เปลี่ยนการแสดงผล
ถึงเวลาต้องลาจาก
30 กันยายน 2564 512 ครั้ง

ระยะนี้ได้เปิดดูข้อมูลข่าวสารจากทางออนไลน์ ในแวดวงราชการที่พูดถึงกันมากนอกจากเรื่องแต่งตั้งโยกย้ายแล้วก็มีเรื่องของการเกษียณอายุราชการ การจัดงานเพื่อแสดงมุทิตาจิตให้กับพี่ๆ ซึ่งมีอายุครบเกณฑ์จะต้องออกไปพักผ่อนอยู่บ้านตามวาระของตน ซึ่งในช่วงสถานการณ์แบบนี้ หน่วยงานหลายที่หลายแห่งก็มักจะมีรูปแบบการจัดงานคล้ายๆ กัน โดยจะจัดงานแบบ New Normal ให้ทันยุคสมัย Online กันแบบไร้ขีดจำกัด จะใช้เทคโนโลยีแบบไหนขึ้นอยู่กับความถนัดของคนในแต่ละองค์กร สำหรับกรมฝนหลวงและการบินเกษตรเอง ปีนี้มีพี่ๆ ที่ครบวาระเกษียณอยู่จำนวน 16 ท่าน จากกองปฏิบัติการฝนหลวง จำนวน 7 ท่าน ประกอบด้วย นายวราวุธ นินวิบูลย์ นายกมล ศิริบูรณะภานนท์ นายวีระยุทธ ภูขาว นายเจตน์ บัวผัน นายโสภา โตสม นายจิรวัฒน์ ฤกษ์อินทรีย์ และนายทวีมนต์ บุญยรัตพันธุ์ ซึ่งส่วนใหญ่ในกองนี้จะมีตำแหน่งเป็นนายช่างไฟฟ้า นายช่างเครื่องกล ส่วนกองบริหารการบินเกษตร มีผู้เกษียณอายุราชการอีก 8 ท่าน ประกอบด้วย พันจ่าอากาศเอก สมเกียรติ โชคสถาพร นายวันชัย เชื้อมาก จ่าสิบเอก ไพฑูรย์ กลิ่นกลาง พันจ่าอากาศเอก เสริม อ่อนน่วม นางปิยพัทธ์ พูลเกิด นายจำลอง เอี่ยมสะอาด นายสมชัย รวมพวกและพันจ่าอากาศเอก อนันต์ เจนพนัส จะสังเกตได้ว่ากองนี้จะมีพี่ๆ ที่หลากหลายทั้งทหาร ทั้งพลเรือนชายและหญิง เนื่องจากกองบริหารการบินเกษตรมีอุปกรณ์เครื่องมือที่ต้องบำรุงรักษาสำคัญ นั่นคือ เครื่องบิน ดังนั้นสาขาอาชีพจึงเกี่ยวพันกับเครื่องบิน เช่น ช่างเครื่องบิน ช่างอิเล็กทรอนิกส์การบิน พนักงานวิทยุและช่างไฟฟ้า เป็นต้น ซึ่งพี่ๆ จากทั้ง 2 หน่วยงานถือได้ว่าเป็นหน่วยงานหลักในการปฏิบัติการฝนหลวงเพื่อช่วยเหลือพี่น้องประชาชน และที่สำคัญจะไม่พูดถึงพี่อีกท่านนึงที่จะเกษียณอายุราชการเหมือนกันไม่ได้เลยเพราะเป็นคนที่บังคับบัญชาบริหารสั่งการให้พี่ๆ ในสายปฏิบัติการฝนหลวง บินไปปฏิบัติภารกิจในพื้นที่เป้าหมายต่างๆ ทั่วประเทศไทย รองอธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ด้านปฏิบัติการ พี่คนที่ 16 ที่ครบวาระของการรับใช้ชาติของกรมฝนหลวงและการบินเกษตร นายปนิธิ เสมอวงษ์
หากนับย้อนเวลากลับไปเมื่อปีพุทธศักราช 2542 ปีที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้พระราชทานแผ่นภาพอินโฟกราฟฟิก ที่พระองค์ประดิษฐ์ด้วยคอมพิวเตอร์  แสดงขั้นตอนและกรรมวิธีการดัดแปรสภาพอากาศให้เกิดฝนจากเมฆอุ่นและเมฆเย็น ในขณะนั้น นายปนิธิ เสมอวงษ์ เป็นนักวิทยาศาสตร์หนึ่งในทีมฝนหลวงพิเศษ ที่ได้สนองงานใต้เบื้องพระยุคลบาท โดยตั้งหน่วยปฏิบัติการในจังหวัดนครสวรรค์ ตั้งแต่ปลายเดือน มกราคม 2542 เพื่อปฏิบัติการฝนหลวงแก้ไขภัยแล้งในพื้นที่ลุ่มแม่น้ำภาคกลางตอนบน ลุ่มน้ำเจ้าพระยาและลุ่มน้ำภาคเหนือตอนล่าง โดยปีนั้นเกิดภาวะขาดแคลนน้ำอย่างกว้างขวางและรุนแรง ปริมาณน้ำเก็บกักในเขื่อนสำคัญๆ ต่ำกว่าเกณฑ์ปกติถึงขั้นวิกฤติ พืชผลด้านการเกษตรได้รับความเสียหาย ไฟป่าเกิดขึ้นกว้างขวางทั่วไป ประชาชนได้รับความเดือดร้อนเนื่องจากการขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค  จากผลความสำเร็จในการปฏิบัติการฝนหลวงแก้ไขภัยแล้งในช่วงฤดูแล้งของปี พ.ศ. 2542 ของคณะปฏิบัติการฝนหลวงพิเศษ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระองค์จึงได้พระราชทานแผ่นผ้ารูปพระมหาชนกให้กับนักบินและได้พระราชทานเหรียญพระมหาชนกให้กับนักวิทยาศาสตร์ ซึ่งเป็นขวัญกำลังใจให้เจ้าหน้าที่ในการปฏิบัติการฝนหลวงอย่างเต็มกำลังถือเป็นความภาคภูมิใจอย่างยิ่ง 
ถึงวันนี้...วันสิ้นสุดของการทำงานในระบบราชการของพี่ๆ ทั้ง 16 ท่าน ถึงวาระที่ต้องจากกัน  แม้ตัว  จะห่าง แต่ใจเรายังถึงกัน คนที่ยังอยู่ก็ต้องสานต่องานกันไป ความรัก ความคิดถึง ความผูกพัน ความอบอุ่น ที่มีให้แก่กันอาจมีทั้งทุกข์ ทั้งสุข ทั้งปัญหา ทั้งรอยยิ้ม ทั้งน้ำตา ความดีที่พี่ๆ สร้างไว้จะไม่มีวันลืมเลือน พี่ได้ปฏิบัติภารกิจตามตำแหน่งหน้าที่อันเป็นกำลังสำคัญของกรมฝนหลวงและการบินเกษตรด้วยดีตลอดมาจนครบเกษียณอายุราชการในปีนี้ คุณประโยชน์ต่างๆ ที่พี่ได้มอบไว้แก่กรมจะอยู่ในความทรงจำของพวกเราตลอดไป  เราเชื่อว่าการที่ได้รับราชการในกรม ฝนหลวงและการบินเกษตร ถือเป็นเกียรติยศอันสูงสุดในชีวิตราชการ....รักพี่ทุกคน เพราะเราคือครอบครัวเดียวกัน...ครอบครัวฝนหลวง 

เขียนโดย ชายธง

ภาพและวีดีโอ