เปลี่ยนการแสดงผล
#ทำไมต้องทำฝนฤดูฝน
26 พฤษภาคม 2563 972 ครั้ง

#ทำไมต้องทำฝนฤดูฝน
  ประเทศไทยตั้งอยู่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เดิมมีชื่อว่า สยาม ประกาศเปลี่ยนชื่อเป็นประเทศไทยอย่างเป็นทางการตั้งแต่ปี 2482 ประเทศไทยมีขนาดใหญ่เป็นอันดับที่ 50 ของโลก มีเนื้อที่ 513,120 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 320 ล้านไร่ 
จากข้อมูลปี 2561 ของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร มีการแบ่งพื้นที่ 320 ล้านไร่ ออกเป็นพื้นที่ป่าไม้จำนวนประมาณ 102 ล้านไร่ พื้นที่ทางการเกษตรจำนวนประมาณ 149 ล้านไร่ และพื้นที่นอกภาคการเกษตรจำนวนประมาณ 69 ล้านไร่ แล้วทราบหรือไม่ครับว่า พื้นที่การเกษตรบ้านเราจำนวน 149 ล้านไร่ ได้มีการพัฒนาเป็นพื้นที่การเกษตรในเขตชลประทานไปแล้วจนถึงปัจจุบันแค่เพียงจำนวน 34 ล้านไร่ ที่เหลือยังคงเป็นพื้นที่การเกษตรนอกเขตชลประทาน หรือพื้นที่การเกษตรอาศัยน้ำฝนมากถึงจำนวนประมาณ 115 ล้านไร่(ภาคเหนือจำนวนประมาณ 23 ล้านไร่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือประมาณ 57 ล้านไร่ ภาคกลางประมาณ 18 ล้านไร่ และภาคใต้ประมาณ 18 ล้านไร่) เกษตรอาศัยน้ำคงไม่ต้องแปลนะครับ ก็ต้องอาศัยน้ำฝนเป็นหลักนั่นเองส่วนฤดูบ้านเราเป็นที่ทราบกันดีว่ามี 3 ฤดูคือ ฤดูร้อน ร้อนมาก ร้อนที่สุด ใช่มั้ยครับ 
ไม่ใช่นะครับ นั่นมันฤดูในความรู้สึกของเรา แต่ฤดูกาลของบ้านเราจริงๆแล้วมี 3 ฤดู และในแต่ละฤดู กรมฝนหลวงก็มีส่วนเข้าไปเกี่ยวในการทำงานช่วยเหลือพี่น้องประชาชนอย่างไรกันบ้าง มาติดตามกันครับ
1.ฤดูร้อน เริ่มต้นประมาณกลางเดือนกุมภาพันธ์ถึงกลางเดือนพฤษภาคม ซึ่งเป็นช่วงเปลี่ยนจากมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ โดยทั่วไปจะมีอากาศร้อน และแห้งแล้ง แต่บางครั้งอาจมีมวลอากาศเย็นจากประเทศจีน แผ่ลงมาปกคลุมถึงประเทศไทยตอนบน ทำให้เกิดการปะทะกันของมวลอากาศร้อนทางบ้านเรา ก่อให้เกิดพายุฝนฟ้าคะนอง และลมกระโชกแรง หรือพายุฤดูร้อน ซึ่งอาจมีลูกเห็บตกก่อให้เกิดความเสียหายได้ ด้วยสภาพอากาศที่แห้งแล้งในช่วงฤดูนี้จึงมักจะเกิดปัญหาหมอกควัน ไฟป่าโดยเฉพาะในพื้นที่ภาคเหนือ และเกิดพายุลูกเห็บได้ในบางวัน กรมฝนหลวงมีการติดตามสภาพอากาศ และช่วยดูแลแก้ปัญหาดังกล่าว
2.ฤดูฝน เริ่มต้นประมาณกลางเดือนพฤษภาคมถึงกลางเดือนตุลาคม เมื่อมรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดปกคลุมประเทศไทย และร่องความกดอากาศต่ำพาดผ่านประเทศไทย ทำให้มีฝนชุกทั่วไป ร่องความกดอากาศต่ำนี้ปกติ จะพาดผ่านภาคใต้ในระยะต้นเดือนพฤษภาคม แล้วจึงเลื่อนขึ้นไปทางเหนือตามลำดับ จนถึงช่วงประมาณปลายเดือนมิถุนายน จะพาดผ่านอยู่บริเวณประเทศจีนตอนใต้ ทำให้ฝนในประเทศไทยลดลงระยะหนึ่ง และเรียกว่าฝนทิ้งช่วง ซึ่งอาจนานประมาณ 1 - 2 สัปดาห์ หรือบางปีอาจเกิดขึ้นรุนแรง และมีฝนน้อยนานนับเดือน ในเดือนกรกฎาคมปกติร่องความกดอากาศต่ำ จะเลื่อนกลับลงมาจากทางตอนใต้ของประเทศจีน พาดผ่านบริเวณประเทศไทยอีกครั้ง ทำให้มีฝนชุกต่อเนื่อง และปริมาณฝนเพิ่มขึ้น ในช่วงนี้ทำไมเราต้องทำฝนและเป็นช่วงที่ต้องทำฝนมากกว่าฤดูอื่นๆเพราะอะไร วันนี้มีคำตอบให้ครับ
