เปลี่ยนการแสดงผล
ฝนหลวง
ฝนหลวงต่างประเทศ
ฝนหลวงต่างประเทศ

Royal Rain in Foreign Countries

ความก้าวหน้าการดำเนินงานความร่วมมือกับต่างประเทศ ปัจจุบันกรมฝนหลวงและการบินเกษตร มีการร่วมมือกับประเทศต่างๆ 13 ประเทศ ได้แก่
ประเทศมาเลเซีย Malaysia

ปีพ.ศ. 2529 ผู้เชี่ยวชาญไทยได้เดินทางไปให้คำแนะนำและถ่ายทอดการทำฝนให้เจ้าหน้าที่กรมอุตุนิยมวิทยามาเลเซียและร่วมทดลองปฏิบัติการฝนหลวงเพื่อเพิ่มปริมาณน้ำเก็บกัก ให้เขื่อนปิดู เขื่อนมูดาและเขื่อนทีเม็งเกอร์ของมาเลเซีย รวมทั้งเขื่อนบางลางของประเทศไทย ต่อมากรมฝนหลวงฯ ได้ประสานเชิญประเทศมาเลเซีย เข้าร่วมการประชุม ASEAN Workshop on Weather Modification 2018 แต่ประเทศมาเลเซียไม่ได้ส่งผู้แทนเข้าร่วม

สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ Republic of the Philippines

ไทยเดินทางไปสาธิตการทำฝนในฟิลิปปินส์เมื่อปี 2526 และต่อมาสำนักการบริหารจัดการดินและน้ำ เสนอ Proposal ขอแลกเปลี่ยนการศึกษาดูงานด้านการทำฝนกับประเทศไทย ซึ่งกรมฝนหลวงฯ เสนอแก้ไข Proposal ให้ฝ่ายฟิลิปปินส์พิจารณา แต่ยังไม่ได้รับแจ้งผลการพิจารณา ทั้งนี้ ผู้แทนฟิลิปปินส์จำนวน 4 ราย เข้าร่วม ASEAN Workshop on Weather Modification 2018 และสนใจขอรับการถ่ายทอดเทคนิคการบินทำฝนของประเทศไทย

รัฐสุลต่านโอมาน Sultanate of Oman

รัฐบาลโอมานประสงค์ขอความช่วยเหลือการทำฝนเพื่อ การจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศ และกรมฝนหลวงฯ ได้ยกร่าง MOU ให้ฝ่ายโอมานพิจารณา ทั้งนี้ สถานทูตไทยประจำประเทศโอมาน แจ้งว่ากระทรวงเทศบาลส่วนภูมิภาคและทรัพยากรน้ำของโอมาน ขอระงับโครงการ เนื่องจากงบประมาณไม่เพียงพอต่อการดำเนินงาน

รัฐกาตาร์ State of Qatar

เดือน พ.ค. 2558 กระทรวงคมนาคมของรัฐกาตาร์ได้มาเยือนกรมฝนหลวงฯและเข้าฟังการบรรยายสรุปเกี่ยวกับเทคโนโลยีฝนหลวง พร้อมหารือแนวทางความร่วมมือด้านเทคโนโลยี ฝนหลวง โดยกรมฝนหลวงฯ ได้ติดตาม ความคืบหน้าจาก ผลการเดินทางไปเยือนกาตาร์อย่างเป็นทางการของ รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งการเดินทางถูกเลื่อนไปอย่างไม่มีกำหนด

สหสาธารณรัฐแทนซาเนีย United Republic of Tanzania

เดือน ก.ย. 2550 คณะผู้แทนไทย ได้เดินทางไปเยือนแทนซาเนียเพื่อหารือความเป็นไปได้ในการทำฝนบริเวณเขื่อน Mtera ที่ประสบภัยแล้งตามคำเชิญของรัฐบาลแทนซาเนียและได้ส่งร่าง MOU ให้รัฐบาลแทนซาเนียพิจารณา ทั้งนี้ ฝ่ายแทนซาเนียขอเลื่อนการดำเนินโครงการความร่วมมือฯ ออกไปอย่างไม่มีกำหนด

สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ United Arab Emirates

สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) มีความก้าวหน้าด้านงานวิจัย การทำฝนจากการให้ทุนวิจัยกับนานาชาติ และได้ขอแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านการดัดแปรสภาพอากาศกับไทย ขณะนี้อยู่ระหว่าง การเจรจากรอบความร่วมมือระหว่างกรมฝนหลวงและการบินเกษตร กับศูนย์อุตุนิยมและแผ่นดินไหว (National Center of Metrology and Seismology: NCMS) ของ UAE

