนาดใหญ่จะบรรทุกได้ 2,000 กิโลกรัม ขนาดกลางจะบรรทุกได้ลำละ 1,000 กิโลกรัม และขนาดเล็กจะบรรทุกได้ลำละ 700 กิโลกรัม หน่วยไหนใช้เครื่องบินขนาดใหญ่จะใช้จำนวน 1 ลำ ถ้าใช้เครื่องบินขนาดกลางจะใช้จำนวน 2 ลำ ถ้าใช้เครื่องบินขนาดเล็กจะใช้จำนวน 3 ลำ การที่ต้องใช้สารปริมาณมากขนาดนี้ แล้วขบวนการจัดเตรียมสาร และการโปรยสารทำกันอย่างไร พวกพี่ๆเพื่อนๆคงยังไม่ทราบลองมาฟังกันดูครับ หลังจากนักวิชาการได้วิเคราะห์สภาพอากาศชั้นบนเป็นที่เรียบร้อย ถ้ากรณีสภาพอากาศเอื้อต่อการทำฝน นักวิชาการจะแจ้งแผนบินแก่นักบิน และสั่งการให้เจ้าหน้าที่บด โปรยสาร จัดเตรียมสารและลำเลียงขึ้นเครื่อง แต่ก่อนจะลำเลียงขึ้นเครื่องจะมีสารยูเรียที่ต้องทำการบดก่อนเพราะสารยูเรียไม่มีขายในรูปผง และน้ำแข็งแห้งที่ได้รับการบริจาคต่อปตท.จะต้องทำการบดให้เป็นก้อนขนาดเล็กประมาณปลายนิ้วก้อย ส่วนสารอื่นๆไม่ต้องทำการบดเพราะอยู่ในรูปผงอยู่แล้ว 
ทุกคนเลยต้องทำงานแข่งกับเวลากันเป็นอย่างมาก แต่บางท่านอาจจะมีคำถามในใจว่าทำไมไม่ลำเลียงสารขึ้นเครื่องไว้ก่อน คำตอบคือ การทำงานแต่ละขั้นตอนมันใช้สารคนละชนิดกันไงครับ และบางครั้งการทำงานอาจจะข้ามขั้นตอนเลยก็ได้ เช่น กรณีมีเมฆธรรมชาติเกิดขึ้นตามแนวเขาเราก็ไปเลี้ยงเมฆเหล่านั้นให้อ้วน แล้วตามด้วยการโจมตีให้ตกลงมาเป็นฝนตรงพื้นที่เป้าหมาย ถ้าลำเลียงสารขึ้นเครื่องไว้ก่อนแล้วไม่ได้ใช้สารนั้นก็ต้องขนลงอีก เหนื่อยกันสองต่อ หลังจากนักบินเปิดแผนบินเรียบร้อย สารลำเลียงขึ้นเครื่องเรียบร้อยตามจำนวนที่กำหนด เช่น ขั้นตอนก่อกวนหรือก่อเมฆจะใช้สารเกลือแป้งจำนวน 2,000 กิโลกรัม แบ่งขึ้นเครื่องจำนวน 3 ลำ 2 ลำ หรือลำเดียวขึ้นกับขนาดของเครื่องของหน่วยนั้นๆ และได้รับอนุญาตให้สามารถขึ้นบินได้ พอถึงเวลาที่กำหนดก็เริ่มเหิรเวหาไปยังจุดตั้งต้นของการทำงานซึ่งจะอยู่ด้านต้นลมของพื้นที่เป้าหมายที่ต้องการให้ฝนตก เมื่อถึงจุดที่นักวิชาการวางแผนให้เริ่มโปรย นักวิชาการจะส่งสัญญานให้เจ้าหน้าที่โปรยสารที่ต้องทำหน้าที่ลำเลียงสารขึ้นเครื่องมาด้วยแล้วนั้น ก็เริ่มทำการโปรยอีกหน้าที่หนึ่ง เจ้าหน้าที่เหล่านั้นจึงต้องสวมวิญญานนักสู้ ยืนขึ้นจัดท่าทางให้สมดุล แล้วหยิบถุงสารที่เตรียมไว้ขึ้นมาเทลงไปในกรวยโปรยสาร ที่ติดตั้งอยู่ที่ท้องเครื่องบิน ถ้าเป็นเครื่องบินขนาดเล็กจะต้องโปรยสารจำนวน 700 กิโลกรัมให้เสร็จภายในเวลาประมาณ 15 -20 นาที ใช้คนโปรยจำนวน 2 คนต่อลำ ถ้าเป็นเครื่องบินขนาดกลางจะต้องโปรยสารจำนวน 1,000 กิโลกรัมให้เสร็จภายในเวลา 30-40 นาที โดยใช้คนโปรยจำนวน 2 คนต่อลำ ส่วนเครื่องบินขนาดใหญ่จะต้องโปรยสารให้เสร็จสิ้นจำนวน 2,000 กิโลกรัมภายในเวลา 30-40 นาที โดยใช้คนโปรย 5 คนเพื่อให้สารที่โปรยไปมีความหนาแน่นตามที่กำหนด หลังจากเสร็จขั้นตอนที่ 1 เครื่องจะลงมาจอดและเตรียมพร้อมที่จะนำสารขึ้นไปเลี้ยงให้อ้วน และตามด้วยขั้นตอนโจมตี จากการติดตามสภาพเมฆของนักวิชาการ และข้อมูลรูปถ่ายสภาพเมฆจากพี่น้องอาสาสมัครฝนหลวงในพื้นที่ที่ส่งให้ทีมนักวิชาการประกอบการตัดสินใจ สามารถดำเนินการได้ในขั้นไหนต่อไปก็จะใช้สารตามขั้นตอนนั้นๆลำเลียงขึ้นไปโปรยตามหลักการโปรยของขั้นตอนนั้นภายใต้การกำกับของนักวิชาการ ทั้งนี้คนที่จะขึ้นไปทำงานบนเครื่องบินทุกคนต้องผ่านการตรวจเวชศาสตร์การบินทุกคนเพื่อให้แน่ใจว่ามีสุขภาพที่ดี เพราะไม่ว่าอากาศในการหายใจจะค่อนข้างน้อยกว่าที่ภาคพื้น การเจอสภาพอากาศแปรปรวนในบางครั้งอีก เรียกว่าไม่แข็งแรงจริงทำงานแบบนี้ไม่ไหวครับ ในอดีตกรมฝนหลวงตอนที่ยังเป็นแค่สำนักยังมีพนักงานขับรถที่เป็นลูกจ้างประจำ นายช่างเครื่องกล เจ้าหน้าที่เหล่านี้ก็ต้องมาช่วยกันทำหน้าที่บด โปรยสารด้วยเพราะคนค่อนข้างจำกัด แต่หลังจากพวกเจ้าหน้าที่เหล่านี้เกษียณไปก็ถูกยุบเลิกในบางตำแหน่ง และต้องปฏิบัติให้ถูกต้องตามหน้าที่ที่กำหนดของแต่ละตำแหน่ง ปัจจุบันคนที่ทำหน้าที่บด โปรย เลยเป็นแค่เพียงลูกจ้างของบริษัทเอกชนที่มารับจ้างเราให้มาทำหน้าที่นี้ คงเป็นเพราะความไม่เข้าใจและไม่ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ของหน่วยงานที่มีหน้าที่ในการพิจารณาอัตรากำลัง ตำแหน่งเหล่านี้จึงไม่มีตำแหน่งที่ถาวรอยู่ภายในกรม ทั้งๆที่ความชำนาญ ความเข้าใจ ความต่อเนื่องในงาน และสุขภาพ ตลอดจนความเชื่อมั่นที่จะไว้ใจคนเหล่านี้ขึ้นไปบนเครื่องกับพวกเราจะไม่สร้างเหตุที่ไม่คาดคิดอาจนำมาซึ่งอุบัติเหตุได้อย่างที่บอกครับคนที่ทำหน้าที่บด โปรยสาร ต้องขนสารจำนวนเป็นพันกิโลกรัม และยังต้องขึ้นไปบนเครื่องยืนโปรยเจ้าสารเหล่านี้ด้วยเพียงขาที่แข็งแรงคู่นั้นปราศจากเข็มขัดนิรภัยเหมือนผู้โดยสารที่มีเข็มขัดนิรภัยที่เบาะผู้โดยสาร สามารถนำมารัดในช่วงเกิดสภาพอากาศแปรปรวน แถมอากาศหายใจก็บางกว่าภาคพื้น จนบางครั้งเจ้าหน้าเหล่านี้เกิดอาการวูบอาจจากเพราะความเหนื่อย และอากาศหายใจที่เบาบางจนพี่ๆนักบินต้องลดระดับเพดานบิน หรือต้องยกเลิกภารกิจในบางครั้งเพื่อรักษาชีวิตของบุคคลเหล่านี้ ที่เปรียบเสมือนคนในครอบครัวของเราเช่นกัน ถึงแม้จะจ้างมาจากบริษัทเอกชน และบางครั้งจะมีพี่น้องอาสาสมัครฝนหลวงมาช่วยในการลำเลียงสาร และขึ้นไปช่วยโปรยสารด้วยเช่นกันในช่วงที่เราขาดแคลนแรงงาน พี่น้องอาสาสมัครฝนหลวงที่เคยมาช่วยทำหน้าที่คงทราบดีในความเหน็ดเหนื่อย และความพยายามของพวกเรา ลำพังแค่ยืนบนเครื่องบินในสภาพอากาศแปรปรวน พวกเราก็คงแย่พอควรแล้ว นี่ยังต้องออกแรงหยิบสารขึ้นมาโปรยอีก น่าจะให้หน่วยงานที่มีหน้าที่ในการกำกับอัตรากำลัง ลองขึ้นไปทำงานดูบ้างน่าจะดีนะครับ
จากที่เล่ามาทั้งหมดพวกพี่ๆ เพื่อนๆ เห็นมั้ยครับว่า กว่าจะได้น้ำมาแต่ละหยดไม่ได้ใช้คนแค่เพียงคนเดียว ไม่ได้ใช้แค่เพียงนักบิน ไม่ได้ใช้แค่เพียงนักวิชาการ แต่ต้องทำงานกันเป็นทีมซึ่งรวมทั้งช่างอากาศยาน ช่างอิเล็กทรอนิกส์อากาศยาน เพื่อความปลอดภัยของคนที่ขึ้นไปเสี่ยงเอาฝนลงมาเพื่อพี่น้องประชาชน ซึ่งรวมถึงเจ้าหน้าที่โปรยสารด้วย ดังนั้นเรามาร่วมกันใช้น้ำอย่างรู้คุณค่ากันนะครับ..
#ทีมที่ดีทุกคนต้องสมบูรณ์ในหน้าที่
#SaveThailand
#SaveRainmakingTeam
#Saveบุคลากรทางการแพทย์
#แล้งนี้ต้องรอด
#โควิด19พวกเราต้องรอด
เขียนโดย "ฟ้าโปรย"

ภาพและวีดีโอ