เปลี่ยนการแสดงผล
#ตำราพิชัยสงครามภัยพิบัติ
31 พฤษภาคม 2563 591 ครั้ง

#ตำราพิชัยสงครามภัยพิบัติ
  ใครที่เคยอ่านตำราพิชัยสงครามซุนวู หรือซุนจื่อ ทราบมั้ยครับว่า ซุนวูได้เขียนตำราพิชัยสงครามบนเปลือกไม้ไผ่ มีความยาวเพียง 700 คำใน 13 บท ขึ้นมาเมื่อประมาณ 2485 ปีมาแล้ว แต่ยังได้รับความนิยมไปประยุกต์ใช้ทั้งการทำยุทธศาสตร์ทางการทหาร และยุทธศาตร์ทางธุรกิจ มาจนกระทั่งบัดนี้  ในตำราพิชัยสงครามนี้มีคำคมที่แสดงถึงวิสัยทัศน์ของซุนวู คือ “รบร้อยชนะร้อย ยังหาใช่ความยอดเยี่ยมไม่ มิต้องรบแต่ชนะได้ จึงเป็นความยอดเยี่ยม" ท่านซุนวูยังกล่าวว่า สงครามมาพร้อมกับความเสี่ยงมหาศาล ดังนั้นเราควรทำทุกวิถีทางในการลดความเสี่ยงเหล่านั้น นั่นรวมถึงกิจการในประเทศควรจะจัดการให้เรียบร้อย เหล่าทหารจะต้องมีระเบียบวินัยเป็นเลิศ เหล่าแม่ทัพนายพลจะต้องกล้าหาญและมีความรอบคอบ อาวุธต่าง ๆ ต้องอยู่ในสภาพพร้อมรบ และข้าวปลาอาหารก็ต้องพรั่งพร้อมเช่นกัน นั่นหมายความว่าจะต้องดำเนินการประเมินสภาพแวดล้อมของตนเองเสียก่อน หรือ ประเมินจุดอ่อน(w)และจุดแข็ง(S) ซึ่งเป็นปัจจัยภายในองค์กร ขณะเดียวกันท่านซุนวูก็แนะนำให้มีการประเมินสภาพแวดของศัตรูด้วย หรือ การประเมินโอกาส(O)และภัยคุกคาม(T) ซึ่งเป็นปัจจัยภายนอกนั่นเองอีกด้วย ดังคำกล่าวที่ว่า: การป้องกันเป็นสิทธิ์ของเรา แต่โอกาสที่จะชิงชัยนั้นต้องรอศัตรูเปิดให้เท่านั้น(O) พิชัยสงครามล้วนสอนไม่ให้เราอยู่บนความหวังว่าเราจะอยู่อย่างสุขสงบปราศจากศัตรู แต่สอนให้เราพร้อมรับมืออยู่เสมอ สอนให้เราไม่อยู่บนความฝันว่าเขาคงจะไม่โจมตี แต่อยู่บนความจริงที่ว่าเราเตรียมพร้อมไว้ดีจนการโจมตีเรานั้นเป็นไปไม่ได้(T) จะเห็นได้ว่าท่านซุนวูได้ทำการวิเคราะห์สภาพแวดล้อมต่างๆได้แก่ การวิเคราะห์ SWOT นั่นเอง จุดอ่อน(W) จุดแข็ง(S) โอกาส(O) และภัยคุกคาม(T) เพื่อวางกลยุทธ์ต่อไป กลยุทธ์ของท่านซุนวูแบ่งเป็น 3 ระดับคือ การเอาชนะโดยไม่ต้องทำสงคราม นั่นคือการจู่โจมโค่นล้มแผนการของฝ่ายตรงข้ามมิให้เป็นผลสำเร็จ อันดับสองคือ ทำลายพันธมิตรของฝ่ายตรงข้าม ส่วนอันดับสามคือ เข้าสู่สงครามแบบซึ่งๆ หน้า จากกลยุทธ์ที่กำหนดขึ้น ท่านซุนวูจึงคิดแผนปฏิบัติการรองรับกลยุทธเหล่านั้นเพื่อขับเคลื่อนให้เป็นผลสำเร็จ เช่น หลอกล่อคนเก่งและมีความสามารถให้ออกห่างจากศัตรู ทำให้เขาไม่มีที่ปรึกษา ใช้จารชนเข้าไปก่อกวนกิจการบ้านเมืองของศัตรู ซึ่งทำให้บ้านเมืองและนโยบายต่าง ๆ ไม่สามารถดำเนินไปได้โดยง่าย ใช้วิธีการที่แยบคายสร้างความแตกแยกกันในหมู่ขุนนางรวมถึงเหล่าทหารของศัตรู หลอกล่อด้วยของขวัญล้ำค่าเพื่อให้ศัตรูเกิดความโลภ ใช้หญิงงามเพื่อทำให้จิตใจของเขาห่างเหินการบ้านการเมือง
อย่างไรก็ตามท่านซุนวูมองว่าการสื่อสารให้ทุกคนเข้าใจในกลยุทธ์และแผนปฏิบัติการที่ได้วางแผนไว้เป็นสิ่งจำเป็น ดังคำกล่าวที่ว่า "ในการจัดทัพนั้น ระบบสื่อสารเป็นเรื่องสำคัญ จะต้องมีการโบกธง มีการตีกลอง ตีฆ้อง ให้สัญญาณแก่ไพร่พล เพื่อให้ไพร่พลรู้เจตนาของแม่ทัพว่าตอนนี้จะบุกหรือจะถอย ทั้งยังต้องให้ไพร่พลรู้ด้วยว่าสถานการณ์ของกองทัพเป็นอย่างไร กำลังได้เปรียบหรือเสียเปรียบ"