3.ฤดูหนาว เริ่มต้นประมาณกลางเดือนตุลาคมถึงกลางเดือนกุมภาพันธ์ เมื่อมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ พัดปกคลุมประเทศไทยตั้งแต่กลางเดือนตุลาคม เป็นต้นมา ซึ่งจะนำความแห้งแล้ง และอากาศเย็นสู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออก ตามลำดับ
ในช่วงฤดูนี้ระหว่างเดือนมกราคม และกุมภาพันธ์จะมีปัญหาฝุ่นจิ๋วในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล กรมฝนหลวง ตั้งจะหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงเคลื่อนที่เร็วเพื่อช่วยดูแลปัญหาดังกล่าวให้ทุกปี ปีนี้กรมอุตุนิยมวิทยาประกาศเข้าสู่ฤดูฝนเมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2563 ประกอบกับวันพืชมงคลปีนี้ตรงกับวันที่ 11 พฤษภาคม 2563 ซึ่งพี่น้องเกษตรกรส่วนใหญ่จะถือฤกษ์วันพืชมงคล และยึดวันที่กรมอุตุนิยมวิทยาประกาศวันเข้าสู่ฤดูฝนเริ่มทำการเพาะปลูก โดยเฉพาะพี่น้องเกษตรกรที่อยู่นอกเขตพื้นที่ชลประทาน หรือพื้นที่เกษตรอาศัยน้ำฝน 
  พวกพี่ๆ เพื่อนๆ ก็ได้รับทราบข้อมูลแล้วว่าพื้นที่เกษตรอาศัยน้ำฝนมีมากถึง 114 ล้านไร่ ฝนบ้านเราก็จะเป็นฝนที่เกิดจากเมฆพัฒนาตัวในแนวตั้ง จะเป็นลักษณะ เมฆเป็นกลุ่มๆ ก้อนๆ ไม่ได้ตกกระจายตัวทั้งพื้นที่ แถมบางช่วงจะหายไปนานที่เป็นลักษณะฝนทิ้งช่วง พื้นที่ที่ประสบปัญหาเหล่านี้ถ้าไม่ได้รับช่วยเหลือโดยการทำฝนหลวงเพิ่มเติมให้ก็อาจจะทำให้ผลผลิตของพี่น้องประชาชนเกิดความเสียหายได้ พูดน้ำบนฟ้าในการช่วยเหลือพี่น้องประชาชนในแต่ละฤดูมาแล้ว คราวนี้ลงมาพูดคุยเรื่องน้ำบนดินกันบ้าง แล้วจะต้องสัมพันธ์กับน้ำบนฟ้าอย่างไร มาลองฟังกันดูครับหลักการบริหารจัดการน้ำในเขื่อนที่ดีต้นฤดูแล้ง (1 พฤศจิกายน) ควรมีปริมาณน้ำในเขื่อนประมาณ 70-80 % ของความจุเก็บกักเพื่อให้สามารถใช้น้ำในฤดูแล้ง ในการอุปโภค บริโภค การรักษาระบบนิเวศน์ การเกษตร และการอุตสาหกรรม ตลอดจนสำรองน้ำไว้ใช้ต้นฤดูฝนถัดไปเพื่อให้พี่น้องเกษตรกรได้ใช้ในการเตรียมแปลงได้อย่างเพียงพอ แต่ละท่านคงทราบกันดี ช่วงหลังๆมานี่ จะด้วยสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง หรือด้วยปัจจัยอื่นๆก็ตาม ปริมาณน้ำในเขื่อนมีปริมาณค่อนข้างน้อยเกือบทุกปี และที่ทราบกันดีนะครับว่าการออกแบบเขื่อนนั้นต้องใช้รอบความถี่การเกิดซ้ำของปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนสูงสุดเป็นระยะเวลามากถึง 100 หรือ 1,000 ปี เลยทีเดียว ขึ้นกับสภาพภูมิประเทศของพื้นที่ และสถิติข้อมูลปริมาณน้ำหลากในพื้นที่ ในทางกลับกันการทำฝนหลวงนั้นจะเป็นการเติมเต็มในส่วนที่น้ำจะขาดเท่านั้น และการทำฝนหลวงจะเทียบกับศักยภาพของพายุไม่ได้ จึงมีความจำเป็นต้องทยอยเติมน้ำให้เขื่อนไปพร้อมกับการดูแลพื้นที่การเกษตรที่ประสบปัญหาฝนทิ้งช่วงในฤดูฝนอีกด้วยนั่นเอง
  ฟังดูแล้วจะเห็นว่าในช่วงฤดูฝน กรมฝนหลวงต้องทำงานมากขึ้นกว่าฤดูอื่นๆเสียอีก เพราะว่าสภาพอากาศเอื้อต่อการทำฝนหลวงมากกว่าฤดูอื่น และเป็นฤดูที่มีพื้นที่ทำการผลิตทางการเกษตรมากกว่าฤดูอื่นๆ และยังต้องทำหน้าที่ช่วยป้องกันการเกิดปัญหาภัยแล้งโดยการเติมน้ำให้เขื่อนให้มีปริมาณมากที่สุดเท่าที่จะมากได้อีกด้วย
#สิ่งที่คิดว่าใช่ อาจจะไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นจริง
#SaveThailand
#SaveRainmakingTeam
#Saveบุคลากรทางการแพทย์
#แล้งนี้ต้องรอด
#โควิด19พวกเราต้องรอด

ภาพและวีดีโอ