เปลี่ยนการแสดงผล
จำนวนผู้เยี่ยมชมเว็บไซด์
วันนี้
21760
เดือนนี้
5610480
เมื่อวาน
231055
เดือนที่แล้ว
6919354
เกี่ยวกับองค์กร
ประวัติความเป็นมา
ประวัติความเป็นมา

History of the Department

จากพระราชบันทึก THE RAINMAKING STORY พระราชทานของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้ก่อให้เกิดความกระจ่างชัดถึงที่มาและจุดเริ่มต้นโครงการฝนหลวง ซึ่งสรุปพระราชบันทึกดังกล่าวได้ว่า ระหว่างวันที่ ๒ – ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๙๘ ทรงเยี่ยมเยียน ๑๕ จังหวัด ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในวันจันทร์ที่ ๑๔ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๙๘ เสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์ (เดลาเฮย์ ซีดาน สีเขียว) จากจังหวัดนครพนม ไปจังหวัดกาฬสินธุ์ผ่านจังหวัดสกลนครและเทือกเขาภูพาน เมื่อทรงหยุดอย่างเป็นทางการที่ทางแยกอำเภอกุฉินารายณ์และสหัสขันธ์ ณ ที่นั้นทรงสอบถามราษฎรเกี่ยวกับผลผลิตข้าว ทรงคิดว่าต้องเสียหายเพราะความแห้งแล้ง แต่ต้องทรงประหลาดใจที่ราษฎรเหล่านั้นกราบบังคมทูลว่า เดือดร้อนเสียหายจากน้ำท่วม ทรงเห็นว่าเป็นการแปลก เพราะพื้นที่โดยรอบดูคล้ายทะเลทรายที่มีฝุ่นฟุ้งกระจายทั่วไป แท้ที่จริงแล้วราษฎรเหล่านั้นมีทั้งน้ำท่วมและฝนแล้ง นั่นคือ ทำไมประชาชนของภาคตะวันออกเฉียงเหนือจึงยากจนนัก

ณ ขณะนั้นทรงคิดว่าเป็นปัญหาที่ดูเหมือนว่าจะแก้ไขไม่ได้ และขัดแย้งกันเองในตัว เมื่อมีน้ำมากไปก็ท่วมพื้นที่ เมื่อน้ำหยุดท่วมฝนก็แล้ง เมื่อฝนตกน้ำจะไหลบ่าลงมาท่วมจากภูเขาเพราะไม่มีสิ่งใดหยุดยั้งการไหลบ่า ด้วยพระอัจฉริยภาพและพระสติปัญญาอันเป็นเลิศ ทำให้ทรงเกิดประกายความคิดอย่างฉับพลัน ณ วินาทีนั้นในขณะนั้น ซึ่งเป็นแนวคิดที่เป็นมาตรการในการแก้ไขปัญหาที่ยุ่งยากและขัดแย้งกันดังกล่าว

วิธีแก้คือ ต้องสร้างฝายน้ำล้น (check dams) ขนาดเล็กจำนวนมาก ตามลำธารที่ไหลลงมาจากภูเขาจะช่วยชะลอการไหลลงมาอย่างสม่ำเสมอ ถ้าเป็นไปได้ควรสร้างเขื่อนและอ่างเก็บน้ำขนาดเล็กๆ จำนวนมาก วิธีนี้จะช่วยแก้ไขปัญหาแห้งแล้งได้ทางหนึ่ง ในฤดูฝนน้ำที่ถูกเก็บกักไว้ในฝาย เขื่อนและอ่างเก็บน้ำดังกล่าวใช้จัดสรรน้ำสำหรับฤดูแล้ง