ท่านซุนวูยังคำนึงว่าถึงแม้แผนจะดีอย่างไร ก็สามารถปรับแผนให้เข้ากับสถานการณ์ได้ดังคำกล่าวที่ว่า ”ถ้าเราอ่อนแอกว่า อย่าใช้การโจมตีซึ่งๆ หน้า ให้โจมตีตัวแม่ทัพ เพื่อตัดขวัญและกำลังใจ ไม่รบแต่ปิดล้อมไม่ให้ฝ่ายตรงข้ามได้เสบียงอาหาร ใช้การรบแบบกองโจร และการโจมตีเมืองที่ศัตรูคาดไม่ถึง หรือไม่ให้ความสำคัญ
  จากหลักการตำราพิชัยสงครามซุนวู เมื่อกรมฝนหลวงและการบินเกษตรได้รับการก่อตั้งขึ้นในปี 2556 จึงได้มีการจัดทำยุทธศาสตร์ของกรมขึ้นโดยบุคลากรของกรมช่วยกันดำเนินงานเอง โดยมีกองแผนงานเป็นแม่งาน เรียกว่าทำกันไปเรียนรู้กันไป เริ่มจากการกำหนดวิสัยทัศน์องค์กร การวิเคราะห์สภาพแวดล้อมปัจจัยภายใน และภายนอกองค์กร การกำหนดประเด็นยุทธศาสตร์ การกำหนดกลยุทธ์ในการขับเคลื่อนประเด็นยุทธศาสตร์ และการกำหนดแผนงาน/โครงการ และมีการประชาพิจารณ์กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียก่อนที่จะประกาศใช้ ซึ่งกรมฝนหลวงฯก็ได้ดำเนินในหลักการเดียวกันกับตำราพืชัยสงครามซุนวูนั่นเอง ที่มีการทบทวนยุทธศาสตร์เป็นประจำทุกปี จนยุทธศาสตร์ของกรมฝนหลวงปัจจุบันพัฒนามาเป็น "แผนปฏิบัติการด้านการดัดแปรสภาพอากาศ กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ระยะ 20 ปี(พ.ศ.2561-2580) โดยมีการพิจารณาความเชื่อมโยงกับแผนที่เกี่ยวข้องใน 3 ระดับ คือระดับแรกยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ระดับที่สอง แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ แผนปฏิรูปประเทศ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 แผนความมั่นคงแห่งชาติ ระดับที่สามคือ ยุทธศาสตร์เกษตรและสหกรณ์ 20 ปี และแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี
  กรมฝนหลวงฯ ได้กำหนดวิสัยทัศน์ว่า "กรมฝนหลวงและการบินเกษตรเป็นองค์กรชั้นนำในระดับโลกด้านการดัดแปรสภาพอากาศตามศาสตร์ของพระราชาภายในปี 2580" โดยมี 4 แผนปฏิบัติการใน 4 ด้านคือ การเพิ่มประสิทธิภาพการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้งและบรรเทาภัยพิบัติเชิงพื้นที่ การเพิ่มประสิทธิภาพการดัดแปรสภาพอากาศ การเพิ่มขีดความสามารถการบริหารจัดการด้านการบิน และการพัฒนาระบบบริหารจัดการภาครัฐ โดยมีการกำหนดเป้าหมายในแต่ละปีในการแก้ไขปัญหาภัยแล้ง การแก้ไขปัญหาภัยพิบัติ การพัฒนานวัตกรรม เทคโนโลยี และถ่ายทอดองค์ความรู้ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ตลอดจนการพัฒนาบุคลากร นับได้ว่าแผนปฏิบัติการด้านการดัดแปรสภาพอากาศ กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ระยะ 20 ปี(พ.ศ.2561-2580) นั้นเปรียบเสมือนตำราพิชัยสงครามซุนวูในการที่จะสู้รบ แต่เป็นการสู้รบกับความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน โดยในอนาคต 20 ปีข้างหน้าเรากำหนดเป้าหมายในการแก้ไขพื้นที่ประสบภัยแล้งให้ได้ 98% ของแผนที่กำหนด และแก้ไขพื้นที่ประสบภัยพิบัติ(ลูกเห็บ ไฟป่าและหมอกควัน)ให้ได้ 70 % ของแผนที่กำหนด และเป็นศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีการดัดแปรสภาพอากาศระดับสากล อย่างไรก็ตามในแต่ละปีเราจะมีการพัฒนาการช่วยเหลือพี่น้องประชาชนอย่างเต็มที่...
#แผนที่เดินทางที่ชัดเจนทำให้ไม่หลงทาง
#SaveThailand
#SaveRainmakingTeam
#Saveบุคลากรทางการแพทย์
#แล้งนี้ต้องรอด
#โควิด19พวกเราต้องรอด
เขียนโดย "ฟ้าโปรย"

 

ภาพและวีดีโอ