เปลี่ยนการแสดงผล
องคมนตรี เป็นประธานในพิธีวางพานพุ่มดอกไม้สดถวายราชสักการะ น้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เนื่องในวันพระบิดาแห่งฝนหลวง ประจำปี 2564
14 พฤศจิกายน 2564 809 ครั้ง

วันที่ 14 พฤศจิกายน 2564 เวลา 09.00 น. พลอากาศเอก ชลิต พุกผาสุข องคมนตรี ประธานกรรมการที่ปรึกษาผู้ทรงคุณวุฒิฝนหลวง นายจรัลธาดา กรรณสูต องคมนตรี รองประธาน ฯ เป็นประธานในพิธีวางพานพุ่มดอกไม้สดถวายราชสักการะ พร้อมด้วยนายสำเริง แสงภู่วงค์ อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร คณะกรรมการที่ปรึกษาผู้ทรงคุณวุฒิฝนหลวง และผู้บริหารของกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ร่วมน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เนื่องในวันพระบิดาแห่งฝนหลวง ประจำปี 2564 ณ ห้องประชุมเทวกุล กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ซึ่งจัดขึ้นเพื่อน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณในฐานะทรงเป็นพระบิดาแห่งฝนหลวง โดยในปีนี้ครบรอบปีที่ 66 แห่งการก่อกำเนิดโครงการพระราชดำริฝนหลวง

ภายในงานมีการจัดนิทรรศการ “ทศกรณีย์นวกษัตริย์” เพื่อเล่าเรื่องราวพระราชกรณียกิจ และเรื่องราวของพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งมีความเชื่อมโยงกับเรื่องราวของฝนหลวง และยังมีการเปิดให้ภาครัฐ เอกชน ประชาชน นักเรียน นักศึกษา ร่วมลงนามน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณผ่านเว็บไซต์กรมฝนหลวงและการบินเกษตร นอกจากนี้ ประธานในพิธีได้มีการมอบรางวัลแก่อาสาสมัครฝนหลวงดีเด่นระดับภูมิภาคและระดับประเทศ ประจำปี 2564 ผ่านระบบออนไลน์อีกด้วย

สำหรับความเป็นมาของวันพระบิดาแห่งฝนหลวง มีที่มาจากนับตั้งแต่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จพระราชดำเนินทรงเยี่ยมเยีอนราษฎรในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ.2498 ทรงพบว่าราษฎรเดือดร้อน พืชผลเสียหายจากทั้งฝนแล้งและน้ำท่วม จึงทรงเกิดแนวคิดในการแก้ปัญหาทุกข์ร้อนของราษฎรในขณะนั้นว่า “สมควรที่จะสร้างฝายหรือเขื่อนขนาดเล็ก (Check dams) และอ่างเก็บน้ำจำนวนมากขวางทางน้ำ เพื่อป้องกันหรือลดความรุนแรงการไหลบ่า และเก็บกักน้ำไว้ในฤดูแล้งซึ่งเป็นการบรรเทาสภาวะแห้งแล้งได้ทางหนึ่ง” ที่สำคัญทรงเกิดประกายความคิดด้วยความมั่นพระทัยว่า น่าจะนำกระบวนการทางวิทยาศาสตร์มาช่วยให้เกิดฝนได้ และน่าจะมีวิธีการที่จะรวมเมฆที่กระจายอยู่ในท้องฟ้าแต่ลอยผ่านพื้นที่แห้งแล้งไปหมด ดังที่ทรงสังเกตเห็นในขณะนั้น เพื่อให้เมฆเหล่านั้นรวมตัวกันเกิดเป็นฝนตกลงสู่พื้นที่แห้งแล้งดังกล่าวได้ อันเป็นต้นกำเนิดของแนวพระราชดำริที่ได้มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องมาจนเป็น “โครงการพระราชดำริฝนหลวง” ในปัจจุบัน

ด้วยพระปรีชาสามารถและพระอัจฉริยภาพของพระองค์ท่าน คณะรัฐมนตรีจึงมีมติเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม พ.ศ.2545 ให้เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในฐานะทรงเป็น พระบิดาแห่งฝนหลวง และกำหนดให้ทุกวันที่ 14 พฤศจิกายนของทุกปี เป็น "วันพระบิดาแห่งฝนหลวง" เพื่อจารึกไว้เป็นวันสำคัญในประวัติศาสตร์ชาติไทย และเป็นวันสำคัญของปวงชนชาวไทย จะได้ร่วมกันแสดงความจงรักภักดีและน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณพระบิดาแห่งฝนหลวง ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ในฐานะเป็นหน่วยงานที่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณให้ดำเนินงานโครงการพระราชดำริฝนหลวง จึงได้จัดพิธีน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณพระบิดาแห่งฝนหลวงมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ การดำเนินงานในส่วนภูมิภาคได้มีการจัดพิธีวางพานพุ่มดอกไม้สดถวายราชสักการะ โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธานในพิธี และร่วมลงนามน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณผ่านระบบออนไลน์ด้วยเช่นกัน

#ข่าวฝนหลวง

ภาพและวีดีโอ