ปัญหาหนึ่งที่ยังคงดำรงอยู่คือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือทั้งภาคมีชื่อเสียงว่าเป็นภาคที่แห้งแล้ง ขณะนั้นทรงแหงนขึ้นดูท้องฟ้าและพบว่ามีเมฆจำนวนมาก แต่เมฆเหล่านั้นถูกพัดผ่านพื้นที่แห้งแล้งไป วิธีแก้อยู่ที่ว่าจะทำอย่างไรที่จะทำให้เมฆเหล่านั้นรวมตัวตกลงมาเป็นฝนในท้องถิ่นนั้น และทรงบันทึกไว้ว่า ความคิดนั้นเป็นจุดเริ่มต้นของโครงการฝนเทียม (ปัจจุบันเรียกอย่างเป็นทางราชการตามมติคณะรัฐมนตรีว่า โครงการฝนหลวงมาตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๑๗) นับเป็นพระอัจฉริยภาพที่ทรงเกิดประกายความคิดที่จะแก้ไขปัญหาอันยุ่งยาก และขัดแย้งได้อย่างฉับพลัน ณ ขณะนั้นด้วยพระปัญญาอันชาญฉลาดและเป็นเลิศที่ทรงสามารถคิดค้นวิธีแก้ปัญหาทั้งน้ำท่วมและฝนแล้งได้ในขณะเดียวกัน ที่เป็นวิธีการและหลักการในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำทั้งจากฟ้าและบนดินได้อย่างครบถ้วน ยังคงทันสมัยที่นำมาเป็นหลักการหรือต้นแบบในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำบนผิวพื้นโลกได้ทุกยุคสมัย ทั้งในปัจจุบันและอนาคต

ทันทีที่เสด็จกลับจากการเสด็จเยือนภาคตะวันออกเฉียงเหนือทั้ง ๑๕ จังหวัด ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เมื่อวันที่ ๒ – ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๙๘ มาถึงกรุงเทพมหานครทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ ม.ร.ว. เทพฤทธิ์ เทวกุล ซึ่งเป็นวิศวกรประดิษฐ์ควายเหล็ก ที่มีชื่อเสียงเข้าเฝ้าฯ และพระราชทานแนวความคิดนั้นแก่ ม.ร.ว. เทพฤทธิ์ เทวกุล ซึ่งได้กราบบังคมทูลสัญญาว่าจะศึกษาปัญหาดังกล่าวโดยเร็ว

ระหว่างรอการเตรียมการเพื่อให้เกิดลู่ทางและความเป็นไปได้ให้มีความพร้อมและสามารถเริ่มต้นลงมือทำการค้นคว้าทดลอง ประดิษฐ์คิดค้น และปฏิบัติการทดลองจริงในท้องฟ้า มิได้ทรงปล่อยเวลาให้ล่วงเลยไปโดยเปล่าประโยชน์ ทรงทบทวนและวิเคราะห์วิจัยเอกสารตำราด้านวิชาการ เช่น อุตุนิยมวิทยา วิทยาศาสตร์บรรยากาศ เอกสารรายงานการวิจัย การค้นคว้าทดลอง และกรณีศึกษาต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการดัดแปรสภาพอากาศ ซึ่งในสมัยนั้นเอกสารเหล่านั้นยังมีน้อยและหาได้ยาก ส่วนใหญ่เป็นเอกสารที่ได้มาจากประเทศในแถบถิ่นที่มีภูมิอากาศอยู่ในเขตหนาว รวมทั้งทรงวิเคราะห์ข้อมูลและข้อสังเกต ที่ทรงบันทึกไว้ในระหว่างการเสด็จเยือนแต่ละท้องถิ่นของแต่ละภาคของประเทศ เช่น สภาพภูมิประเทศ ภูมิอากาศ สิ่งแวดล้อม ฤดูกาล ซึ่งทรงเห็นว่ามีอิทธิพลต่อการเกิดสภาวะแห้งแล้งและต่อความพยายามในการดัดแปรสภาพอากาศให้เกิดฝนได้อย่างสัมฤทธิ์ผล รวมทั้งสภาพปัญหาความทุกข์ยาก ความเดือดร้อนเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินของราษฎรอันเนื่องจากภัยแล้ง จนทรงสามารถตั้งเป็นข้อสมมติฐานที่ทรงคาดหมายหวังผลไว้อย่างมีเป้าหมายที่ชัดเจน พร้อมที่จะเริ่มต้นให้มีการค้นคว้าทดลอง และทรงมั่นพระทัยว่าจะสัมฤทธิ์ผลในการค้นคว้าทดลองและการประดิษฐ์คิดค้นตามที่ทรงคาดหวังไว้ในข้อสมมติฐาน

พร้อมทั้งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ ฯพณฯ องคมนตรี มล. เดช สนิทวงศ์ อัญเชิญเอกสารที่ทรงศึกษาทบทวนแล้วดังกล่าวข้างต้น มาพระราชทานแด่ ม.ร.ว. เทพฤทธิ์ เทวกุล ได้ศึกษาทบทวนและทำความเข้าใจกับเอกสารพระราชทานเหล่านั้นควบคู่กันไปด้วย ด้วยความมุ่งมั่นและตั้งใจจริง ม.ร.ว. เทพฤทธิ์ เทวกุล ถึงกับไปสมัครฝึกบินกับศูนย์ฝึกบินพลเรือนจนจบหลักสูตรเป็นนักบิน

หลายปีต่อมา ม.ร.ว. เทพฤทธิ์ เทวกุล ได้กลับมากราบบังคมทูลพร้อมกับความคิดเริ่มแรกและความเป็นไปได้ที่จะเริ่มต้นการค้นคว้าทดลอง การประดิษฐ์คิดค้น และการปฏิบัติการค้นคว้าทดลองจริงในท้องฟ้า โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ซึ่งมี ดร.แสวง กุลทองคำ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และ ม.จ.จักรพันธุ์ เพ็ญศิริจักรพันธ์ อธิบดีกรมการข้าวในขณะนั้นรับใส่เกล้าฯ สนองพระราชประสงค์การปฏิบัติการทดลองจริงในท้องฟ้าจึงเริ่มต้นเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ ๑๙– ๒๐ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๑๒ ณ สนามบินหนองตะกู วนอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ อำเภอปากช่องเขาใหญ่ จังหวัดนครราชสีมา

จากนั้นมา จึงทรงไว้วางพระราชหฤทัยให้สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นองค์กรปฏิบัติการสนองพระราชประสงค์ในการค้นคว้าทดลองทำฝนหลวง ควบคู่กับปฏิบัติการหวังผลกู้ภัยแล้ง มาโดยตลอด

สำนักงานปฏิบัติการฝนหลวง ก้าวแรกที่เริ่มต้น (ฝล.)
Insignia of the "For-Lor-Office"

ปี ๒๕๑๘ รัฐบาลตระหนักว่าปฏิบัติการฝนหลวงทวีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ มีการทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาขอพระราชทานฝนหลวงเพิ่มมากขึ้นในแต่ละปี ดังนั้น เพื่อให้ปฏิบัติการฝนหลวงสามารถช่วยเหลือเกษตรกรได้กว้างขวางและเป็นผลดียิ่งขึ้น จึงมีการตราพระราชกฤษฎีกาตั้ง สำนักงานปฏิบัติการฝนหลวงขึ้น ในสำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เมื่อวันที่ ๒๑ กันยายน พ.ศ. ๒๕๑๘

ในเวลานั้น สำนักงานปฏิบัติการฝนหลวงมีภารกิจหลัก คือ ปฏิบัติการฝนหลวงเพื่อป้องกันและบรรเทาสภาวะแห้งแล้ง โดยการช่วยให้เกิดฝนตามธรรมชาติ เพื่อป้องกันและบรรเทาปัญหาขาดแคลนน้ำสำหรับการบริโภคอุปโภคและการเกษตร เพิ่มปริมาณน้ำให้แก่ต้นน้ำลำธาร หนองบึงธรรมชาติ อ่างและเขื่อนกักเก็บน้ำ เพื่อการผลิตกระแสไฟฟ้า การชลประทาน น้ำประปา อุตสาหกรรม และน้ำใต้ดิน รวมทั้งวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีฝนหลวง

สำนักงานปฏิบัติการฝนหลวง ช่วงเริ่มต้น มีหน่วยปฏิบัติการ ๒ หน่วย และไม่มีอาคารที่ทำการอาศัยเพียงห้องเล็กๆ ในกองเกษตรวิศวกรรม ๓ ห้อง เป็นที่ทำงาน ใช้เจ้าหน้าที่จากกองเกษตรวิศวกรรม สร้างและพัฒนาเครื่องมือต่างๆ ทั้งเครื่องอบเกลือ เครื่องเผาเกลือ เครื่องบดเกลือ ฯลฯ