เครือรัฐออสเตรเลีย Commonwealth of Australia

นาย Peter Beattie มุขมนตรีรัฐควีนส์แลนด์ เครือรัฐออสเตรเลีย ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาต ใช้สิทธิบัตรฝนหลวง เพื่อบรรเทาสภาวะแห้งแล้งในรัฐควีนส์แลนด์ ทั้งนี้ ได้มีการศึกษาวิจัยความเป็นไปได้ในการทำฝนในฤดูร้อนปี 2550-2551 พบว่าการทำฝนเทียมเป็นยุทธศาสตร์ที่ไม่สามารถบริหารต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพเพียงพอต่อการพัฒนาเพื่อนำมาใช้ในพื้นที่ดังกล่าว จึงยุติการศึกษาวิจัยและไม่ได้ดำเนินกิจกรรมใดๆ เพิ่มเติม

ประเทศนิวซีแลนด์ New Zealand

บริษัท Barr Bros Ltd. ประเทศนิวซีแลนด์ ขอพระราชทาน พระบรมราชานุญาตในการใช้สิทธิบัตรฝนหลวงเพื่อบรรเทาภัยแล้ง ทั้งนี้ สถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงเวลิงตัน ได้ติดตามความคืบหน้าจากบริษัทฯ โดยสอบถามบุคคลที่เคยทำงานบริษัท Barr Bros Ltd. ทราบว่าไม่น่าได้ดำเนินการใดๆ แล้ว

ราชอาณาจักรฮัชไมต์จอร์แดน Hashemite Kingdom of Jordan

ความร่วมมือเริ่มตั้งแต่ปี 2559 โดยกรมฯ อบรมให้จอร์แดน 3 ครั้ง สาธิตฝนหลวงในจอร์แดน และส่งผู้เชี่ยวชาญไปให้คำแนะนำในการปฏิบัติการทำฝน และ On the job training ในขณะที่จอร์แดนได้ทดลองปฏิบัติการทำฝน ปีที่ 2 จำนวน 12 ครั้ง (ระหว่าง ธ.ค. 2560 - ก.พ. 2561) และผู้บริหารระดับสูงได้เดินทางมาศึกษาดูงานการทำฝนหลวงในประเทศไทย ระหว่างวันที่ 10 - 12 ต.ค. 2561

สาธารณรัฐสังคมนิยมประชาธิปไตยศรีลังกา Democratic Socialist Republic of Sri Lanka

ศรีลังกาประสบภัยแล้งต่อเนื่องมาหลายปี และประสานขอเรียนรู้เรื่องฝนหลวงไปปรับใช้เติมน้ำเขื่อนเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า พร้อมทั้งส่งผู้บริหารฯ เดินทางมาดูงานที่ไทย และตกลงที่จะทดลองทำฝนในประเทศเดือนตุลาคม 2561 โดยขอให้ฝ่ายไทยสนับสนุนด้านวิชาการ ทั้งนี้ อยู่ระหว่างดำเนินการดัดแปลงเครื่องบินเพื่อใช้การปฏิบัติการทำฝน

สาธารณรัฐอินโดนีเซีย Republic of Indonesia

ไทยถ่ายทอดความรู้ด้านการปฏิบัติการทำฝนให้กับอินโดนีเซียตั้งแต่ปี 2519 จนกระทั่งมีการตั้งหน่วยงานทำฝน BPPT ขึ้นและแลกเปลี่ยนการศึกษาดูงานการทำฝนในปี 2561 โดยมีแผนร่วมมือแลกเปลี่ยนบุคลากรทำฝน และร่วมดำเนินงานวิจัยเทคนิคการดัดแปรสภาพอากาศ

ประเทศมองโกเลีย Mongolia

มองโกเลียกราบทูลสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรม ราชกุมารีเพื่อขอให้ประเทศไทยจัดอบรมการทำฝนหลวงให้กับเจ้าหน้าที่ของประเทศมองโกเลีย และมีการแลกเปลี่ยนการดูงานและศึกษาความเป็นไปได้ในการนำเทคโนโลยีฝนหลวงไปใช้ในมองโกเลียพร้อมทั้งพิจารณาทำข้อตกลง Joint Action Programme เพื่อร่วมมือด้านการทำฝนในปี 2561

สาธารณรัฐประชาชนจีน People's Republic of China

เจ้าหน้ากรมฝนหลวงฯ ได้เดินทางไปศึกษาดูงานการดัดแปรสภาพอากาศของสาธารณรัฐประชาชนจีน 2 ครั้ง เมื่อปี 2559 และ 2561 โดยจีนมีความก้าวหน้าการใช้จรวดทำฝน ทั้งนี้ กรมฝนหลวงฯ ได้ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตในการแลกเปลี่ยนและนำเทคโนโลยีจากต่างประเทศมาปรับใช้ในการปฏิบัติการฝนหลวง โดยสำนักราชเลขาธิการให้แต่งตั้งคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิฝนหลวง เพื่อพิจารณาแนวทางการดำเนินความร่วมมือ และนำความกราบบังคมทูลให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงทราบ