เปลี่ยนการแสดงผล
ฝนหลวง-มองโกเลีย ผนึกกำลังเสริมสร้างศักยภาพเพื่อต่อสู้ปัญหาภัยพิบัติทางธรรมชาติด้วยเทคโนโลยีการดัดแปรสภาพอากาศ
29 กันยายน 2564 368 ครั้ง

กรมฝนหลวงและการบินเกษตรและกรมอุตุนิยมวิทยาและติดตามสภาพแวดล้อมแห่งมองโกเลีย ลงนามแผนงานปฏิบัติการร่วมว่าด้วยความร่วมมือทางวิชาการด้านการดัดแปรสภาพอากาศ เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ด้านการดัดแปรสภาพอากาศ เสริมสร้างขีดความสามารถในการบรรเทาความแห้งแล้ง และลดความเสี่ยงต่อภัยธรรมชาติ เพื่อความอยู่ดีกินดีของประชาชนและการใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืนของทั้งสองประเทศ
วันที่ 27 กันยายน 2564 ดร. สุรสีห์ กิตติมณฑล อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร และนายเองค์ตุฟชิน เซฟจิด อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยาและติดตามสภาพแวดล้อมแห่งมองโกเลีย ร่วมลงนามแผนงานปฏิบัติการร่วมว่าด้วยความร่วมมือทางวิชาการด้านการดัดแปรสภาพอากาศ (Joint Action Programme for Technical Cooperation on Weather Modification: JAP) ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ โดยมี นายทูมูร์ อามาร์ซานา (H.E. Mr. Tumur Amarsanaa) เอกอัครราชทูตมองโกเลียประจำประเทศไทย นางอุรีรัชต์ เจริญโต อธิบดีกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ พันเอกหญิง รองศาสตราจารย์ ดร.นันทพร วีรวัฒน์ที่ปรึกษาโครงการส่วนพระองค์สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี และนางสาวปทุมวดี อิ่มทั่ว อัครราชทูตที่ปรึกษา (ฝ่ายเกษตร) สำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศ สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่ง ให้เกียรติร่วมเป็นสักขีพยาน
ดร. สุรสีห์ กิตติมณฑล อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร เปิดเผยว่า การลงนามความร่วมมือแผนงานปฏิบัติการร่วมฯ ในครั้งนี้ มีกรอบระยะเวลาความร่วมมือ 3 ปี ประกอบด้วยกิจกรรมการแลกเปลี่ยนความรู้และความเชี่ยวชาญด้านการดัดแปรสภาพอากาศ เพื่อเพิ่มพูนความรู้และความชำนาญของบุคลากร โดยการศึกษาดูงาน ฝึกอบรม และวิจัยร่วม เพื่อลดผลกระทบจากความรุนแรงของภัยพิบัติและลดปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน ภายใต้บันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งมองโกเลีย ว่าด้วยการจัดตั้งกลไกการหารือว่าด้วยความร่วมมือทวิภาคี ซึ่งลงนามเมื่อวันที่ 28 เมษายน 2556 ความร่วมมือด้านการดัดแปรสภาพอากาศระหว่างไทยกับมองโกเลีย เริ่มต้นขึ้นในปี พ.ศ. 2557 เมื่อมองโกเลียมีความสนใจเทคโนโลยีฝนหลวงของไทยที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงคิดค้นขึ้นเพื่อทำฝนช่วยเหลือพื้นที่ประสบปัญหาภัยแล้งและภัยพิบัติ ผู้แทนมองโกเลียจึงขอความอนุเคราะห์สำนักราชเลขาธิการนำความกราบทูลสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เพื่อขอรับการสนับสนุนจากประเทศไทยในการจัดอบรมการทำฝนให้กับเจ้าหน้าที่ของประเทศมองโกเลีย ผู้บริหารและผู้เชี่ยวชาญของทั้งสองฝ่ายจึงได้มีการแลกเปลี่ยนการศึกษา ดูงานมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2557 – 2561 นอกจากนั้น กรมฝนหลวงและการบินเกษตรยังได้จัดฝึกอบรมด้านเทคโนโลยีฝนหลวงให้กับผู้แทนมองโกเลียในปี พ.ศ. 2562 อีกด้วย ต่อมาทั้งสองฝ่ายเล็งเห็นความสำคัญในการเพิ่มประสิทธิภาพการดัดแปรสภาพอากาศ เพื่อแก้ไขความผันแปรของสภาพภูมิอากาศที่เป็นปัญหาความท้าทายและทวีความรุนแรงมากขึ้นในปัจจุบัน จึงตกลงที่จะดำเนินโครงการความร่วมมือภายใต้แผนงานปฏิบัติการร่วมว่าด้วยความร่วมมือทางวิชาการด้านการดัดแปรสภาพอากาศ โดยได้รับการสนับสนุนจากโครงการส่วนพระองค์สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี และกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ
ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล กล่าวทิ้งท้ายว่า การดำเนินความร่วมมือดังกล่าวเป็นไปตามแผนการเพิ่มประสิทธิภาพการดัดแปรสภาพอากาศของกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ด้วยการบูรณาการและสร้างเครือข่ายกับหน่วยงานทั้งในและต่างประเทศ อีกทั้งความร่วมมือของประเทศไทยและประเทศมองโกเลียในครั้งนี้ ยังมีจุดมุ่งหมายเดียวกัน คือ การแลกเปลี่ยนเทคโนโลยีการดัดแปรสภาพอากาศ เพื่อปรับใช้ในการแก้ไขปัญหาภัยแล้งและภัยพิบัติให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชนของทั้ง 2 ประเทศ อันเป็นการได้ร่วมกันสืบสาน รักษา และต่อยอด โครงการพระราชดำริฝนหลวง และเผยแพร่ศาสตร์ฝนหลวงพระราชทานขององค์พระบิดาแห่งฝนหลวงไปสู่นานาประเทศระดับสากลอีกด้วย


ภาพและวีดีโอ