ในปี ๒๕๒๐ สำนักปฏิบัติการฝนหลวง มีหน่วยปฏิบัติการ ๔ ทีม แต่ละทีมมีเครื่องบินเล็กๆ ๓-๔ ลำ มีนักบินและช่างเครื่อง ลำละ ๓ คน แต่มีนักวิทยาศาสตร์อยู่ ๖ คน ทุกครั้งที่ออกปฏิบัติการในทุกฝูงบิน จะมีนักวิทยาศาสตร์ไปด้วยหนึ่งคน

สำนักฝนหลวงและการบินเกษตร

จากการที่ปฏิบัติการทำฝนหลวง จำเป็นต้องใช้เครื่องบินในการปฏิบัติงานด้วย อีกทั้งภารกิจที่เพิ่มมากขึ้น จึงมีการรวมสองหน่วยงานที่มีความเกื้อกูลกันเป็นหน่วยงานเดียวกัน และยกฐานะเป็นสำนักฝนหลวงและการบินเกษตร สังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เมื่อวันที่ ๑๕ กันยายน พ.ศ. ๒๕๓๕ โดย “กองการบินเกษตร” ซึ่งรับผิดชอบด้านอากาศยาน เป็น “ส่วนการบิน” และ “สำนักงานปฏิบัติการฝนหลวง” ซึ่งรับผิดชอบด้านการปฏิบัติการฝนหลวง เป็น “ส่วนฝนหลวง”

ภารกิจของสำนักฝนหลวงและการบินเกษตร กว้างขวางขึ้น ครอบคลุมทั้งปฏิบัติการฝนหลวงให้แก่เกษตรกรและประชาชน เติมน้ำให้แหล่งกักเก็บน้ำต่างๆ วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการดัดแปรสภาพอากาศและสาขาที่เกี่ยวข้อง บินบริการสนับสนุนการปฏิบัติงานด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งบินสนับสนุนการปฏิบัติงานด้านการเกษตรและการปฏิบัติงานของส่วนราชการอื่น จึงมีการกำหนดพื้นที่รับผิดชอบเป็นลุ่มน้ำ และมีการจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงประจำลุ่มน้ำ ๘ ศูนย์ ครอบคลุมพื้นที่ทั้ง ๒๕ ลุ่มน้ำหลัก

วิวัฒนาการในลำดับต่อมา ในการทำงานของสำนักฝนหลวงและการบินเกษตร คือ การแบ่งโซนดูแลรับผิดชอบ แต่ยังต้องกลับส่วนกลางอยู่เมื่อหมดภารกิจ สำนักฝนหลวงและการบินเกษตร ในปี ๒๕๓๕ นอกจากจะมีนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่เข้ามาเสริม มีการทำงานที่เป็นระบบมากขึ้น และมีเทคโนโลยีที่ทันสมัยแล้ว อัตรากำลังข้าราชการและเจ้าหน้าที่ก็เพิ่มมากขึ้น จาก ๖๐ คน ในช่วงเริ่มต้นก่อตั้ง เป็นเกือบ ๕๐๐ คน

กรมฝนหลวงและการบินเกษตร

เวลาที่ล่วงเลยมาถึง ๒๐ ปี กับสภาวการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก ยิ่งความต้องการน้ำเพิ่มมากขึ้นเท่าไร ภาวะความแห้งแล้งและการขาดแคลนน้ำกลับยิ่งรุนแรงมากกว่า ปฏิบัติการฝนหลวงจึงต้องขยายขอบเขตภารกิจ บทบาท และมีส่วนร่วม ทั้งด้านการกำหนดนโยบาย ยุทธศาสตร์ และแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำแบบบูรณาการของประเทศ สำนักฝนหลวงและการบินเกษตร จึงได้ยกฐานะขึ้นเป็นกรม

“กรมฝนหลวงและการบินเกษตร” ได้รับการก่อตั้ง เมื่อวันที่ ๒๔ มกราคม ๒๕๕๖ ตามพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม (ฉบับที่ ๑๐) พ.ศ. ๒๕๕๖ โดยมีลำดับความเป็นมา ดังนี้ เมื่อวันที่ ๒๑ กันยายน ๒๕๑๘ มีพระราชกฤษฎีกาก่อตั้งสำนักงานปฏิบัติการฝนหลวง (Royal Rainmaking Research and Development Institute, RRRDI) เพื่อเป็นหน่วยงานรองรับโครงการพระราชดำริฝนหลวงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช โดยมี ม.ร.ว. เทพฤทธิ์ เทวกุล เป็นผู้รับสนองพระราชดำริ ในการคิดค้น ทดลอง กรรมวิธีการดัดแปรสภาพอากาศให้เกิดเป็นฝน ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๙๘ เป็นต้นมา

ในวันที่ ๑๕ กันยายน พ.ศ. ๒๕๓๕ ได้มีการรวมสำนักงานปฏิบัติการฝนหลวงและกองบินเกษตร เป็นหน่วยงานเดียวกันก่อตั้งเป็น “สำนักฝนหลวงและการบินเกษตร” (Bureau of the Royal Rainmaking and Agricultural Aviation, BRRAA) เพื่อปฏิบัติการฝนหลวงให้แก่เกษตรกรและประชาชน รวมทั้งเติมน้ำในแหล่ง เก็บกักน้ำต่างๆ วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการดัดแปรสภาพอากาศ และบินบริการสนับสนุนการปฏิบัติงานด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งบินสนับสนุนการปฏิบัติงานด้านการเกษตรของส่วนราชการอื่น

ปี ๒๕๕๔ มติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ ๓ พฤษภาคม ๒๕๕๔ เห็นชอบในหลักการให้จัดตั้ง กรมฝนหลวงและการบินเกษตร และให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เสนอเรื่องต่อคณะกรรมการพัฒนาโครงสร้างระบบราชการ

วันที่ ๒๔ มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๖ มีพระราชบัญญัติ ปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม (ฉบับที่ ๑๐) พ.ศ. ๒๕๕๖ (จัดตั้งกรมฝนหลวงและการบินเกษตร) ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ให้สำนักฝนหลวงและการบินเกษตร ได้รับการยกฐานะขึ้นเป็น “กรมฝนหลวงและการบินเกษตร” เพื่อให้การบริหารจัดการการปฏิบัติการฝนหลวง เป็นไปอย่างรวดเร็วมีประสิทธิภาพ และมีความคล่องตัวในการบูรณาการภารกิจร่วมกับส่วนราชการอื่น

โดยมีการแบ่งส่วนราชการ เป็นไปตามกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการกรมฝนหลวงและการบินเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พ.ศ. ๒๕๕๖ กฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการสำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๕๖ และ กฎกระทรวงว่าด้วยกลุ่มภารกิจ (ฉบับที่ ๘) พ.ศ. ๒๕๕๖ ได้ประกาศ ในราชกิจจานุเบกษา ฉบับกฤษฎีกา เล่ม ๑๓๐ ตอนที่ ๔๐ ก วันที่ ๙ พฤษภาคม ๒๕๕๖

ตราสัญลักษณ์ และความหมาย

๑. พระปรมาภิไธย “ภปร.” อยู่ภายใต้ พระมหาพิชัยมงกุฎ ครอบอยู่เหนือพญานาค หมายถึง พระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงทุ่มเทประดิษฐ์คิดค้นเทคโนโลยีฝนหลวงขึ้นมา เพื่อบำบัดทุกข์ บำรุงสุขให้แก่พสกนิกรของพระองค์ และหมายถึง ร่มพระบารมีที่แผ่ปกป้องคุ้มครองผู้ปฏิบัติงาน ในโครงการพระราชดำริฝนหลวง

๒. พญานาคพ่นน้ำ หมายถึง เทพเจ้าแห่งการให้น้ำและความอุดมสมบูรณ์แก่สรรพชีวิตทั้งปวง พญานาคมีปีกพ่นน้ำ เปรียบเสมือนเทพเจ้า ที่สามารถบินไปให้น้ำทางอากาศหรือพ่นน้ำจากฟ้าลงมาสู่ดิน

๓. เบื้องล่างมีอักษรว่า กรมฝนหลวงและการบินเกษตร